กรณีแก๊งขี้ยาสิ้นคิดก่อเหตุร่วมกันปล้นและข่มขืนนักท่องเที่ยวแหม่มชาวรัสเซียกลางเมืองพัทยา บริเวณถนนพระตำหนักซอย 2 หมู่ 12 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เหตุเกิดวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา
เป็นคดีสะเทือนขวัญต่อความรู้สึกของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ
ไม่ใช่คดีแรกๆที่เกิดขึ้นในเมืองท่องเที่ยวที่ติดอันดับของโลกอย่างเมืองพัทยา แต่เป็นเพียงบางส่วนที่เป็นคดี กลายเป็นข่าวที่ทำลายภาพพจน์การท่องเที่ยวไทยย่อยยับ
ไม่ว่าจะเป็นคดีลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ คดีข่มขืนกระทำชำเรานักท่องเที่ยว คดีทำร้ายร่างกาย หรือข่มขู่รีดไถนักท่องเที่ยว ทุกคดีที่เกิดขึ้นมีความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของนักท่องเที่ยว
โดยเฉพาะความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวที่เป็นจุดขายของการท่องเที่ยว
กลายเป็นเรื่องที่มีผลกระทบอย่างมากต่อนโยบายเร่งรัดรายได้จากการท่องเที่ยวของรัฐบาล
นโยบายสำคัญของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ที่ได้เน้นกำชับให้เป็นหน้าที่สำคัญของเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกหน่วย จะต้องเข้ามาสนับสนุนภารกิจด้านการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นในระบบการรักษาความปลอดภัยสถานที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ
ทุกครั้งที่มีเหตุเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว ใช้ ศปก.ตร.เป็นศูนย์ประสานติดตามคดีใกล้ชิด
คดีแก๊งปล้นข่มขืนนักท่องเที่ยวรัสเซียในพื้นที่เมืองพัทยา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ได้ให้ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.ที่รับผิดชอบพื้นที่ภาค 2 พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่เชี่ยวชาญในด้านนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมทีม พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.ภ.2 พล.ต.ต.คัชชา ธาตุศาสตร์ ผบก.ภ.จ.ชลบุรี
จากพยานหลักฐานที่ได้จากกล้องวงจรปิด ซึ่ง พล.ต.ท.วินัยได้กำชับให้ติดตั้งในพื้นที่ล่อแหลม ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวในพื้นที่รับผิดชอบภาคตะวันออกทั้งหมด เพื่อป้องกันเหตุ ทำให้ได้เส้นทางหลบหนีของกลุ่มคนร้ายและภาพรถกระบะโตโยต้า รุ่นไมตี้– เอ็กซ์ สีน้ำเงิน ทะเบียน บธ 7200 ชลบุรี
การสืบสวนที่ได้นักสืบทั้ง พล.ต.ท.วินัย และ พล.ต.ต.คัชชา ทำให้ได้พยานหลักฐานรถคันก่อเหตุ และกลุ่มบุคคลต้องสงสัย ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นอยู่ในพื้นที่ จนสามารถรวบตัวคนร้ายครบทั้ง 3 คน
โดยมี พล.ต.ท.จรัม– พร เข้ามาประสานในเรื่องการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน ทำให้คดีปิดได้อย่างรวดเร็ว
ความร่วมมือทุกหน่วยทำให้ได้หลักฐานครบ ถ้วนทั้งพยานบุคคล พยานวัตถุและหลักฐานวิทยาศาสตร์
การเยียวยาบรรเทาความรู้สึกของผู้เสียหายชาวต่างชาติที่ประสบเหตุในประเทศไทย
เป็นไปตามนโยบายของ พล.ต.อ.อดุลย์ ที่ต้องการเห็นภาพการขับเคลื่อนระบบการทำงานที่ได้มาจากความร่วมมือกันของทุกหน่วย ไม่ใช่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นแย่งชิงผลงานกันเอง ทุกคดีที่เกิดขึ้นไม่ว่าคดีเล็กใหญ่ ทุกฝ่ายมีความสำคัญ ทั้งฝ่ายสืบสวน สอบสวน สายตรวจ หรือผู้เชี่ยวชาญ เป็นผลจากการทำงานที่เป็นระบบสากล
คดีที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวทุกคดี มอบหมาย รอง ผบ.ตร.หรือผู้ช่วย ผบ.ตร.รับผิดชอบเพื่อให้คดีคืบหน้า
