ผ่านมาแล้ว 4 ปีเต็ม ที่ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ถูกมือปืนลอบสังหารขณะอยู่ใจกลางฐานที่มั่นของกลุ่มคนเสื้อแดง ภายหลัง “ศอฉ.” ประกาศใช้มาตรการปิดล้อมพื้นที่การชุมนุม แต่จนบัดนี้เจ้าหน้าที่ยังจับมือใครดมไม่ได้ ทุกอย่างยังคงเป็นปริศนา กับข้อสงสัยที่ว่า มือปืนเป็นใคร? วางแผนมานานแค่ไหน? และคำถามสำคัญที่สุด...

ใครคือคนสั่งฆ่า"เสธ.แดง" ?

เป็นที่รู้กันว่า พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก จัดเป็นแกนนำฝั่งฮาร์ดคอของกลุ่มคนเสื้อแดง ผู้ซึ่งสร้างศัตรูไว้ทุกหนแห่ง ไม่ยกเว้นกระทั่งกับกองทัพและกลุ่มคนเสื้อแดงด้วยกันเอง และด้วยความที่ "เสธ.แดง" ไม่เคยกลัวใครอย่างนี้ เหตุจูงใจในการสังหารหรือผู้ที่อาจเกี่ยวข้องกับแผนการจึงเป็นไปได้หลายแนวทาง ….

หากย้อนกลับไปดูรายละเอียดของนาทีสังหาร เริ่มต้นจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ประกาศใช้มาตรการปิดล้อมพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 โดยการตัดน้ำตัดไฟฟ้า งดบริการขนส่งสาธารณะ และห้ามผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่โดยเด็ดขาด

แน่นอนว่า "เสธ.แดง" ซึ่งเป็นแกนนำที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยก็ต้องวางแผนแนวตั้งรับให้รัดกุม และออกเดินตรวจความเรียบร้อยของแนวบังเกอร์ร่วมกับการ์ด เพื่อป้องกันการบุกยึดพื้นที่ชุมนุมจากรัฐบาล โดยไม่ล่วงรู้ว่ากำลังเดินหน้าเข้าหามัจจุราชที่จะปลิดชีวิตตนในไม่กี่นาทีข้างหน้า

...

วินาทีระทึก กระสุนปลิดชีพ"เสธ.แดง"

หลังจากเดินตรวจพื้นที่ได้ไม่นาน เสธ.คนดัง ก็ถูกห้อมล้อมด้วยกลุ่มสื่อมวลชนที่ฮือเข้าสัมภาษณ์ และแสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูปก็เปรียบเสมือนเป้าชั้นดีให้มือปืนที่ซุ่มรอคอยโอกาสอยู่ก่อนแล้ว เมื่อ พล.ต.ขัตติยะ เดินมาถึงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม บริเวณแยกศาลาแดง และเดินข้ามรั้วเหล็กซึ่งเป็นจุดสูงเด่นที่สุด นั่นคือวินาทีที่มือปืนตัดสินใจลั่นไก

กระสุนมัจจุราชที่หมายมาดปลิดชีพในนัดเดียว พุ่งตรงราวกับจับวางไปที่นายทหารนักรบ เจาะเข้าหน้าผากขวาทะลุออกท้ายทอยด้านซ้ายทันที ร่างของแกนนำฮาร์ดคอร์ผู้นี้ก็ทรุดฮวบลงกับพื้นพร้อมกับเลือดสีแดงสดไหลทะลักออกจากบาดแผล ทิ้งคำพูดประโยคสุดท้ายขณะตอบคำถามนักข่าวว่า “กองกำลังทหารไม่สามารถเข้ามาในนี้ได้…”  

และจากนั้นก็เป็นเหมือนฝันร้ายของผู้อยู่ในเหตุการณ์ทุกคน

เสียงปืนและระเบิดดังระงมทั่วทุกสารทิศ ผู้คนต่างสับสนวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น ขณะที่ร่างของนายทหารถูกการ์ดหามขึ้นรถฉุกเฉิน แต่กลับข้ามเลยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุไปยังโรงพยาบาลหัวเฉียวที่อยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตรแทน และย้ายไปโรงพยาบาลวชิรพยาบาลในที่สุด แต่อาการ พล.ต.ขัตติยะ ก็ทรุดลงเรื่อยๆ กระทั่ง 4 วันหลังจากนั้น ก็เสียชีวิตด้วยอาการไตวายเฉียบพลัน ปิดตำนานหัวหน้ากองกำลังการ์ดเสื้อแดง เพียงเท่านี้

