เดินทางมาถึงตอนที่ 4 แล้ว สำหรับสกู๊ปซีรีส์ "เปิดโปงกลจับแพะ แฉสารพัดทรมานโหด" โดยหลายตอนที่ผ่านมา ได้เล่าถึงมุมมองของผู้ "ถูกกระทำ" หรือใครๆ เรียกว่า "แพะ" แต่วันนี้ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" จะเปิดเผยข้อมูลของฝั่ง "ผู้กระทำ" ซึ่งหมายถึงผู้มีอำนาจ โดยเรื่องราวทั้งหมดถูกเปิดเผยจาก พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร หรือ ผู้การวิสุทธิ์ อดีต รอง ผบช.ภ.9 และ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่นายหนึ่ง ซึ่งได้สะท้อนออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด ว่าทำไมประชาชนถึงมอง "เจ้าหน้าที่รัฐ" ด้านลบมาตลอด! 

ต้นตอแพะ เริ่มต้นที่...!

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ เล่าถึงระบบกระบวนการยุติธรรมไทยว่า กระบวนการยุติธรรมบ้านเรา สังคมมองออกเป็น 2 แบบ คือ "แง่ดี" กับ "แง่ลบ" หากต้นน้ำระบบการยุติธรรมบ้านเรา "ไม่ดี" บางครั้งอาจจะถูกหลอกได้ แม้กระบวนการยุติธรรมจะจบที่ศาล แต่ศาลไม่ได้เป็นคนจับผู้ต้องหาเอง ดังนั้น ต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมก็คือ "ตำรวจ" อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะมีต้นน้ำนั้น ต้องมี "แหล่งน้ำ" ก่อน ตำรวจจะมีการแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ ต้นน้ำ กับ แหล่งน้ำ แหล่งน้ำก็คือผู้จับกุม ถ้าผู้จับกุมไปจับใคร แล้วเรียกรับผลประโยชน์ แบบนี้จะถึงต้นน้ำหรือไม่ มันก็ไม่ถึงพนักงานสอบสวน ไม่ถึงต้นน้ำ

ผู้การวิสุทธิ์ ได้ยกตัวอย่างให้ฟังว่า สมมติมีการจับกุมยาเสพติดได้ จากนั้นได้มีการรูดทรัพย์ ยึดยาเสพติดนำไปขายต่อ เอาเอทีเอ็มไปกดเงินหมด จากนั้นก็ปล่อยตัวผู้ต้องหา ถ้าทำแบบนี้เขากล้าโวยวายหรือไม่...ไม่มีใครกล้า! แบบนี้แหล่งน้ำก็ไม่ถึงต้นน้ำ คือพนักงานสอบสวน แต่หากกรณีไปถึงพนักงานสอบสวน เป็นคนดี ทำสำนวนที่ดีถึงอัยการส่งฟ้องศาล ศาลก็สามารถตัดสินได้ถูกต้อง ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมที่ดี ขึ้นอยู่ที่ แหล่งน้ำ และต้นน้ำ แต่ปัจจุบันสังคมมอง แหล่งน้ำกับต้นน้ำ ไม่ดี ก็เลยรู้สึกไม่ไว้วางใจ

...

ซ้อมผู้ต้องหา "เรื่องจริง" ที่เคยเกิดขึ้น..ที่มาชาวบ้านติดใจ คดีเกาะเต่า

อดีตนายตำรวจชื่อดัง ได้ยกอีก 1 ตัวอย่างคดี ที่คนกำลังสนใจในขณะนี้ ได้แก่เรื่องคดีเกาะเต่า ระบุว่า ทำไมคดีนี้คนไม่ค่อยเชื่อ เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ "ผู้การ วิสุทธิ์ วานิชบุตร-เพจใหม่" ตนเชื่อหลักวิทยาศาสตร์ เคมี DNA แต่ก็มีสิทธิไม่เชื่อมนุษย์ที่รายงานผลการตรวจ เนื่องจากนิติเวช สังกัดสำนักงานแพทย์ใหญ่ ส่วนสำนักงานแพทย์ใหญ่ สังกัดที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คนทั่วไปจึงติดใจและไม่เชื่อมั่น แล้วถามคนทั่วไปเขารู้หรือไม่ว่า DNA เป็นอย่างไร ที่รายงานก็รายงานว่าเจอ แต่ไม่อธิบายให้ชัดเจน ดังนั้น ทุกคนมีสิทธิที่จะไม่เชื่อ ป่านนี้อัยการยังไม่ส่งฟ้อง ผู้ต้องหาให้การกลับไปกลับมา พอผู้ต้องหาโวยว่าถูกซ้อม พ่อแม่ สภาทนาย ตำรวจจากอังกฤษ ยังเข้ามาดู พอพูดว่า "ถูกซ้อม ถูกซ้อม" สิ่งนี่คือ "เรื่องจริง" ของตำรวจไทย ใครได้ฟังก็รู้สึกคล้อยตาม ถ้าเกิดประวัติที่ผ่านมา ไม่มีเรื่องแบบนี้ก็จะไม่มีใครเชื่อ แต่ที่ผ่านมาเราเห็นมาตลอด

