หลังศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง "เสี่ยขาว" เจ้าของซานติก้าผับ ผู้เสียหายก็ยังยืนยันจะทวงความยุติธรรมต่อในศาลฎีกา ซึ่งเรื่องราวมหากาพย์นี้ ก็ดูท่าจะยืดเยื้อต่อแน่ แม้ว่าซานติก้าฯ จะเหลือแค่ชื่อ...

วันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เป็นเทศกาลที่ทุกคนต่างมีความสุขกับการเฉลิมฉลอง เพื่อส่งท้ายความสุข ความทุกข์ เรื่องราวต่างๆ ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา และกำลังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวันถัดไป ซึ่งเป็นวันปีใหม่ แต่ใครจะไปนึกว่า เทศกาลแห่งความสุขนี้ จะนำมาซึ่งหายนะ สร้างความสูญเสียมหาศาลได้ กลายเป็นสุสานใจกลางเมืองเลยก็ว่าได้

ย้อนกลับไปเมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ที่ "ซานติก้าผับ" สถานบันเทิงหรูหรา ย่านเอกมัย อาคาร 3 ชั้น รูปทรงแปลกตา ที่เป็นที่นิยมของนักท่องราตรีกระเป๋าหนัก ต่างมาร่วมฉลองเลี้ยงส่งท้ายปีเก่ากัน อีกทั้งยังเป็นการส่งท้ายผับแห่งนี้ เนื่องจากเจ้าของจะเลิกกิจการ คืนวันนั้น นักท่องราตรีจึงมีเยอะเป็นพิเศษ วงดนตรีวงต่างๆ ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นไปบรรเลงเพลงอย่างเมามัน จนเวลาเกือบเที่ยงคืน ซึ่งเวลานั้น เป็นหน้าที่ของ "วงเบิร์น" นักร้องประจำ ขึ้นไปสร้างความเมามันส์ และเป็นผู้นำในการนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่

...

พอเวลาเที่ยงคืนพอดีเป๊ะ พลุดอกไม้ไฟที่เตรียมไว้ ก็ถูกจุดขึ้นตัว อักษร HAPPY NEW YEAR ลุกสว่าง และพลุที่วางเรียงรายอยู่หน้าเวทีก็ถูกจุดขึ้นพร้อมกันอย่างสวยงาม โดยไม่มีใครคาดคิดว่า หายนะกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า สะเก็ดดอกไม้ไฟพุ่งขึ้นไปติดเพดาน แต่ทุกคนยังคงสนุกสนาน โดยไม่มีใครเอะใจ  จนนักร้องนำวงนี้ รู้สึกว่ามีสะเก็ดไฟตกใส่ เลยแหงนหน้ามอง ก็เห็นเปลวไฟกำลังลุกไหม้ฝ้าเพดาน

เสียงตะโกนดังขึ้น "ไฟไหม้!!!" เพื่อนร่วมวงรีบเผ่นหนีออกทางประตูหลัง ส่วนนักท่องราตรีก็เริ่มเห็นว่ามีไฟไหม้ ก่อนที่ไฟฟ้าจะดับ และสะเก็ดไปเริ่มตกใส่ตัว ทุกคนต่างพากันแตกตื่น วิ่งหนีตายกันจ้าละหวั่น เบียดเสียดยัดเยียดเหยียบกัน เพราะคืนดังกล่าวมีนักท่องราตรีร่วม 1,000 คนเต็มพื้นที่ ทั้งชั้น 1  ชั้นลอย และชั้นใต้ดินของผับ และส่วนใหญ่ก็อยู่ในอาการเมามาย ไม่มีสติ อีกทั้งประตูทางออกมามีเพียงด้านหน้าและด้านหลังที่พนักงานใช้เข้า-ออก ส่วนหน้าต่างก็ติดเหล็กดัดอย่างแน่นหนา เปลวเพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็ว รุนแรง เสียงกรี๊ด!!! เสียงร้องขอความช่วยเหลือดังระงม ควันไฟพวยพุ่งออกจากผับ ผู้คนหนีตายชุลมุน โกลาหล