ศัตรูสำคัญ หมายปิดบัญชี เสธ.แดง

การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ หัวหน้ากองกำลังการ์ดเสื้อแดง เป็นหัวข้อถกเถียงว่าใครเป็นผู้ลงมือ และใครที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการลงมือครั้งนี้ แม้จะยังไม่สามารถหาตัวการได้แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมั่นใจคือ การลอบยิงครั้งนี้ ถูกวางแผนมาอย่างดี และ มือปืนเป็นทีมสังหารอาชีพที่ฝึกการใช้อาวุธสงครามมาอย่างช่ำชอง ดังนั้น ผู้อยู่เบื้องหลังต้องเป็นผู้มีอิทธิพลมากบารมีในบ้านเมือง

ประการแรก อาจเป็นฝีมือของรัฐบาลในสมัยนั้น เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า เสธ.แดง คือหัวหน้ากองกำลังไม่ทราบฝ่าย ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่เคลื่อนไหวคู่ขนานกับการชุมนุมเพื่อโค่นล้มรัฐบาล โดยรับคำสั่งจาก นายทักษิณ ชินวัตร จึงมีความเป็นไปได้ที่ทางการอาจหมายหัวไว้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลออกมายืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการสังหารครั้งนี้

ประการที่สอง ฝีมือของแกนนำกลุ่มเสื้อแดงด้วยกันเอง เพราะ เสธ.แดง มีความเห็นไม่ตรงกับแกนนำหลายคน และเคยมีเรื่องกันบ่อยครั้ง อีกทั้งการจบชีวิต เสธ.แดง จะช่วยกระพือความเคียดแค้นของผู้ชุมนุม นำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรง

...

ประการที่สาม ผู้มีอำนาจในกองทัพที่ไม่พอใจ เสธ.แดง ในหลายเรื่องหลายปม ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่หยามศักดิ์ศรีความเป็นทหาร ประกาศความเป็นศัตรูกับผู้นำกองทัพอย่างเด่นชัด และทำให้กองทัพเสื่อมเสียอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนถูกสั่งพักราชการตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2553 

ประการที่สี่ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เป็นศัตรูคู่อาฆาตกับกลุ่มเสื้อแดงมาโดยตลอด โดย แกนนำพันธมิตรฯ เชื่อว่า เสธ.แดง อยู่เบื้องหลังการยิงเอ็ม 79 เข้าใส่คนเสื้อเหลืองหลายครั้ง จนนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตาย


 
ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานี้ อาจมีตัวการที่ออกคำสั่งปิดบัญชี เสธ.แดง แฝงอยู่ หรืออาจไม่ใช่ทุกข้อที่กล่าวมาเลยก็เป็นได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของฝ่ายไหนก็ตาม สิ่งที่ “คนผู้นั้น” ก่อไว้คือ ความแตกแยกที่ยากจะสมานให้เหมือนเดิมในสังคมไทย

สุดท้ายแล้ว นายทหารประจำการที่เลือกจะแสดงออกทางการเมืองอย่างชัดเจน ก็เป็นเพียงหมากหนึ่งตัวในเกมการเมือง ที่เดิมพันด้วยอำนาจแลกกับความพินาศของบ้านเมือง และคมกระสุนที่จบชีวิต ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ช่วยโหมกระพือไฟสงครามกลางเมืองให้ลุกโชนขึ้นระยะหนึ่งเท่านั้น ก่อนจะหายไปตามกาลเวลา ตราบใดที่การต่อสู้ของผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังการเมืองไทยยังหาผู้ชนะไม่ได้ หรือยังไม่ยอมจับมือสมานฉันท์กัน เกมที่ใช้ประชาชนเป็นหมากก็ยังดำเนินต่อไป

...

แล้วหมากตัวต่อไปจะเป็นใคร !?