วิวัฒนาการ การทรมานเปิดปากผู้ต้องสงสัย 

"เมื่อก่อนเราได้ยินว่ามีการเผาไข่ ดีดไข่ ไฟฟ้าช็อต ชก ตบตี แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ทำแล้ว เพราะเขาไม่ต้องการให้มีบาดแผล ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าจับตัวผู้ต้องสงสัย 1 คน "จะรับมั้ย...ผมไม่รู้!!" ไม่พูดก็จะโดนเอาถุงครอบหัว ค่อยๆ บีบให้อากาศน้อยลง พอเห็นหน้าเขียวๆ ก็ดึงถุงขึ้น ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะรับสารภาพมั้ย!? ทำแบบนี้มีบาดแผลหรือไม่ จะว่าไปสมัยนี้เขาไม่ลนไข่ หรือ ช็อตแล้ว วิธีต่อมาคือ..ใช้กะละมังใบใหญ่ๆ ใส่น้ำเยอะ แล้วจับกดน้ำ เอาผ้าขาวม้า พันมือไพล่หลังไว้ ที่ต้องใช้ผ้าขาวม้า เพราะไม่มีรอยมัด เดี๋ยวนี้เขาไม่ใช้กุญแจ หรือ เชือก ใช้ผ้าขาวม้าพันแล้วกดน้ำ พอเริ่มสำลักน้ำแล้วก็ดึงขึ้น วิธีนี้ก็ไร้รอยแผล กดไปเรื่อยๆ รับสารภาพมั้ย...อย่าว่าแต่รับเลย ให้กินขี้ก็ต้องกิน เพราะสัตว์ที่เป็นชีวิต ก็รักชีวิตทุกคน เมื่อรับแล้ว ก็ลงบันทึก เซ็นชื่อ ถ้าผู้ต้องสงสัยเป็นผู้หญิง วิธีก็ใช้จะเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่วิธีการเหล่านี้จะไม่ค่อยได้ใช้ เพราะผู้หญิงจิตใจจะอ่อนกว่า ใช้แค่ขู่ด้วยวาจา ก็อาจจะยอมแล้ว"

คดีดัง กดดันสูง ยิ่งถูกหยิบมาใช้บ่อย 

ผู้การวิสุทธิ์ ยังบอกประเภทคดีที่เจ้าหน้าที่มักใช้วิธีการทรมานผู้ต้องหา เพื่อให้ได้คำรับสารภาพ ว่า 1.คดีที่ต้องการผลอย่างรวดเร็ว เช่น คดีเกาะเต่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศ การท่องเที่ยว เรื่องที่ผู้ใหญ่บีบมา เป็นที่สะเทือนขวัญประชาชน หรือเกี่ยวกับองค์กรระหว่างประเทศ​ 2.คดียาเสพติด เพราะหากจับได้จะต้องรีบเอาคำรับสารภาพ เพื่อให้บอกว่าไปรับยาจากใคร เป็นการขยายผล 3.คดีคนมีชื่อเสียงถูกกระทำ หรือ คดีที่เป็นข่าวดัง อาทิ ดารานักร้อง พอมีข่าวลงตำรวจจะขยันเป็นพิเศษ​ ทั้ง 3 เรื่องนี้เขาเรียกว่าเป็นคดีที่มีแรงกดดัน จะกดดันโดยผู้ใหญ่ รัฐบาล การท่องเที่ยว หรือ สื่อ ซึ่งโซเชียลมีเดีย ก็ถือเป็นสื่อ

...