ก่อนที่รถดับเพลิงและรถอาสากู้ภัย กว่า 20 คัน จะถูกระดมมาฉีดน้ำสกัดไฟ และเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงได้เข้าไปช่วยเหลือผู้คนที่ติดคาอยู่ข้างใน แต่ก็ช่วยได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะผับมีการออกแบบมาด้วยรูปทรงที่แสนแปลกประหลาด ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าช่วยเหลือ พอเพลิงสงบก็พบว่ามีผู้บาดเจ็บกว่า 200 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เริ่มเข้าไปค้นหาผู้ที่ตกค้างอยู่ด้านใน และต้องตกตะลึง!! เมื่อพบศพผู้เสียชีวิตนอนทับถมเบียดเสียด ถูกไฟคลอกดำเป็นตอตะโก ก่อนจะลำเลียงร่างออกมารวม 59 ศพ สร้างความหดหู่ใจให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในเวลานั้นยิ่งนัก

ช่วงเช้า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งกำลังได้รับตำแหน่งหมาดๆ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตการณ์ด้วยตนเอง พร้อมสั่งการให้ตำรวจดำเนินการอย่างเต็มที่ในการหาคนที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ สถานบันเทิงแห่งนี้กลายเป็นเมรุเผาศพขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ตำรวจ สน.ทองหล่อ ได้ทำสำนวนคดีรวบรวมพยานหลักฐาน ออกหมายเรียกหุ้นส่วนของผับนี้มาสอบปากคำ 13 คน และรวบรวมพยานหลักฐาน จนสืบทราบว่าผับแห่งนี้ไม่ได้รับอนุญาตในการประกอบกิจการ ซึ่งระหว่างนั้นยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 66 ศพ

...

จึงมีคำถามว่า เพราะเหตุใดตำรวจและกรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงยอมให้ผับแห่งนี้เปิดได้อย่างไร และมาเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น โดยทางตำรวจให้เหตุผลว่า ที่จริงแล้ว ผับแห่งนี้ยื่นขออนุญาตเปิดกิจการเมื่อปี 2546 แต่ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลเห็นว่า อยู่ระหว่างการก่อสร้างและอยู่นอกพื้นที่โซนนิ่ง จึงไม่อนุญาตให้เปิดกิจการ แต่ทางเจ้าของผับได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้สั่งคุ้มครอง เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2547 จนศาลปกครองออกคำสั่งคุ้มครอง ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 2547 เป็นต้นมา ทำให้สำนักงานศาลปกครอง ต้องออกมาชี้แจงตอกหน้าตำรวจว่า หลังจากศาลปกครองออกคำสั่งคุ้มครองแล้ว ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย จึงเพิกถอนคำสั่งคุ้มครอง สิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.ในปีเดียวกัน และวันที่ 7 มี.ค. 2550 ศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้ทางผู้กำกับการ สน.ทองหล่อ แพ้คดี เพราะผู้ประกอบการยื่นตั้งสถานประกอบการไม่ขัดต่อกฎหมาย อีกทั้งเจ้าของกิจการยื่นก่อนที่ พ.ร.บ.โซนนิ่ง จะออกมาบังคับใช้ และทางตำรวจได้อุทธรณ์ต่อ ซึ่งเรื่องก็อยู่ที่ศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ทันได้พิจารณา ก็มาเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเสียก่อน ซึ่งเรื่องถูก หรือผิดในการก่อสร้างผิดแบบ ก็เป็นเรื่องของตำรวจและ กทม.

หลังศาลปกครองออกมารูปแบบนี้ ทำเอา กทม.ร้อนหนาวไปตามกัน กับเรื่องการก่อสร้างผิดแบบของผับนี้ จนมีการล้อมคอกครั้งใหญ่ เรียกเจ้าของอาคารกว่า 2,000 ราย ให้รีบยื่นแบบตรวจสอบ และยังทำเอาผู้อำนวยการเขตวัฒนาและผู้อำนวยการเขตปทุมวันอดีตผู้อำนวยการเขต วัฒนา ถูกเด้งเข้ากรุ เซ่นซานติก้าผับไปตามระเบียบ

...

