ผ่านมาแล้ว 1 ตอน สำหรับ สกู๊ปซีรีส์เรื่อง "มหากาพย์โกงพันล้าน สจล." ที่ทาง "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ได้ไล่เรียงให้ผู้อ่านทำความเข้าใจกันมาตั้งแต่ต้น สำหรับตอนที่ 2 นี้ ทีมข่าวได้มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์ 2 บุคคลสำคัญที่เป็น "หัวหอก" ในการทำคดี ได้แก่ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รอง ผบก.ป.

ตามเส้นทางเงิน อายัดทรัพย์แล้วกว่า 100 ล้าน

พ.ต.อ.สีหนาท เลขาธิการ ปปง. เผยความคืบหน้าการอายัดทรัพย์กลุ่มผู้ต้องหาว่า ตอนนี้อายัดทรัพย์ได้ทั้งหมด 178 รายการ รวมทรัพย์สินกว่า 100 ล้าน ประกอบด้วย เงินฝากธนาคาร 130 รายการ สลากออมสิน 7 รายการ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 30 รายการ ห้องชุด จำนวน 2 ราย การ รถยนต์ 6 รายการ เช่น ยี่ห้อเมอร์เซเดส เบนซ์ บีเอ็มดับบลิว ลัมโบร์กินี เป็นต้น และรถจักรยานยนต์ 3 รายการ ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ของเรา พยายามติดตามทรัพย์ เจอที่ไหน พบว่าชัดเจน เราก็ดำเนินการอายัด ซึ่งที่ผ่านมาเราดำเนินการอายัดเกือบทุกวัน

มั่นใจหลักฐานบ่งชี้ชัด

เลขาฯ ปปง. เผยต่อว่า หลักฐานเรามีชัดเจนอยู่แล้ว โดยเราได้มาจากฝ่ายตำรวจ เราก็ได้มีการประสานงานกันทุกวัน โดยทางตำรวจจะมีบันทึกผู้เกี่ยวข้องว่ามีใครบ้าง ความสัมพันธ์เป็นอย่างไร เมื่อมีหลักฐานชัดเจน ปปง. ค่อยเข้าไปยึดหรืออายัดทรัพย์สิน

...

เปิดวิธีติดตามเงิน บอย ปกรณ์ ส่อโดนยึดรถ!?

เลขาธิการ ปปง.​ ได้ให้ความรู้เรื่องการฟอกเงินว่า "กฎหมายฟอกเงิน เราใช้หลักผู้ที่ครอบครองทรัพย์ และทรัพย์นั้นเกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิด ยกตัวอย่างเช่น กรณี "บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์" พระเอกชื่อดัง คุณบอย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทุจริต สจล. แต่บอย ไปซื้อรถต่อจาก นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหาคดี สจล. ซึ่งรถคันดังกล่าว นายกิตติศักดิ์ ได้มาจากการทุจริต สจล. มันก็ชัดเจน เราจึงอายัดรถของบอย ส่วนบอยจะโดนข้อหารับซื้อของโจรหรือไม่ขึ้นอยู่กับตำรวจ หน้าที่ ปปง. จะไม่ได้ดูเรื่องคดีอาญา เราทำหน้าที่เพียงว่า การได้ทรัพย์มาสุจริต เสียค่าตอบแทน ถ้าสุจริต เสียค่าตอบแทน เราก็คืนทรัพย์ไป ถ้าทุจริต เราก็ต้องยึดไว้

ขณะที่ พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รอง ผบก.ป. กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กรณีพระเอกชื่อดังว่า การจะดำเนินคดีรับซื้อของโจรหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่เจตนา หากพิสูจน์กันแล้วว่าไม่ได้มีเจตนาก็ไม่ถูกดำเนินคดี ส่วนจะโดนยึดรถหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับทาง ปปง. แต่หาก ปปง.ตรวจสอบส่งเรื่องให้ศาลตัดสินว่ายึดรถ คุณบอย สามารถไปฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายกับ นายกิตติศักดิ์ ผู้ขายรถได้

เมื่อรู้สึกตัวก็สายเสียแล้ว...!!