จากคดีที่เป็นความเสียหายอย่างหนักต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว แต่การทำงานด้วยความตั้งใจของตำรวจทุกฝ่าย ทำให้ผู้เสียหายมีความเชื่อมั่นในการทำงาน จนทำให้สถานการณ์ความกดดันคลี่คลายลงมาได้
เพราะผู้เสียหายได้เห็นการทำงานชนิดไม่ได้หยุดของ พล.ต.ท.วินัย และ พล.ต.ต.คัชชา ลงมาร่วมสืบสวนสอบสวนด้วยตัวเอง และขบวนการดูแลผู้เสียหายตลอดช่วงที่อยู่ในประเทศไทย
ได้รับเสียงชมเชยจากสถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทยและได้รับคำขอบคุณจากผู้เสียหาย
แต่เหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวติดต่อกันเป็นเรื่องที่ปล่อยไม่ได้ พล.ต.อ.อดุลย์เรียกประชุม ผบช. และ ผบก.ที่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อเน้นกำชับเพิ่มความเข้มข้นมาตรการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว
โดยมอบ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร.ปป.เป็นผู้รับผิดชอบ
กำหนดพื้นที่เป้าหมายนำร่องเมืองพัทยา และเมืองภูเก็ต เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงคดีเกิดกับนักท่องเที่ยวมาก
ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ. ปานศิริ ได้มอบหมาย พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ที่ปรึกษา (สบ 10) เทียบเท่า รอง ผบ.ตร.ประสานทุกภาคส่วนจัดพื้นที่ปลอดภัย หรือ “เซฟตี้โซน” ในพื้นที่เมืองภูเก็ต ทำให้จำนวนคดีลดน้อยลง
ตามแผนปฏิบัติการ พล.ต.อ.อดุลย์ ได้แยกเป็น 2 ส่วนคือ แผนระยะสั้น สนธิกำลังตำรวจในพื้นที่และหน่วยสนับสนุน แสดงกำลังเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่สุ่มเสี่ยง ระดมกวาดล้าง ตรวจค้นเป้าหมาย คดีชิงทรัพย์ การใช้อาวุธ ยาเสพติด หมายจับค้างเก่า และแผนระยะยาว ประสานทุกส่วน กำหนดพื้นที่ปลอดภัยหรือ “เซฟตี้โซน” ประสานหน่วยงานท้องถิ่น “จัดระเบียบ” ผู้ประกอบการทั้งรถแท็กซี่ป้ายดำ เจ็ตสกี ไกด์เถื่อน จิวเวลรี่หลอกลวงนักท่องเที่ยว
โดยจะเน้นการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
เป็นภาพรวมของการขับเคลื่อนสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาลในเรื่องการดูแลนักท่องเที่ยว พล.ต.อ.อดุลย์ไม่ได้มองข้ามในสิ่งที่คิดว่าจะเป็นปัญหากระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทย
ได้ประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวโดยเร็วที่สุด โดยเน้นในพื้นที่ “เมืองพัทยา” และ “จ.ภูเก็ต” ให้ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต เป็นผู้รับผิดชอบภาพรวมงานป้องกันและปราบปราม พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ ที่ปรึกษา (สบ 10) เทียบเท่า รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบ ฝ่ายอำนวยการปฏิบัติแผน เชื่อมต่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบพื้นที่ภาค 2 และ พล.ต.อ.รชต เย็นทรวง ที่ปรึกษา (สบ 10) เทียบเท่า รอง ผบ.ตร.รับผิดชอบพื้นที่ภาค 8
เป็นหลักการบริหารที่เฉียบขาดของ พล.ต.อ.อดุลย์ ที่แบ่งงาน รอง ผบ.ตร.ได้ทำงานเต็มที่
จนทำให้มีแนวนโยบายทำงานเป็น “เอกภาพ” เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์กรตำรวจ
พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต ย้ำว่า ขณะนี้มีคดีเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวมาก โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองพัทยา และ จ.ภูเก็ต โดยนโยบาย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. จะเน้นการบูรณาการกำลัง ไม่ใช้ตำรวจในพื้นที่พัทยาและภูเก็ตเท่านั้น จะมีการเสริมกำลังตำรวจพื้นที่ใกล้เคียง กองปราบปราม ตำรวจท่องเที่ยว อาสาสมัครชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาร่วมกันตรวจป้องกันพื้นที่ มี รอง ผบช.ในพื้นที่เป็นหัวหน้าอำนวยการร่วมกับ ผบก.ภ.จ. จะมีการกำหนดกำลังลงในพื้นที่ตั้งแต่
วันที่ 10 ม.ค.นี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวในพื้นที่เสี่ยงคดีเกิดบ่อยครั้ง หรือมีปัญหาด้านกายภาพจะประสานส่วนท้องถิ่นติดตั้งไฟฟ้าและกล้องวงจรปิด เพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยหรือ “เซฟตี้โซน”
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เสริมกับ “ทีมข่าวอาชญากรรม” เช่นกันว่า ได้เน้นย้ำในเรื่องเหตุที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวมาโดยตลอด เพราะทุกคดีที่เป็นข่าวออกไปทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว จะใช้ ศปก.ตร.เป็นผู้ติดตามประเมินสถานการณ์ โดยได้วางแผนดำเนินการ 2 ขั้นตอน คือระยะสั้น ระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยกันยับยั้งสถานการณ์ ควบคุมเหตุรุนแรงให้ได้ โดยให้ตั้งกองอำนวยการส่วนหน้าในพื้นที่เมืองพัทยา และ จ.ภูเก็ต ให้รอง ผบช.เป็นผู้รับผิดชอบ กำหนดช่วงแรก 30 วัน โดยบูรณาการทุกฝ่ายทั้งตำรวจภูธร กองปราบปราม ตำรวจทางหลวง ตำรวจท่องเที่ยว สตม. ตชด. บช.ปส. กวาดล้างกลุ่มเสี่ยงในเรื่องยาเสพติด อาวุธปืน ผู้ต้องสงสัย ผู้มีอิทธิพล และผู้ที่มีประวัติคดีค้างเก่า ทำลายเครือข่ายในพื้นที่ จะเริ่มปฏิบัติงานจริงจังช่วงสัปดาห์หน้า เพื่อทำให้ผู้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นในระบบความปลอดภัยของเมืองท่องเที่ยว
“ในส่วนระยะยาวเป็นแผนที่ทำให้การแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน ต้องมองปัญหาทุกด้าน ทั้งในหน้าที่การดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และในส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการรีดไถ เอาเปรียบ หลอกลวงนักท่องเที่ยว บูรณาการร่วมกับฝ่ายท้องถิ่น อบต. อบจ.หรือจังหวัด กรมการขนส่ง โดยใช้ทั้งกฎหมายท่องเที่ยวและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดระเบียบการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง กำหนดพื้นที่ปลอดภัย หรือ “เซฟตี้โซน” ติดตั้งกล้องวงจรปิด ดำเนินการกับผู้กระทำผิดในพื้นที่อย่างจริงจัง ทั้งแท็กซี่ป้ายดำ เจ็ตสกี ร้านจิวเวลรี่ หลอกลวงนักท่องเที่ยว รวมทั้งการตรวจสอบรายชื่อนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอยู่ในแต่ละจังหวัด ทำเป็นฐานข้อมูล เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการควบคุมดูแลนักท่องเที่ยว จะเป็นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน”
จะเห็นได้ว่าแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้น คลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว เป็นผลจากการบริหารงานแนวใหม่ของ พล.ต.อ.อดุลย์ ที่ไม่เหมือนใคร เพราะใช้การระดมแนวคิดของตำรวจทุกระดับผ่านทาง ศปก.ตร.เพื่อรับฟังข้อมูลเชิงลึก วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ สั่งการเป็นระบบ มีผู้รับผิดชอบชัดเจน มี “เอกภาพ” ชัดเจน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กใหญ่ขนาดไหน คลี่คลายได้จากประสบการณ์ของตำรวจทุกระดับชั้น ระดมความคิดผ่านระบบร่วมศูนย์ที่ใช้ ศปก.ตร.เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ และร่วมกันคลี่คลายแก้ไขสถานการณ์ทุกเรื่อง เป็นความตั้งใจที่แน่วแน่ของ พล.ต.อ.อดุลย์
เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ.
...
ทีมข่าวอาชญากรรม