พนักงานสอบสวนก็ทำการรวบรวมพยานหลักฐาน จนสามารถออกหมายจับ นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ หรือ "เสี่ยขาว" หุ้นส่วนใหญ่ และนายสุริยา ฤทธิ์ระบือ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์แอนด์ บราเธอร์ จำกัด ใน 2 ข้อหา คือ ร่วมกันทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และข้อหาร่วมกันเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสถานบริการ ยินยอมและปล่อยปละละเลยให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าในสถานบันเทิง ต่อมา เสี่ยขาวได้เข้ามอบตัวกับ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร.ในขณะนั้น เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา แต่ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมขอประกันตัวด้วยเงิน 1,000,000 บาท ออกไปสู้คดี

จากนั้นก็มีการออกหมายจับ "มิว" นักร้องนำ ที่มีพยานระบุว่าเป็นคนจุดดอกไม้ไฟ จนมิวเข้ามอบตัวปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคนจุดดอกไม้ไฟตัวต้นเพลิง ส่วนนายสุริยาตำรวจเชื่อว่าหลบหนีไปต่างประเทศ และหลังจากนั้นก็มีเรื่องยาเสพติดและเรื่องการฟอกเงิน กลายเป็นมหากาพย์เรื่องยาว ระหว่างกระทรวงยุติธรรม โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ออกมาโต้ทางตำรวจเรื่องมิว นักร้องนำ ที่ไม่ได้เป็นคนจุดดอกไม้ไฟและเรื่องราวต่างๆ ในรูปคดี แต่ทำไปทำมา จนแล้วจนรอด วันที่ 19 ต.ค. 2552 พนักงานสอบสวนก็ส่งสำนวนคดีเพลิงไหม้ซานติก้าให้อัยการจนได้

โดยพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 กับโจทก์ รวมญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวม 64 คน ฟ้อง นาย วิสุข เสร็จสวัสดิ์ หรือ "เสี่ยขาว" กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (2003) จำกัด ผู้บริหารซานติก้าผับ, นายธวัชชัย ศรีทุมมา ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการ, นายพงษ์เทพ จินดา ผจก.ฝ่ายบันเทิง, นายวุฒิพงศ์ ไวลย์ลิกรี ผจก.ฝ่ายการตลาด, นายสราวุธ อะริยะ นักร้องวงเบิร์น ผู้จุดพลุไฟ, บริษัท โพกัสไลท์ ซาวน์ซิสเต็ม จำกัด ซึ่งรับจ้างติดตั้งการทำเอฟเฟกต์ ซานติก้าผับ และนายบุญชู เหล่าสีนาท กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท โพกัสไลท์ฯ เป็นจำเลยที่ 1-7 ความผิดฐานผู้ใดทำให้เกิดเพลิงไหม้เป็นเหตุให้ผู้อื่น ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายและเป็นอันตรายกับชีวิตผู้อื่น, ผู้ใดกระทำการประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ผู้ใดกระทำการให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และผู้ใดกระทำการให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 225, 291, 300, 390 และกระทำผิด พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 16/1, 16/3.27 และ 28/1 ฐานเป็นผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการปล่อยปละละเลยให้บุคคลซึ่งอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปในสถานบริการ และปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานบริการ มาตรา 291 รวม 6 ข้อหา

...

ระหว่างนั้น เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2552 มีกลุ่มผู้เสียหาย 12 คน ไปยื่นฟ้อง กทม. ต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากละเลยไม่ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมอาคารที่เปิดเป็นสถานบริการ ซานติก้าผับ กล่าวคือ โครงสร้างของอาคาร ระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพมั่นคงและปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จนเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคาร เป็นเหตุให้บุตรและทายาทของผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต โดยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหาย พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 คน จนล่าสุด ศาลปกครองอ่านคำพิพากษาให้ กทม. ชดเชยค่าเสียหายให้ทั้ง 12 คน ในจำนวนร้อยละ 20 ของค่าเสียหายทั้งหมดที่ผู้เสียหายเรียกร้อง พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา เนื่องจากศาลเห็นว่า คดีนี้มีผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดหลายส่วน และเห็นว่า กทม. มีส่วนร่วมในการปล่อยปละละเลยการตรวจตราสถานบันเทิง ซานติก้าผับ จนทำให้เกิดเหตุขึ้น จึงมีคำพิพากษาให้ กทม. ชดใช้ค่าเสียหาย

