รองผู้ว่าฯนครราชสีมา เป็นประธานประชุมรับฟังความคิดเห็นรถไฟทางคู่ครั้งที่ 1 รอง ผอ.สนข. ระบุการดำเนินการช่วงที่ง่ายที่สุดเร็วที่สุด คือ จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และต่อเนื่องเส้นไปหนองคาย โดยคาดว่าการศึกษาเสร็จสิ้นปี 2558...
เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2558 ที่ห้องสีมาธานี 1 โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายบุญยืน คำหงส์ รอง ผวจ.นครราชสีมา ตัวแทนนายธงชัย ลืออดุลย์ ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (StandardGauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต (ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย) ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยมีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นำเสนอรายละเอียดของโครงการ การกำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการและกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมกับการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและตอบข้อซักถาม โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องผู้บริหารสถาบันศึกษา ผู้นำ/ประธานชุมชน ผู้นำหมู่บ้าน ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ พ่อค้านักธุรกิจ ประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม ผู้บริหารโรงงานอุตสาหกรรม ผู้นำ อปท.และพี่น้องประชาชนทั่วไปรวมกว่า 500 คน เข้ารับฟังด้วยความสนใจ
โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคตช่วง นครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย มีระยะทางรวม 355 กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางมาบตาพุด-นครราชสีมา-หนองคาย แนวเส้นทางรถไฟวิ่งผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคายจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมา และสิ้นสุดโครงการที่บริเวณสถานีรถไฟหนองคาย โดยกำหนดเกณฑ์ออกแบบเบื้องต้นให้เป็นแนวเสนทาง ขนานไปกับเส้นทางรถไฟในปัจจุบันก่อสร้างเป็นอิสระอยู่ภายในเขตทางรถไฟเดิม เพื่อลดผลกระทบด้านการเวนคืนที่ดิน และสามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงต่อไปในอนาคต โดยในอนาคตเส้นทางรถไฟสายนี้จะเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงสายคุนหมิง-ลาว ที่เมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เชื่อมต่อไปยังเมืองคุนหมิงสาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วยพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าและการเดินทางของพี่น้องประชาชนทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคอาเซียนได้เป็นอย่างดี
...
รอง ผอ.สนข.กล่าวว่า โครงการนี้ต่อเนื่องโดยปีที่แล้ว สนข.ศึกษาจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ทำเสร็จแล้ว และตอนนี้กำลังเตรียมส่งเรื่องให้กับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เนื่องจากกฎหมายบังคับว่า โครงการขนส่งขนาดใหญ่จะต้องผ่านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อให้เขาเห็นว่า เราจะทำโครงการนี้มีการป้องกันในเรื่องของผลกระทบต่อประชาชน ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการก่อสร้างมากน้อยเพียงใด และจนมาต่อเนื่องที่ศึกษาจาก นครราชสีมา-หนองคาย โดยผ่าน จ.ขอนแก่น-อุดรธานี การศึกษาโครงการนี้เพิ่งเริ่มต้น ซึ่งวันนี้เรามานำเสนอโครงการว่าเนื้อหา สาระของการศึกษาจะทำอะไรบ้างโดยหลักจะเป็นเรื่องความเหมาะสมของโครงการ 1.เรื่องเศรษฐกิจการลงทุนที่จะใช้เงินเท่าไร และมีความคุ้มค่าหรือไม่ 2.เรื่องทางวิศวกรรมว่าแนวเส้นทางที่เราศึกษามีความเหมาะสมทางวิศวกรรม อย่างไรบ้าง ซึ่งจะต้องสร้างสะพานข้ามทางแยกทางตัด และเข้ามาในเมืองต้องทำสะพานอย่างไรบ้าง, 3.เรื่องสิ่งแวดล้อมว่าได้รับผลกระทบหรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร บ้าง และ 4.รวมทั้งเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่ตามแนวสายทางรถไฟโดย เส้นทางรถไฟจากนครราชสีมา-หนองคายยึดแนวทางรถไฟเดิม
