ถึงคิวข้าราชการบำนาญได้เฮส่งท้ายปี ครม.ทุ่มกว่า 5 พันล้านบาทเห็นชอบเพิ่มเงินค่าครองชีพ 4 เปอร์เซ็นต์ ให้ข้าราชการบำนาญ ซี 7 หรือยศพันโทลงมากว่า 5 แสนราย แถมให้มีผลย้อนหลัง 1 ธ.ค.57 หวังกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี ด้าน “ประยุทธ์” ย้ำเห็นใจ ต้องปรับขึ้นเพราะไม่ขยับขึ้นมาหลายปี ส่วนรัฐวิสาหกิจรอลุ้นต่อ ชี้รอสรุปผลประกอบการชี้วัด
กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติขึ้นเงินเดือนข้าราชการไปเมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดที่ประชุม ครม.ในวันที่ 30 ธ.ค. ซึ่งเป็นการประชุมนัดสุดท้ายของปี ได้มีมติเห็นชอบเพิ่มค่าครองชีพให้แก่ข้าราชการบำนาญด้วย
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 30 ธ.ค. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญที่จะปรับเพิ่มเงินค่าครองชีพให้กับข้าราชการบำนาญที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ในระดับซี 7 ลงมา หรือชั้นยศพันโท รวม 533,328 ราย ในอัตรา 4% เพื่อให้มีรายได้ที่เหมาะสมสอดคล้องการปรับเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย โดยรัฐบาลจะใช้เงินจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น วงเงิน 5,139 ล้านบาท มาใช้ดำเนินการ และให้เริ่มมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2557 เป็นต้นไป
สำหรับเหตุผลที่รัฐบาลให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2557 เหมือนกับการอนุมัติขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐก่อนหน้านี้และให้มีผลในวันดังกล่าว เนื่องจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลว่าจะช่วยกระตุ้นและยกระดับเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายปีนี้ เพราะเป็นเรื่องของจิตวิทยาที่พอข้าราชการได้รู้ว่าได้ขึ้นเงินเดือนก็จะกล้าใช้จ่ายเงินมากขึ้นทันที
...
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า การปรับเพิ่มเงินดังกล่าว กำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำนาญปกติ บำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ บำนาญพิเศษ หรือบำนาญตกทอดในฐานะทายาทหรือผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญอยู่แล้ว ในวันที่ 1 ธ.ค.2557 ให้ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ในอัตราดังต่อไปนี้ 1.ผู้ที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ และ ช.ค.บ.อยู่แล้วให้ได้รับ ช.ค.บ.เพิ่มขึ้นอีกในอัตราเดือนละ 4% ของจำนวนเบี้ยหวัด หรือบำนาญ และ ช.ค.บ.ที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับ 2.ผู้ที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเฉพาะเบี้ยหวัดหรือบำนาญ ให้ได้รับ ช.ค.บ.ในอัตราเดือนละ 4% ของจำนวนเบี้ยหวัดหรือบำนาญที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลังรายงานที่ประชุม ครม.ว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปตามที่ ครม.ได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า จะจัดระบบอัตรากำลังและปรับปรุงค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐให้เหมาะสมและเป็นธรรม อีกทั้ง ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 ให้ปรับเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐชั้นผู้น้อย โดยปรับบัญชีเงินเดือนระดับตำแหน่งไม่เกินระดับชำนาญการ หรือระดับ 7 หรือชั้นยศพันโท จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น 1 ขั้น หรือ 4% รวมทั้งปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงทุกระดับ
ทั้งนี้ การปรับปรุงค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐดังกล่าว กระทรวงการคลังจะพิจารณาปรับปรุงเงินเพิ่มค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ควบคู่ในทางเดียวกันเสมอ เพื่อให้มีความสอดคล้องกันในด้านค่าครองชีพ ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อมีการปรับเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะปรับเพิ่ม ช.ค.บ. ให้แก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญตามแนวทางเดียวกันด้วยเสมอ เช่น ในการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่างๆ เพิ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2550 และเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2554 ในอัตรา 4% และ 5% โดยมีการปรับเงิน ช.ค.บ. ให้แก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มขึ้นในอัตรา 4% และ 5% เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ล่าสุดได้ให้ความช่วยเหลือผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญด้วยการประกันรายได้ขั้นต่ำให้ได้รับบำนาญรวมกับ ช.ค.บ. แล้วไม่ต่ำกว่าเดือนละ 9,000 บาท ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 81/2557 ลงวันที่ 10 ก.ค.2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ.2521
เมื่อเวลา 13.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ ครม.มีมติขึ้นค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญว่า ต้องให้เขาหน่อย เห็นใจ เพราะไม่ได้ปรับมาหลายปี ตนก็บอกไปแล้วว่าจะให้ชั้นผู้น้อยก่อนได้หรือไม่ โดยเพิ่มร้อยละ 4 ของเงินเดือน ให้ทั้งหมด 533,328 ราย พวกเขาน่าเห็นใจและเป็นเงินไม่มาก ให้คนที่เดือดร้อนมีประโยชน์ทั้งนั้น สำหรับพวกเราอาจจะไม่มีความหมายแค่ 400-500 บาท ส่วนจะปรับค่าครองชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจด้วยหรือไม่นั้น ต้องไปดูว่าที่ผ่านมาได้อย่างไร ได้แค่ไหน ผลประกอบการเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นตัวชี้วัดด้วย ถ้าขึ้นให้หมดแล้วรายได้ไม่มีแล้วจะไปเอาที่ไหน รัฐบาลก็จะต้องเข้าไปช่วยอุดหนุนซึ่งปีหนึ่งๆจะช่วยอุดหนุนเท่าไรไม่รู้ จึงค่อยๆปรับ เพราะถ้าทำไม่ได้จะเกิดปัญหา