"เรื่องแบบนี้ไม่มีใครรู้หรอกว่ามีมากน้อยแค่ไหน ใครที่ออกมาบอกตัวเลข โกหกทั้งนั้น เพราะส่วนใหญ่ไม่มีใครโวยวาย ดังนั้น จึงไม่มีใครรู้ว่าตัวเลขคดีแบบนี้ที่แท้จริง"

ยืนยัน ไม่มี คุกลับ ส่วนเซฟเฮาส์ มี 2 ประเภท ใช้ขยายผลและรีดทรัพย์

ส่วนกรณีมีกระแสข่าวว่ามีคุกลับในประเทศไทย อดีต รอง ผบช.ภ.9 เผยว่า เรื่องคุกลับไม่มีหรอก เพราะมันไม่ใช่คุกลับ แต่ มันคือเซฟเฮาส์ บางทีจับแล้วยังไม่เปิดเผย ยังจับตัวการไม่ได้ ก็นำตัวไปไว้ที่โรงแรมม่านรูด หรือ รีสอร์ตที่ห่างไกล ที่ตัวเองคุ้นเคย หรือจะเป็นบ้านเพื่อน การนำตัวเข้าเซฟเฮาส์ ก็จะมี 2 ประเภท 1.ใช้เพื่อขยายผล หรือ 2.ใช้เพื่อรีดเงิน เช่น หากจับได้รูดทรัพย์หมด แต่เงินอยู่ในบัญชี จะกดหมดไม่ได้ ต้องค่อยๆ กดทีละวัน จนกว่าจะหมด แต่วิธีการนั้น เมื่อจับได้ ก็ต้องเอาผ้าปิดตา เพื่อไม่ให้รู้ว่าไปไหน จากนั้นก็นำตัวมารีดจนหมด ค่อยปล่อย

วิธีการรับมือ หากจะถูกควบคุมตัว

ผู้การวิสุทธิ์ แนะนำว่า อันดับแรกที่สำคัญที่สุด เราต้องถามและดูว่า เป็นตำรวจแท้หรือไม่ ขอให้เขาโชว์บัตร แต่งเครื่องแบบมาหรือเปล่า 2.หากจะควบคุมตัวเรา นั้นทำไม่ได้ หากจะควบคุมได้ต่อเมื่อมีหมาย หรือ มีสิ่งบอกเหตุว่าเรากำลังทำความผิดอยู่ เช่น เรากระชากสร้อย มีคนร้องแล้วจับได้ อย่างนั้นควบคุมตัวได้ ถ้าไม่ได้เป็นความผิดซึ่งหน้า ไม่ได้มีหมายศาล หมายจับ ควบคุมไม่ได้

...

ถ้าจะมาควบคุมเรา เรามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 1.จะทราบว่าจะมาควบคุมตัวเราในข้อหาอะไร 2.มีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ 3.มีสิทธิที่ได้รับการประกันตัว 4.มีสิทธิที่จะปรึกษาทนายสองต่อสอง 5.มีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ นี่คือสิทธิของผู้ต้องหาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่เซ็นก็ได้ ไม่ปฏิเสธ ก็ได้…แต่ถ้าเกิดมีการสอบสวนอย่างข้างต้น ก็จะมีการทำบันทึกจับกุม หรือ ให้เซ็นรับทราบข้อหาเลย ในระหว่างควบคุมตัวของตำรวจ ในชั้นจับกุม ชั้นพนักงานสอบสวน ผู้ต้องหาก็ไม่ค่อยกล้ามีปัญหา แต่หลังจากอำนาจควบคุมตัวของตำรวจหมดแล้ว เช่น เด็กควบคุมตัวได้ 24 ชม. ผู้ใหญ่ 48 ชม. จากนั้น ตำรวจก็จะไม่มีอำนาจ ก็จะส่งตัวเข้าเรือนจำ เมื่ออำนาจการดูแลอยู่กับเรือนจำ ผู้ต้องหาจึงเริ่มที่จะโวยว่าถูกซ้อม เหมือนคดีเกาะเต่า ชายชุดดำ เป็นต้น

"การสอบสวนคือการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อมาประกอบการทำผิด ไม่ว่าจะกรณีใดก็ไม่สามารถทำร้ายผู้ต้องหาได้ ตำรวจมีหน้าที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐาน พยานบุคคล พยานวัตถุ หรือ พยานทางวิทยาศาสตร์ ยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ส่วนใหญ่จะมุ่งการจับกุมและเอาคำสารภาพมาก่อน เรื่องการรวบรวมพยานหลักฐานมาทีหลัง ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศ ที่รวบรวมหลักฐานจนแน่นหนาถึงจะออกหมายจับ พอออกหมายจับก็มักจะดิ้นไม่ค่อยหลุด ที่สำคัญอีกเรื่องคือต่างประเทศ กว่าจะออกหมายจับเป็นเรื่องที่ยากมาก"

...

เผยเบื้องหลังการแถลงข่าวจับกุม

ผู้การวิสุทธิ์ ยังกล่าวถึงสิทธิของผู้ต้องหา ในการแถลงข่าว ว่า ที่จริงแล้ว เรานำผู้ต้องหามาแถลงข่าวไม่ได้ เนื่องจากอาจจะผิดหลักสิทธิมนุษยชน หรือ เพราะเขาอาจจะไม่ผิดก็ได้ เพราะใครเป็นคนผิด ศาลจะเป็นผู้ตัดสิน ศาลต้องพิพากษาถึงที่สุด อีกประเด็นคือ มีกฎหมายเยาวชน จะนำผู้ต้องหาอายุ ต่ำกว่า 18 ปี มาแถลงไม่ได้ หากจำเป็น จริงๆ ต้องมีการปิดบัง เช่น ใส่หมวกปิด สวมโม่ง นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายว่าด้วยความรุนแรงในครอบครัว เรื่องนี้เขาห้ามแถลงข่าวเด็ดขาด ยกตัวอย่างเด็กถูกพ่อเลี้ยงข่มขืน จะนำพ่อเลี้ยงมาแถลงก็ไม่ได้ เพราะมีการเกี่ยวโยงถึงครอบครัว แต่ได้มีประเพณีปฏิบัติกันมา โดยการแถลงข่าวเนื่องจากทาง กระทรวงยุติธรรม สตช. หรือแม้แต่สิทธิมนุษยชนเอง ได้เล็งเห็นว่า การแถลงข่าวยังมีประโยชน์ เพราะหากเกี่ยวกับเรื่องฉ้อโกงประชาชน แถลงข่าวเพื่อให้ประชาชนได้เห็นเป็นอุทาหรณ์ ได้เห็นรูปแบบการฉ้อโกง และให้ข่าวออกไปเพื่อให้ประชาชนที่เป็นเหยื่อมาชี้ตัวผู้กระทำผิด แต่จะมาบังคับให้ผู้ต้องหาพูด นั้นทำไม่ได้ เพราะผู้ต้องหามีสิทธิ์จะให้การหรือไม่ ก็ได้ และผู้ต้องหามีสิทธิ์ต้องรับรู้ข้อกล่าวหา หรือจะขอให้การในชั้นศาล 

"ยอมรับว่า ที่ผ่านมามีการข่มขู่ให้ผู้ต้องหาพูด ก่อนออกมาแถลงข่าว ที่ทำแบบนี้เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แพะ เพราะผู้ต้องหารับสารภาพ แต่ถ้าสังเกตดู หลังจากนี้ ผู้ต้องหามักจะปฏิเสธ เพราะฉะนั้น คำรับสารภาพในการชั้นสอบสวน จะไม่ใช่เครื่องตัดสินว่าคนคนนั้น เป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่"

รื้อระบบใหม่ คนเป็นใหญ่ต้องไม่ใช่ขี้ข้านักการเมือง-วิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง

ทั้งนี้ อดีต รอง ผบช.ภ.9 ได้เสนอแนะแก้ภาพลักษณ์ตำรวจ ว่า เรื่องแก้ปัญหา เชื่อว่าแก้ได้หมด ตราบใดมีการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ให้ตำรวจ แต่ก่อนอื่นตำรวจต้องเป็นของประชาชนก่อน ไม่ใช่ขี้ข้านักการเมือง ไม่ใช่ตำรวจที่ซื้อตำแหน่งมา ถ้าตำรวจเป็นตำรวจของประชาชนอย่างต่างประเทศ เขาถือเรื่องสิทธิมนุษยชนสำคัญที่สุด เขาไม่มีมั่วแบบบ้านเรา ทางแก้ต้องแก้ที่ "ระบบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" โดยต้องรื้อใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะคนที่มาเป็นใหญ่ ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากผลงาน ความรู้ ความสามารถ ความดี คุณธรรม จริยธรรม ที่ได้มาเป็นใหญ่ มาจากการวิ่งเต้น ซื้อตำแหน่ง เป็นขี้ข้านักการเมืองหรือผู้ใหญ่ในบ้านเมือง พอได้ตำแหน่งก็มาถอนทุน

ยอมรับ ซ้อมผู้ต้องหามีจริง และยังคงอยู่

ขณะที่ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ยังรับราชการอยู่นายหนึ่ง ยอมรับกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า เรื่องการซ้อมผู้ต้องหา ปัจจุบัน ยังคงมีให้เห็นอยู่ สาเหตุเพราะอยากได้ผลงาน ทางที่ถูกต้องใช้พยานหลักฐานมัด สำคัญที่สุดคือประจักษ์พยาน กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ เราต้องใช้เทคนิคสมัยใหม่ หากมีการซ้อม ตำรวจก็มีความผิด ม.157 แต่ถ้าเป็นสมัยก่อน ยอมรับว่ามีการจับผิดตัวเยอะ เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย การทำงานใช้หลักสืบสวนเป็นหลัก ส่วนตัวเชื่อว่ามีคดีดัง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยก่อน ที่มีการจับผิดตัว แต่ส่วนหนึ่งก็มาจากความล้าสมัย ไม่มีการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์

"ส่วนตัวยังเชื่อว่าการซ้อมผู้ต้องหายังมีอยู่ คิดว่าส่วนใหญ่จะเป็นตำรวจที่หลงยุค ยังหลงอำนาจ คิดว่าการข่มขู่ ทำให้ตำรวจบางคนรู้สึกมีอำนาจเหนือคนอื่น เวลาควบคุมผู้ต้องหาจึงเลือกใช้วิธีข่มขู่ คุกคาม หรือ ทำร้ายร่างกาย ซึ่งวิธีนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มี "แพะ" จำนวนมาก อย่างไรก็ดี วิธีการที่ถูกต้อง คือต้องตะล่อม ค่อยๆ พูดคุย หากได้พ่อแม่ของเขามาช่วยพูดได้ ก็จะทำให้การทำงานง่ายยิ่งขึ้น สิ่งที่จะสะท้อนให้เห็นคือ เวลาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ เพราะคนสอบสวนจะรู้ว่าใคร "แพะ" ใคร "ไม่แพะ" อย่างกรณีคดีดังคดีหนึ่ง ตอนแรกจับกุมผู้ต้องหาได้ แต่เมื่อได้มีการพูดคุย รู้สึกว่ามีสิ่งผิดปกติ จึงเดินหน้าสืบสวนต่อ จนกระทั่งจับผู้ต้องหาตัวจริงได้ เมื่อมีการสอบปากคำ ได้มีการพูดคุย จนกระทั่งไปทำแผน เขาจะชี้จุดต่าง ๆ ซึ่งมั่นใจเลยว่าไม่ใช่แพะ โดยสาเหตุที่เขาให้ความร่วมมือเพราะได้มีการพูดคุยกับเขาก่อนว่าถ้ายอมรับสารภาพ ก็จะมีการลดโทษ จากประหาร เหลือคุกตลอดชีวิต แต่ถ้าทำความดี ก็จะมีการลดโทษ" นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ กล่าว 

ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวจากปากนายตำรวจ และอดีตนายตำรวจระดับสูง ที่สะท้อนให้เห็นถึงสาเหตุว่า ทำไม...ภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐถึงมัวหมอง ส่วนการแก้ปัญหาที่สะสมมายาวนานได้หรือไม่ คงต้องให้ผู้มีอำนาจพิสูจน์ด้วยการแก้ไขให้เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม ในตอนหน้า สภาทนายฯ จะไขข้อข้องใจถึงสิทธิของผู้ต้องหา และการเรียกร้องเงินชดเชย จะได้มากน้อยแค่ไหนโปรดติดตามอ่านตอนต่อไป

อ่านเพิ่ม