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในหลักการจะใช้แนวทางรถไฟเดิม และปัญหาเรื่องการเวนคืนเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นจะใช้แนวเขตทางของการรถไฟ โดยแนวเขตทางทั่วประเทศเรื่องความกว้าง ถ้าเราดูตามสภาพพื้นที่มีความเพียงพออยู่แล้ว และจะใช้สถานีเดิมที่มีพื้นที่อยู่แล้วในการพัฒนาปรับปรุงเป็นสถานีใหม่ แต่การเวนคืนก็คงจะมีบ้างเพราะว่าเวลาเราเพิ่มความเร็วของรถไฟสูงขึ้นก็จำเป็นจะต้องรัศมีความโค้งกว้างขึ้นซึ่งจะหักศอกไม่ได้ ฉะนั้นอาจจะมีพื้นที่บางส่วนต้องเวนคืนแต่จะให้เวนคืนให้น้อยที่สุด ส่วนจะใช้งบประมาณวงเงินเท่าไหร่นั้นตอนนี้ยังไม่ได้คิดออกมาเป็นเงิน เพราะต้องออกแบบรายละเอียดให้เสร็จก่อน แต่คิดว่าในวงเงินเป็นแสนล้านบาท การว่าจ้างศึกษาประมาณ 190 ล้านบาท อาจจะดูแพงเพราะเราออกแบบไว้เพื่อเอามาใช้งาน
รอง ผอ.สนข.กล่าวอีกว่า กรอบระยะเวลานี้เป็นเวทีแรกและจากนี้จะไป จ.ขอนแก่น และวันต่อไป จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย สุดท้ายฉะนั้นรอบแรกจะเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์โครงการให้ ประชาชนเห็นว่ากระทรวงคมนาคมกำลังจะทำอะไร และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคืออะไร รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อห่วงใยของประชาชนที่มีต่อโครงการอย่างไรบ้าง และหลังจากรับฟังครั้งนี้แล้วเราก็ต้องมาอีกรอบ เพื่อที่ทางที่ปรึกษาโครงการจะรู้ว่าประชาชนกลุ่มใดบ้างที่รับผลกระทบมาก น้อยเพียงใดโดยจะมีการลงกลุ่มย่อยไปพบปะกลุ่มย่อยรับฟังมาแล้วนำเสนอรายละเอียดเป็นกลุ่มๆ และจะมีการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 เพื่อมานำเสนออีกครั้งว่าสิ่งที่ที่ปรึกษาได้ไปรวบรวมมานั้นครบถ้วนถูกต้องหรือยัง และนำมาเสนอรูปแบบของการออกแบบว่าสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและเป็น ไปตามหลักวิชาการหรือไม่
...
นายชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ การศึกษานี้จะเสร็จประมาณปลายปี 2558 นี้ เป็นเส้นทางที่รัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนได้คุยกันในการพัฒนาด้วยกันโดยแนว ที่รัฐบาลได้คุยคือจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย และจากชุมทางแก่งคอย-มาบตาพุด ส่วนตัวเลขวงเงินกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ก็เป็นหมื่นล้านบาทโดยการลงทุนมี 2 ส่วน ส่วนแรกตัวโครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่การทำพื้นฐานและวางระบบราง รวมทั้งอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้า อีกส่วนตัวรถกับการบริหารจัดการเดินรถเป็นเรื่องที่เรายังไม่เคยมีมาก่อน ฉะนั้นเราไม่รู้ว่าตัวนี้มูลค่าจริงๆ เท่าไหร่ โดยต้องคุยกับทางจีนเขาส่วนรางรถไฟระบบใหม่เป็น 1.435 แต่รถไฟใหม่ของเดิมก็ยังใช้อยู่คือ 1 เมตร ฉะนั้นการดำเนินการช่วงที่ง่ายที่สุดเร็วที่สุด คือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ส่วนจาก นครราชสีมา-หนองคาย อยู่ระหว่างการศึกษา.