แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว “บริเวณเมืองลอยกอ ประเทศเมียนมา” ส่งผลกระทบต่ออาคารบ้านเรือนหลายพื้นที่ในไทยตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ ก่อเกิดการแตกร้าวของผนัง เสา และโครงสร้างจนผู้อยู่อาศัยหวาดกลัวจะเกิดการพังทลาย หรือเสียหายมากขึ้นในอนาคต

เหตุนี้การสำรวจตรวจสอบอาคารเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ทราบถึง “ความมั่นคงของโครงสร้าง” เพื่อช่วยให้ผู้อยู่อาศัยมั่นใจในความปลอดภัย และลดความกลัวว่าการเกิดแผ่นดินไหวครั้งถัดไปอาจทำให้เกิดอันตราย

แต่การประเมินความปลอดภัยนี้ต้องทำให้เร็ว ถ้าเปิดดูคู่มือการสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมืองปี 2560 นำมาเผยแพร่ไม่นานนี้ที่แนะนำการสำรวจอย่าง “อาคารโครงสร้างไม้” เมื่อมีแผ่นดินไหวส่วนมากจะเกิดความเสียหายขึ้นเฉพาะจุดต่อ (connection)

รอยร้าวแผ่นดินไหว ตำราชี้อาคารเสี่ยง!

ควรเน้นสำรวจจุดต่อชิ้นส่วนโครงสร้างไม้ หากเสียหายรุนแรงจะสังเกตได้จากตัวอาคาร หรือเสาเคลื่อนหลุดออกจากฐานรากของอาคาร และมีการฉีกขาดชิ้นส่วนโครงสร้างจุดต่อ การฉีกขนานเสี้ยน การฉีกตั้งฉากเสี้ยน การหัก แสดงว่าอาคารสูญเสียสมรรถนะรับกำลังหากรับแรงแผ่นดินไหวเพิ่มในอนาคตอาจพังถล่มได้

...

ถัดมา “อาคารโครงสร้างอิฐก่อ” ที่มักไม่มีการเสริมเหล็กโดยมีผนังก่อสร้างด้วยอิฐมอญ อิฐบล็อก หรืออิฐบล็อกประสานรับน้ำหนักจากคาน พื้น หลังคา “การพังทลาย” จะเป็นผลจากการเอนออกจากระนาบผนังก่ออิฐ

 สังเกตความเสียหายเริ่มต้นจาก “ผนังเกิดการแตกร้าวในแนวทแยง” เป็นรูปขั้นบันไดตามแนวของปูนก่อซึ่งเป็นผลจากแรงสั่นสะเทือนในช่วงเริ่มต้น “ไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพของผนัง” หากการสั่นสะเทือนรุนแรงรอยแตกร้าวจะกว้างมากขึ้น “ผนังไม่อาจคงสภาพในระนาบต่อได้” ทำให้ผนังส่วนนั้นพังถล่มบางส่วน หรือทั้งหมดก็ได้

ฉะนั้น การตรวจสอบความเสียหายขั้นต้นนอกจากดูรอยแตกร้าวแนวทแยงขนาดใหญ่ผนัง และการเคลื่อนหลุดออกจากระนาบผนังแล้วผู้สำรวจสามารถสังเกตลักษณะความเสียหายอื่นๆของอาคารโครงสร้างอิฐก่อ ไม่ว่าจะเป็นรอยแตกร้าวในแนวนอนที่ฐานผนัง รอยแยกระหว่างโครงสร้างพื้น หรือหลังคาและผนังอิฐก่อ

ทั้งสังเกตการถอนอุปกรณ์ยึดต่างๆระหว่างโครงสร้างพื้น หรือหลังคา ผนังอิฐก่อ รวมถึงการเอนออกจากระนาบของผนังอิฐก่อ หากตรวจพบความเสียหายของอาคารโครงสร้างอิฐก่อนั้น แสดงว่าอาคารได้สูญเสียสมรรถนะในการรับแรงไปอย่างมาก “อาจพังถล่มได้” หากเกิดแผ่นดินไหวตามหรือมีแรงกระทำอื่นในอนาคต

ในส่วน “อาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก” ส่วนใหญ่เป็นโครงข้อแข็งรับแรงดัด (rigid moment frame) มีคานเป็นโครงสร้างแนวราบ เสาเป็นโครงสร้างแนวดิ่ง และมีผนังอิฐก่อเป็นผนังกั้นภายนอก

รอยร้าวแผ่นดินไหว ตำราชี้อาคารเสี่ยง!

ความเสียหายทั่วไปมักตรวจพบ “ในโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก” ตั้งแต่ 1.การเอนหลุดออกจากตำแหน่งเสามีการโย้ 2.รอยแตกร้าวทแยงจากแรงเฉือนที่เสาหรือกำแพงรับแรงเฉือน 3.การโก่งเดาะเหล็กเสริมในเสาหรือกำแพงรับแรงเฉือน 4.รอยแตกร้าวทแยงจุดต่อเสาและคาน 5.รอยแตกร้าวหลุดล่อนเนื้อคอนกรีตปลายคาน

ข้อ 6.รอยแตกร้าวที่พื้น-ในผนังอิฐก่อ และการหลุดห้อยผนังแผ่นคอนกรีต “โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กแผ่นพื้นท้องเรียบ (flat slab)” ควรดูการวิบัติแบบเฉือนทะลุการฉีกขาดแผ่นพื้นแนวคานกำแพงรับน้ำหนัก