ส่วนคดีอาญา เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก นายวิสุขและนายบุญชู เหล่าสีนาท เจ้าของบริษัท โฟกัสไลท์ ซาวน์ ซิสเท็ม ซึ่งรับจ้างทำเอฟเฟกต์ให้ซานติก้าผับ เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งศาลพิเคราะห์หลักฐาน เป็นภาพถ่ายในวันเกิดเหตุ และปากคำของพยานในที่เกิดเหตุแล้ว เห็นว่า ซานติก้าผับไม่มีระบบป้องกันเพลิงไหม้ ไม่มีทางหนีไฟ ไม่มีระบบไฟฉุกเฉิน และใช้วัสดุภายในที่ติดไฟได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทางออกฉุกเฉินที่มีเพียง 4 แห่ง ถือว่าไม่ตรงตามความปลอดภัยที่กฎหมายกำหนด จึงพิพากษาให้ฐานกระทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ส่วนจำเลยที่เหลือให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมให้แก่ผู้เสียหาย เป็นเงินรวม 8.7 ล้านบาท เว้น นายสราวุธ อะริยะ นักร้องวงเบิร์น คนจุดพลุไฟขึ้นเพดาน จนทำให้เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งศาลสั่งยกฟ้อง เพราะไม่มีภาพหลักฐานปรากฏให้เห็นว่าเป็นคนจุดพลุจริง หลังจากฟังคำตัดสิน จำเลยได้ยื่นประกันตัวและขอสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์ต่อ

จนวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์ประชุมตรวจสำนวนแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องอย่างชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 ทำผิดจริง แม้จะเข้าข่ายผิด พ...ควบคุมอาคาร แต่ไม่ใช่การกระทำประมาทโดยตรง ที่จะทำให้เกิดไฟไหม้ จึงพิพากษาแก้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 คือ เสี่ยขาว จำเลยที่ 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 6 และ 7 เป็นผู้ติดตั้งเอคเฟกต์ เมื่อจุดพลุทำให้ประกายไฟติดบนเพดาน ทำให้เกิดเพลิงไหม้ อุทธรณ์จำเลยที่อ้างว่าสาเหตุไฟไหม้เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ไม่มีน้ำหนักหักล้างที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาเห็นชอบแล้วรวมค่าสินไหมทดแทน เหมาะสมแล้วจึงยืนพิพากษาตามชั้นศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 6 บริษัททำเอฟเฟกต์ ปรับ 2 หมื่นและจำคุก จำเลยที่ 7 จำนวน 3 ปี รวมทั้งให้จำเลยที่ 6 และ 7 ร่วมกันชดใช้ผู้เสียหาย 8.7 ล้านบาท

ทั้งนี้ โจทก์ที่เป็นผู้เสียหายหลายราย ยืนยันว่า จะฎีกาสู้ต่อ อย่าง นางสาวรัตนา แซ่ลิ้ม หนึ่งในเหยื่อเพลิงไหม้ซานติก้าผับ ที่ต้องเสียโฉมและกลายเป็นคนพิการ ยืนยันว่า จะสู้ต่อในชั้นฎีกา แม้ว่าวันนี้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้อง ซึ่งยอมรับว่าเสียใจ หลังได้ฟังคำตัดสิน

"จะฎีกาต่อ เพราะผู้เสียหายที่ไปฟังวันนี้ ก็ยืนยันจะสู้ต่อ ตอนที่ฟังศาลพิพากษายกฟ้อง รู้สึกเสียใจ ทำไมศาลชั้นต้นสั่งจำคุกเขา แต่ทำไมศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง แล้วบอกไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจน แต่ยังไงก็จะสู้ต่อไป แต่ก็จะยอมรับไม่ว่าผลจะออกมายังไง ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยได้ยินคำขอโทษจากตัวเขาเลย อีกอย่างก็ไม่เคยมาคุยด้วย มีแต่ทนายกับตัวแทนที่มาคุยตอนที่อยู่โรงพยาบาล และตอนที่เขาโทรศัพท์มายื่นข้อเสนอเงินค่าชดเชย แต่ไม่ได้รับโทรศัพท์ ซึ่งถ้าเขาจะขอโทษเขาก็ต้องออกมาขอโทษแล้ว ทุกวันนี้ก็ไม่เห็นเขาเดือดร้อนอะไร ก็อยู่ดีมีสุข แต่ไม่ว่ายังไง เราก็จะไม่เห็นแก่เงินเล็กเงินน้อย เราต้องเอาเขามาลงโทษให้ได้ ซึ่งตอนที่ศาลอ่านคำพิพากษา เขาก็แสดงอาการดีใจออกมา แต่เรานี้สิ รู้สึกเสียใจ รู้สึกแย่เลย"

นอกจากนี้ เหยื่อในเหตุการณ์ซานติก้าผับ ยังเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นให้ฟังว่า