เลขาฯ ปปง. กล่าวถึงอุปสรรคการทำงาน ว่า ทรัพย์สินต่างๆ ที่คิดว่ามาจาก สจล. มันกระจายออกไปเยอะแล้ว เราเข้ามาหลังเกิดเหตุกว่า 2 ปี จากนั้นก็กลายเป็นข่าว ข้อมูลต่างๆ มันก็หลุดออกไปค่อนข้างเยอะ กว่าเรื่องจะมาถึงเรา ก็ทำให้เราเก็บทรัพย์ได้ไม่มาก อายัดได้ร้อยล้าน แต่เงินที่หายกว่า 1.4 พันล้าน

"เราเชื่อทรัพย์สินที่เราอายัดไว้ ศาลจะสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินเกือบทั้งหมด เว้นบางรายการ หากเขาพิสูจน์ได้จริง ก็ต้องคืนเขาไป ส่วนตัวไม่รู้สึกวิตกกังวล เพราะกฎหมายการฟอกเงินใช้กันทั่วโลก หากแม้ว่าทรัพย์จะเปลี่ยนสภาพ หรือเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองกี่ต่อก็ตาม ก็ถือว่าเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เราก็สามารถยึดอายัดได้ทั้งหมด"

สแกนเส้นทางเงิน หาจอมบงการ

พ.ต.อ.สีหนาท เล่าให้ทีมข่าวฟังว่า ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ เส้นทางเงินย้อนกลับเข้าคนใน สจล. หรือไม่ เพราะการทำงานของเรา ตรวจสอบแบบไม่ได้พุ่งเป้าว่า คนๆ นี้คือใคร แต่ตรวจเส้นทางการเงินว่าไปทางไหน ไม่ได้ตั้งธงไว้ก่อนว่าจะตรวจใคร ส่วนคนใน สจล. เกี่ยวข้องหรือไม่นั้น เรื่องนี้แน่นอน เพราะ มี นางอำพร น้อยสัมฤทธิ์ อดีต ผอ.คลัง เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนจะมีใครหลังจากนี้หรือไม่ นั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่แน่ ๆ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้เห็นคงทำไม่ได้

...

ขณะที่ พ.ต.อ.ณษ ยอมรับว่า ได้มีการขอความร่วมมือกับทางธนาคารในการตรวจสอบทรัพย์สินของอดีต อธิการบดี สจล. ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการขอ หากมีการตรวจสอบแล้ว สามารถชี้แจงที่มาทรัพย์สินได้ ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าชี้แจงไม่ได้ ก็เรียบร้อย

หลักฐานเด็ด มัดขบวนการฉ้อฉล

รอง ผบก.ป. เผยว่า ขบวนการนี้มีการเตรียมการเป็นอย่างดี นายกิตติศักดิ์ มีความเฉลียวฉลาด ตรงที่ว่าไม่เอาเงินเข้าบัญชีตัวเองเลย โดยจะให้เงินผ่านไปที่ญาติคนอื่น สุดท้ายจะค่อยเข้ามาที่กิตติศักดิ์ อย่างไรก็ดี เรามีหลักฐานค่อนข้างมาก ทั้งเส้นทางการเงิน รวมถึงหลักฐานที่เป็นวิธีการนำเงินออกมาจาก สจล. ที่สำคัญเรามีไม้เด็ดที่จะจัดการขบวนการนี้ทั้งแก๊งแล้ว แม้กลุ่มผู้ต้องหา จะมีคำแก้ตัวต่าง ๆ นา ๆ ก็ตาม 

"คนกลุ่มนี้ใช้ความสนิทสนมส่วนตัว โดยเราพบว่า นายกิตติศักดิ์ เป็นเพื่อนชายคนสนิท นายทรงกลด ศรีประสงค์ ผจก.แบงก์ ซึ่งนายทรงกลดเองมีความสนิทสนมกับ อดีต ผอ.คลัง ของ สจล. โดยรู้จักกันมาเป็นสิบปี นอกจากนี้ นายกิตติศักดิ์ ยังเป็นเพื่อนชายคนสนิทของนายภาดา ส่วนนายพูลศักดิ์ บุญสวัสดิ์ หนึ่งในผู้ต้องหา ก็เป็นเพื่อนชายคนสนิทกับนายทรงกลด โดยคนทั้งหมดอาจจะสมรู้กันและทำตามนายกิตติศักดิ์ เพราะเห็นว่าได้ประโยชน์

...

