สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รักและคิดถึง ค้างกันเอาไว้ตั้งแต่ไทยรัฐออนไลน์ครั้งก่อน เมื่อ 7 วันที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากคุณครูลิลลี่ ได้ไปอ่านนิตยสาร "แพรว" หน้าปกพี่นก ทั้งสองนก คือ พี่นก-สินจัย และ พี่นก-ฉัตรชัย เลยได้แรงบันดาลใจมาจากความคิดรวบยอดในนิตยสารฉบับดังกล่าว ที่ต้องการบอกเล่าเรื่องราวของเพลงชาติไทย และนำมาต่อยอดออกมาเป็นความคิดและจิตสำนึกในความรักชาติ รักแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน คุณครูลิลลี่เองก็ได้อ่านนิตยสารเล่มนี้ เลยตั้งใจจะหยิบเอาเรื่องของเพลงชาติไทยมาถ่ายทอดเป็นความรู้เกี่ยวกับภาษาไทย ที่มีสอดแทรกอยู่ในเพลง รวมไปถึงความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่เป็นที่มาที่ไปของเพลงชาติให้คุณผู้อ่านได้อ่านกันด้วย

แต่ว่าเล่าไปเล่ามา เสริมโน่นเสริมนี่ตามแบบฉบับของคุณครูลิลลี่ สุดท้ายได้ความรู้ภาษาไทยอื่นๆ เพิ่มเติม แต่เนื้อหาสาระที่ตั้งใจก็ยังไม่ได้ถ่ายทอดตามเคย ว่าแล้วเรื่องของเพลงชาติเลยต้องตามมาเล่ากันต่อในไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้นี่แหละค่ะ

เอาล่ะค่ะ มาที่เรื่องที่คุณครูตั้งใจจะมาถ่ายทอดในครั้งนี้กันดีกว่า นั่นคือ เพลงชาติไทย ขอเท้าความเล่าที่มาของเพลงชาติไทย ฉบับที่ใช้กันในปัจจุบันนะคะ ที่ต้องบอกว่า ฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน ก็เพราะว่าที่ผ่านมา เรามีเพลงชาติไทยมาหลายแบบ หลายเนื้อ มีการดัดแปลง เปลี่ยน เพิ่ม ลดทอนให้เกิดความเหมาะสม จนมาลงตัวที่เพลงชาติไทยที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ประวัติอย่างสั้นๆ ง่ายๆ ในปี พ.ศ. 2482 เป็นปีที่ "ประเทศสยาม" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ประเทศไทย" รัฐบาลจึงได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติไทยใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขยังคงใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์อยู่เช่นเดิม (ทำนองเพลงชาติไทยเป็นทำนองนี้มานานแล้ว แต่เนื้อไม่ใช่อย่างทุกวันนี้ค่ะ) แล้วก็มีการกำหนดให้มีเนื้อร้องมีความยาวเพียง 8 วรรคเท่านั้น และยังมีข้อแม้อีกว่า ต้องปรากฏคำว่า "ไทย" ซึ่งเป็นชื่อประเทศอยู่ในเพลงด้วย ผลการประกวดปรากฏว่า เนื้อร้องของ พันเอกหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบก ได้รับรางวัลชนะเลิศ รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศรับรองให้ใช้เป็นเนื้อร้องเพลงชาติไทย โดยแก้ไขคำร้องจากต้นฉบับที่ส่งประกวดเล็กน้อย และก็ใช้เพลงชาติไทยฉบับนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันค่ะ

เราลองมาดูเนื้อเพลงชาติไทยกันหน่อยนะคะ

ประเทศไทย รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐ ผไทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมาย
รักสามัคคี ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่ สละเลือดทุกหยาด
เป็นชาติพลี เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย

ทราบเนื้อเพลงกันแบบชัดๆ เห็นกันจะจะไปแล้ว ก็มาดูความหมายของศัพท์บางคำในเนื้อเพลงกันบ้างดีกว่า เพราะคุณครูลิลลี่แอบมั่นใจลึกๆ ว่า หลายคนร้องได้ แต่ถ้าถามความหมายทุกคำในเพลงอาจจะยังตอบไม่ได้ ลองมองดูเนื้อเพลงข้างต้นสิคะ สงสัยคำไหนบ้างคุณครูลิลลี่จะอธิบายให้ค่ะ ติ๊กต่อกๆๆ นั่นแน่ คำแรกที่สงสัยมาแล้ว คำว่า “ไผท” นั่นเอง คำนี้ แปลว่า แผ่นดิน ค่ะ อีกคำที่อาจจะพอบอกได้ว่าหมายถึงอะไร แต่เรามาดูให้ถูกต้องถ่องแท้กันดีกว่า คำว่า “เอกราช” นั่นเอง เอกราช แปลว่า เป็นอิสระแก่ตน ไม่ขึ้นแก่ใครค่ะ และอีกหนึ่งคำที่น่าจะสงสัยกันอยู่บ้างก็คือคำว่า เถลิง นั่นเอง คำว่า เถลิง เป็นคำกริยานะคะ แปลว่า “ขึ้น” ค่ะ เช่น เถลิงราชย์ เถลิงอำนาจ หรือที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ เถลิงศกใหม่ หมายถึง ขึ้นปีใหม่ นั่นเองค่ะ

เอาล่ะค่ะ ทั้งหมดคือเรื่องราวของเพลงชาติไทยที่เอามาฝาก และปิดท้ายกันอีกนิดกับวลีเด็ดที่เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยิน รับรองว่าเข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้อย่างแน่นอน “ถ้าคนไทยหันมาฆ่ากันเอง จะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง” รู้ความหมาย รู้ที่มา แต่ถ้าไม่มีใครร้อง รับรองเพลงชาติไทยก็สูญหายไปอย่างแน่นอน รักชาติไทยด้วยกันนะคะ สวัสดีค่ะ

...

คุณครูลิลลี่
instagram : krulilly
facebook : ครูลิลลี่