เผยไซต์งานก่อสร้างเทอร์มินัลใหม่สนามบินนราธิวาส ที่บริษัทจีนเป็นคู่สัญญาก่อสร้าง หยุดงาน 3 วัน วิศวกรคุมงานไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ขึ้นไปทำธุระที่ กทม. ส่วนเรื่องรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับโครงการฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปิดปากเงียบ โยนถาม “กรมท่าอากาศยาน”

จากกรณี นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ได้เปิดเผยจากการตรวจสอบโครงการต่างๆ ของกรมท่าอากาศยาน พบว่ามี 1 โครงการ ได้แก่ โครงการจ้างก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่และสิ่งก่อสร้างประกอบอื่น ๆ พร้อมครุภัณฑ์อำนวยความสะดวกท่าอากาศยานนราธิวาส ในวงเงิน 639 ล้านบาท ที่มีผู้รับจ้างคือ กิจการร่วมค้าซีไอเอส ประกอบด้วย บริษัท ไอเอสโอ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งบริษัท ไชน่า เรลเวย์ เป็นหนึ่งในบริษัทที่สร้างตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สตง. แห่งใหม่ ที่เกิดเหตุถล่มลงมาจากแผ่นดินไหวช่วงที่ผ่านมา ที่เริ่มสัญญาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 สิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2568 ซึ่งในช่วงปลายปี 2567 ได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่นราธิวาส ทำให้ได้รับการขยายอายุสัญญา โดยผลงานของโครงการในเดือน ก.พ. 2568 มีความคืบหน้าเพียง 0.64% ส่งผลให้ภาพรวมของโครงการล่าช้ากว่า 61.27% มีแนวโน้มว่าผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา

เจ้าหน้าที่สนามบินนราธิวาส โยนถาม “กรมท่าอากาศยาน” ปมสร้างเทอร์มินัลใหม่ล่าช้า

...

โดยกรมท่าอากาศยานได้เชิญผู้รับจ้างเข้าประชุมเร่งรัดงาน ในวันที่ 4 มี.ค. 2568 และมีเงื่อนไขว่า หากภายใน 2 เดือน โครงการไม่คืบหน้าเดือนละ 5% กรมท่าอากาศยานจะยกเลิกสัญญา และแจ้งชื่อเป็นผู้ทิ้งงาน เนื่องจากผิดสัญญาจ้างตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันอยู่ในช่วงติดตามผลการเร่งรัด ซึ่งผู้รับจ้างทำผลงานเดือนที่ 1 (มี.ค. 2568) พบว่าได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาก มีความคืบหน้าเพียง 0.51% ส่งผลให้ภาพรวมโครงการคืบหน้าเพียง 39.24% ล่าช้ากว่าแผน 60.76% หรือล่าช้ากว่า 631 วัน ทางกรมท่าอากาศยานได้ส่งจดหมายเตือน และติดตามผลงานในเดือนที่ 2 (เม.ย. 2568) ต่อไป หากผู้รับจ้างไม่สามารถเร่งรัดงานได้ตามที่กำหนด แสดงว่าผู้รับจ้างไม่มีความสามารถที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ กรมท่าอากาศยานจะยกเลิกสัญญา และแจ้งชื่อเป็นผู้ทิ้งงานจะทำให้ไม่สามารถรับงานกับหน่วยงานรัฐได้อีก

เจ้าหน้าที่สนามบินนราธิวาส โยนถาม “กรมท่าอากาศยาน” ปมสร้างเทอร์มินัลใหม่ล่าช้า

นอกจากนี้นางมนพร ได้มีการมอบหมายให้กรมท่าอากาศยาน แจ้งที่ปรึกษาควบคุมงาน ตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้าง มาตรฐานวัสดุ อุปกรณ์ในการก่อสร้างของผู้รับเหมา ที่ได้ดำเนินการมาแล้วทั้งระบบอย่างละเอียด และให้รายงานทราบภายใน 3 วัน หากพบสิ่งผิดปกติให้รายงานและแก้ไขโดยเร่งด่วนด้วย และยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการก่อสร้าง โดยเฉพาะในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง จะต้องได้มาตรฐานตามแบบแผนที่กำหนด รวมถึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและผ่านตรวจเช็คจากวิศวกรผู้ควบคุมงานอย่างใกล้ชิดนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ที่ จ.นราธิวาส จากการเดินทางไปตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนราธิวาส ซึ่งการก่อสร้างอยู่บริเวณด้านขวามือของอาคารที่พักผู้โดยสารหลังเก่า ที่ผู้สื่อข่าวไม่สามารถเดินเข้าไปตรวจสอบได้ พบว่า ในวันนี้ไม่ได้มีการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด โดยสังเกตได้มีรถเครนรถบรรทุกของโครงการจอดอยู่ภายใน และยังมีอุปกรณ์นั่งร้านไว้สำหรับต่อขึ้นเพื่อก่อสร้างชั้นสูงวางอยู่ เหมือนลักษณะโครงการดังกล่าวยังไม่ได้ทิ้งร้างจากผู้รับเหมาแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่สนามบินนราธิวาส โยนถาม “กรมท่าอากาศยาน” ปมสร้างเทอร์มินัลใหม่ล่าช้า

และจากการสอบถามยามบริเวณโครงการก่อสร้างดังกล่าว ทราบว่า โครงการดังกล่าวได้หยุดงานตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 68 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 3 วัน เนื่องจากวิศวกรคุมงานเป็นคนมุสลิมในพื้นที่ จึงขอหยุดงานในช่วงเทศกาลวันฮารีรายอของชาวไทยมุสลิม ที่ปัจจุบันมีคนงานก่อสร้างเป็นชาวพม่าประมาณ 60 คน และจากการติดต่อของยามไปยังวิศวกร เพื่อขออนุญาตให้สื่อได้เข้าไปถ่ายภาพการก่อสร้างของโครงการดังกล่าว ทราบว่า วิศวกรไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ได้ขึ้นไปทำธุระที่กรุงเทพมหานคร

...

นอกจากนี้แล้วผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสอบถามและประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ของโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนราธิวาส ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแจ้งว่า ถ้าต้องการทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ต้องไปสอบถามทางกรมท่าอากาศยานกรุงเทพฯ เท่านั้น

เจ้าหน้าที่สนามบินนราธิวาส โยนถาม “กรมท่าอากาศยาน” ปมสร้างเทอร์มินัลใหม่ล่าช้า

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนราธิวาสแห่งนี้ ผู้ตรวจราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนราธิวาส ประสานข้อมูลกับท่าอากาศยานนราธิวาส ในประเด็นที่ได้มีการตั้งข้อสังเกตไว้ สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ และสิ่งก่อสร้างประกอบอื่นๆ พร้อมครุภัณฑ์อำนวยความสะดวกท่าอากาศยานนราธิวาส ทางกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ปี 2563 ถึง 2565 จำนวน 800 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการฯ โดยกิจการร่วมค้า ซีไอเอส เป็นผู้รับจ้าง ตามสัญญาเลขที่ 63/2565 เริ่มสัญญา 16 มีนาคม 2565 สิ้นสุดสัญญา 29 พฤศจิกายน 2567 ระยะเวลาในสัญญาคงเหลือ 101 วัน มีการแจ้งหนังสือเร่งรัดความก้าวหน้างานก่อสร้าง จำนวน 13 ฉบับ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่มีวงเงินงบประมาณสูง และเกรงว่าจะก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เนื่องจากพบปัญหาอุปสรรคหลายประการ ประกอบกับจะมีการขอขยายระยะเวลา ทางสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนราธิวาส จึงได้เข้ามาให้คำแนะนำและข้อสังเกตในประเด็นต่างๆ เพื่อหาแนวทางดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการและประชาชน รวมถึงป้องปรามการทุจริต

...