อธิบายที่มาเงินไม่ได้ หรือไม่ชัดเจน ก็ยึดหมด!

ด้าน เลขาฯ ปปง.​กล่าวว่า หลักฐานของเราคือ เส้นทางการเงิน ส่วนขั้นตอน เราจะแจ้งคำสั่งไปยังผู้ครองทรัพย์มาชี้แจงภายใน 30 วัน หากไม่มาชี้แจง ก็ถือว่าเขาไม่ติดใจที่จะโต้แย้ง แต่ถ้าหากมีการชี้แจง มีหลักฐานฟังได้ ก็จะยกเลิกคำสั่งยึดอายัด หากฟังไม่ได้ เราก็จะส่งเรื่องให้อัยการยื่นต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งยึดทรัพย์เป็นของแผ่นดิน

"ที่บอกว่าไม่สามารถอธิบายได้ หรือ อธิบายได้ไม่ชัดเจน ยกตัวอย่างง่ายๆ อยู่ดีๆ มีเงินเข้าบัญชี 20 ล้าน ถ้าไม่ใช่เงินเรา ตอบได้หรือไม่ มันเป็นเรื่องที่ตอบยากมาก ส่วนที่อ้างว่ามาจากการพนัน เป็นเรื่องฟังไม่ขึ้น แม้จะสามารถแจกแจงได้ กฎหมายก็ไม่รับฟัง เพราะเราไม่ได้ยอมรับการพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แม้ในต่างประเทศจะอ้างได้ แต่ก็ต้องเอาบัญชี รายงานธุรกรรมมาให้ดู เพราะธุรกิจการพนันในต่างประเทศ เขาต้องรายงานธุรกิจทางการเงินให้ ปปง. อยู่แล้ว หากจะอ้างว่าได้จากการพนันในต่างประเทศ เราก็สามารถขอเอกสารได้ ไปเล่นที่ไหนก็ขอให้ออกหนังสือมาชี้แจง แต่อาจจะรับฟังไม่ทั้งหมด"

...

พ.ต.อ.สีหนาท บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ต่อว่า ก่อนอื่นเราต้องดูเส้นทางทรัพย์สินก่อน ว่ามีไปต่างประเทศหรือไม่ แต่เท่าที่ตรวจสอบยังไม่พบว่ามีการถ่ายโอนไปยังต่างประเทศ ส่วนใหญ่ที่พบก็คือตัวเงินที่ใช้จ่ายในการท่องเที่ยว เช่น ส่งลูกไปเรียน

รับจ้างเปิดบัญชี = ฟอกเงิน

เลขาธิการ ปปง.​ อธิบายเพิ่มเติมเรื่องการฟอกเงินว่า เงินได้มาจากกระทำความผิด โอนแปรสภาพ ปกปิด ปิดบัง อำพราง ทรัพย์ เราเรียกว่าการ "ฟอกเงิน" ส่วนกลุ่มคนที่รับจ้างเปิดบัญชีนั้น ที่ผ่านมา เราดำเนินคดีในข้อหาฟอกเงิน ปีที่แล้วมีหมายจับกุมกว่า 200 หมาย และดำเนินการจับกุมไปแล้วกว่า 60 ราย หน้าที่ของเรา คือ พยายามกำกับดูแลโดยการกำชับไปยังธนาคารให้ตรวจสอบลูกค้าไม่ให้รับจ้างเปิดบัญชี พร้อมกับตรวจเข้มกับสถาบันการเงินด้วยการติดตามตัวบุคคลที่มีหมายจับ ประสานงานกับตำรวจท้องที่ อย่างไรก็ดี ใครที่รับจ้างเปิดบัญชีในคดี สจล. นี้ เราจะดำเนินการเอาผิดทั้งหมด ส่วนจะอายัดทรัพย์หรือยึดทรัพย์หรือไม่ ก็คงต้องมีการตรวจสอบ ว่ามีเงินผ่านบัญชีมากน้อยแค่ไหน แล้วเงินไปที่ใด

โอกาสยึดทรัพย์บุคคลในขบวนการทั้งหมด

พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นไปได้อยู่แล้ว แต่จะเหลือให้ยึดมากน้อยแค่ไหน ส่วนตัวคาดหวังว่าน่าจะอายัดได้อีก แต่ไม่ทราบว่าเหลือมากน้อยแค่ไหน เพราะเราต้องขอข้อมูลจากสถาบันการเงินด้วย ส่วนคนในขบวนการนี้ เท่าที่ตรวจสอบเยอะมาก แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่าเท่าใด เพราะเรายังตรวจสอบไม่เสร็จ เนื่องจากต้องตรวจสอบเยอะมากว่าเงินที่โอนมา ใช่ หรือไม่ใช่ เงิน สจล. บางทีอาจจะเป็นการธุรกรรมทางการเงินปกติ เช่น ซื้อโทรศัพท์มือถือ เราจะไปยึดบ้านเขา มันไม่ได้ เราต้องเจอการเชื่อมโยงก่อน ซึ่งตอนนี้ยังตอบไม่ได้ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด รวบรวมพยานหลักฐานต้องใช้เวลา ส่วนจะมากน้อยขนาดไหน ไม่สามารถประเมินได้ เพราะบางทีเราเรียกเขามาสอบ เขาไม่มา โดยมีเหตุผลเราก็ต้องมาพิจารณาเป็นเคสๆ ไป แต่จะมาตัดสินว่าเขาปฏิเสธเรา แล้วให้เขาผิด อันนี้ไม่ใช่

การลักทรัพย์ลักษณะนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก!

"เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแรก เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง สิบกว่าปีก่อน ก็เคยเกิดแล้ว แต่ครั้งนั้นตัวเลขไม่ได้มากเท่านี้ ที่สำคัญ ปปง. ในสมัยก่อนยังไม่ดัง พอมีเรื่องเขาก็มาประสานงานเงียบๆ ซึ่งสิบกว่าปีก่อนมีหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งโดน 80 ล้านบาท เราตามให้เขาแบบเงียบๆ ได้เงินคืนกว่า 60 ล้านบาท" เลขาฯ​ ปปง.​กล่าว

ความหวังได้เงินพันล้านคืน สจล.!!?

"ผมไม่สิ้นหวัง แต่ไม่คิดว่าจะได้เงินพันกว่าล้านครบ เพราะเงินส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้ให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมากแล้ว เช่น นั่ง ฮ. รอบเกาะฮ่องกง ถ้าไปเที่ยวกันปกติเราคงไม่ทำกันอยู่แล้ว ส่วนสินค้าแบรนด์เนม ถ้าพบเห็นว่าใช่ เราก็ยึด แต่มูลค่าเป็นแสน อาจจะขายได้ไม่เท่าไหร่ โดยทรัพย์สินทั้งหมดจะขายทอดตลาด แล้วนำเงินคืนให้ สจล." พ.ต.อ.สีหนาท กล่าว

"วิธีในการกระทำผิดครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นความหละหลวมของผู้ถือเงินในการตรวจสอบ เนื่องจากเป็นเงินจำนวนมาก ควรจะมีการกลั่นกรองหลายๆ ชั้น และมีการตรวจสอบทุกระยะ คนดูแลเงินเสนออะไรมาก็เซ็น นี่คือเรื่องผิดปกติ" พ.ต.อ.ณษ กล่าว ทิ้งท้าย

อ่านเพิ่ม