โยธาฯ รุดตรวจสอบ อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสงขลา ที่มี “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย)” เป็นคู่สัญญาสร้างตึก มั่นใจได้มาตรฐาน เหล็กเส้น-ปูนซีเมนต์ นำมาจากบริษัทมาตรฐานระดับประเทศ ส่วนโครงการอาคารที่พักของข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค 9 สงขลา ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ เนื่องจากเป็นของหน่วยงานตุลาการ
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ที่ จ.สงขลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (1 เม.ย. 68) นายไมตรี สรรพสิน โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา นำเจ้าหน้าที่โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา เข้าตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสงขลา ที่ ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา หลังเพจ Facebook CSI LA โพสต์ข้อมูลพร้อมรูปภาพ ระบุว่าบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด (CREC NO.10) ซึ่งเป็นบริษัทที่รับเหมาก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง.หลังใหม่ ที่ถล่มหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว คือผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสงขลาดังกล่าวด้วย
โดยเจ้าหน้าที่โยธาธิการและผังเมือง จังหวัดสงขลา ได้ตรวจสอบโครงสร้างของอาคารทุกส่วน โดยเฉพาะเสาอาคาร และพื้นอาคาร ว่ามีรอยแตกร้าวหรือไม่ โดยมีการจดเช็กลิสต์อย่างละเอียด
นายไมตรี สรรพสิน โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา เปิดเผยหลังการตรวจสอบว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบโครงสร้างภายในและโครงสร้างหลักโดยเฉพาะเสาอาคาร ส่วนโครงสร้างรอง เช่น ผนังก่ออิฐ และจุดที่ฉาบปูนทั้งหมดไม่พบรอยร้าว หรือรอยแตกใดๆ ทุกจุดอยู่ในสภาพเดิม
และจากการตรวจสอบด้วยสายตา ก็พบว่าเหล็กเส้นที่นำมาทำโครงสร้างอาคาร รวมทั้งปูนซีเมนต์ มีการนำมาจากบริษัทที่ผ่านมาตรฐานระดับประเทศ และเป็นบริษัทที่ผลิตคอนกรีตสำหรับโครงสร้างโดยเฉพาะ จึงมั่นใจว่าได้มาตรฐาน
ส่วนเหล็กหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้นำตัวอย่างไปทดสอบตั้งแต่ก่อนนำมาใช้งานแล้ว และผลตรวจสอบก็พบว่ามีมาตรฐานตามแบบแผนที่กำหนดไว้ แต่ก็ต้องไปย้อนดูข้อมูลเดิมตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างว่าใช้เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่
...
ส่วนโครงการอาคารที่พักของข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค 9 สงขลา เจ้าหน้าที่โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา ยังไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ เนื่องจากเป็นของหน่วยงานตุลาการ โยธาธิการจังหวัดไม่ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบ
ด้าน นายศุภโชค ภักดี วิศวกรประจำโครงการ ยืนยันว่า เหล็กโครงสร้างอาคารที่มีการนำออกมาก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสงขลา ได้มาตรฐาน เนื่องจากได้ผ่านการทดสอบของกรมโยธาธิการและผังเมือง รวมทั้งกองแบบแผน กระทรวงสาธารณสุข ก็ตรวจสอบแล้ว ซึ่งก่อนที่จะนำวัสดุมาก่อสร้างก็ต้องนำตัวอย่างไปตรวจสอบจาก 3 หน่วยงาน ซึ่งเหล็กที่มีการนำมาใช้ก็เป็นเหล็กในท้องตลาด แนะนำมาจากหลายบริษัท ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก. และผ่านผลทดสอบ แต่ก็ต้องตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง 2 ปีก่อนที่ตนจะเข้ามาทำงานในโครงการนี้ ว่ามีการนำเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานและทำให้เกิดเหตุอาคาร สตง.ถล่มมาใช้กับโครงการนี้หรือไม่ ทั้งนี้ตนก็ไม่กังวล เนื่องจากมีการนำวัสดุที่ได้มาตรฐานมาใช้ในทุกขั้นตอนของการก่อสร้าง

ทั้งนี้จากการตรวจสอบบริเวณพื้นที่ก่อสร้างพบกองเหล็กข้ออ้อยขนาด 28 มม. ซึ่งพบว่าแต่ละเส้นมีอักษรนูนพิมพ์ตัวอักษร SD40T DB28 โดยเป็นเหล็กชนิดที่มีการทำเกลียวบริเวณหัวตัดเหล็ก ขณะอีกแบบก็มีใส่ข้อต่อเอาไว้บริเวณ และเมื่อก่อสร้างก็จะนำเหล็กทั้ง 2 แบบมาต่อกันผ่านเกลียวข้อต่อ
ด้าน นายแพทย์ รัตนพล ล้อประเสริฐกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา ให้ข้อมูลว่า โครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ 9 ชั้น เป็นโครงสร้างต้านแผ่นดินไหว ใช้งบประมาณก่อสร้าง 426,900,000 บาท โดยผู้รับเหมาก่อสร้าง คือกิจการร่วมค้า AKC ระหว่าง บริษัท อัครกร ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เริ่มสัญญาจ้างตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2565 และจะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 ซึ่งขณะนี้มีการก่อสร้างไปแล้วประมาณ 50% ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ 50% โดยบริษัทขอขยายระยะเวลาของสัญญา 158 วัน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงผังอาคารห้องเครื่องและประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งโครงการนี้กำหนดงวดงานทั้งหมด 35 งวด และดำเนินการไปแล้ว 935 วันคงเหลือ 125 วัน โดยมีการตรวจรับงวดงานไปแล้ว 15 งวด ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างงวดที่ 16 เหลือการก่อสร้างพื้นที่บริเวณชั้น 9 หลังจากนั้นก็จะเป็นส่วนงานระบบภายในอาคาร ซึ่งขณะนี้ก็มีความกังวลว่าบริษัทที่กำลังประสบปัญหาจะมีการทิ้งงานก่อสร้างหรือไม่ ส่วนคุณภาพวัสดุก่อสร้างนั้น ก็ยังไม่พบว่ามีวัสดุชนิดใดที่จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคารเนื่องจากมีการตรวจสอบวัสดุก่อนที่จะนำไปก่อสร้าง