สำหรับ “โครงสร้างแผ่นพื้นสำเร็จรูป (precast slab)” ความเสียหายเล็กน้อยที่แผ่นพื้นอาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้จากการขาดโครงสร้างส่วนเผื่อ (redundancy) ในแนวถ่ายเทแรงของระบบโครงสร้าง จึงต้องสำรวจความเสียหายแผ่นพื้นที่อยู่ขนานกับโครงอาคาร และรอยร้าวแนวนอนตลอดความกว้างปีกแผ่นพื้นชนิด double-tee

แม้แต่การฉีกขาดแผ่นพื้นที่ปลายแผ่นฐานรองรับ รอยแตกร้าวแนวนอนตลอดความยาวส่วนเอวแผ่นพื้นชนิด hollowcore รอยร้าวแนวนอนความกว้างปีกแผ่นพื้นชนิด hollowcore ทั่วไปจะเกิดขึ้น 30-60 ซม.จากฐานรองรับรอยแตกร้าวในแนวทแยงเนื่องจากแรงดัด หรือแรงเฉือนส่วนเอวของแผ่นพื้นชนิด hollowcore

ในส่วนโครงสร้างพื้นหล่อที่รองรับด้วยแผ่นเหล็ก (steel decking) เป็นระบบพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กวางอยู่บนโครงสร้างเหล็กรูปพรรณ ความเสียหายที่ควรสำรวจ คือ การฉีกขาดแผ่นพื้น และคานเหล็กรูปพรรณ

ย้ำการระบุระดับความเสียหาย “โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก” ถูกออกแบบมีความเหนียวรองรับความเสียหายได้มากจนกว่าจะเกิดการพังถล่ม ดังนั้นการตรวจสอบแบ่งระดับความเสียหายเป็น 3 ระดับ คือ

ระดับแรก...“ความเสียหายเล็กน้อย” จะมีรอยแตกร้าวขนาดเล็กที่ผิวชิ้นส่วนโครงสร้างไม่ส่งผลสมรรถนะรับน้ำหนัก “ความเสียหายระดับกลาง” อาจไม่ส่งผลสมรรถนะการรับน้ำหนักอาคารเมื่อรองรับแรงแผ่นดินไหวในอนาคตได้จาก “โครงสร้างเกิดรอยแตกร้าวเห็นชัด” แต่ยังไม่เห็นเหล็กเสริมรอยแตกร้าว

...

รอยร้าวแผ่นดินไหว ตำราชี้อาคารเสี่ยง!

อย่างเช่น พื้นด้านบน-ล่างผิวพื้นรอบเสา และรอยต่อระหว่างพื้น-คานมีรอยแตกร้าวกว้างระหว่าง 1 มิลลิเมตร (มม.) แต่ไม่เกิน 5 มม. ช่วงกลางคานรอยต่อคาน-เสามีการหลุดล่อนบางส่วนของคอนกรีตบริเวณจุดต่อ

รอยแตกร้าวทแยงกว้างมากกว่า0.2 มม.แต่ไม่เกิน 2 มม. “กำแพงรับแรง” รอยแตกร้าวกว้างระหว่าง 1 มม.ไม่เกิน 2 มม. ความเสียหายระดับนี้ยังใช้งานได้แต่ควรตรวจอย่างละเอียดเพื่อยืนยันความปลอดภัยในการใช้งาน

สุดท้ายคือ “ระดับความเสียหายรุนแรง” ส่งผลต่อสมรรถนะอาคารที่อาจเกิดการพังถล่มได้เมื่อรับแรงแผ่นดินไหวตามหรือแรงอื่นๆ ซึ่งชิ้นส่วนโครงสร้างมักจะมีรอยแตกร้าว และการหลุดล่อนเนื้อคอนกรีตขนาดใหญ่จนเห็นเหล็กเสริมได้ชัดเจน และเหล็กเสริมอาจเกิดการโก่งเดาะด้วย บ่งบอกโครงสร้างสูญเสียกำลังการรับแรงไปมาก

ตัวอย่างพื้นด้านบน-ล่างผิวพื้นรอบเสาและรอยต่อพื้น-คานแตกร้าวกว้างกว่า 5 มม. มีการปริแตกคอนกรีตกว้างเห็นเหล็กเสริมชัด “กลางคานรอยต่อคาน–เสา” โก่งเดาะเหล็กเสริม และแตกหักแกนกลางเนื้อคอนกรีต

...

แล้วช่วงเสาจุดต่อเสาคาน-กำแพงรับแรงมีรอยแตกร้าวกว้างมากกว่า 2 มม. มีการปริแตกคอนกรีตกว้างเห็นเหล็กเสริมได้ชัด และโก่งเดาะเหล็กเสริมแตกหักแกนกลางเนื้อคอนกรีตที่จะถูกห้ามใช้งานต้องได้รับการตรวจสอบละเอียดจากวิศวกรประเมินถึงการรื้อถอน หรือกำหนดวิธีซ่อมแซมให้มีความปลอดภัยพอใช้งานต่อได้

นี่เป็นคู่มือ “สำรวจความเสียหายอาคารขั้นต้นหลังเกิดแผ่นดินไหว” หากไม่มั่นใจโทร.สายด่วน 1531 กสทช.เปิดให้กรม โยธาธิการและผังเมืองรับแจ้งอาคารได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวโทร.ฟรี...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม