กลุ่มทีวีดิจิทัลยกทัพบุกเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะจัดสรรคลื่นความถี่ จัดโดย กสทช. ค้านการนำคลื่น 3500 MHz ที่ปัจจุบันใช้รองรับการชมทีวีผ่านดาวเทียมระบบ C-Band ออกประมูลใช้งาน 5G ก่อนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลหมดอายุในปี 2572 ชี้คนดูหายไป 10 ล้านคน ต้องจอดำแน่นอน ด้าน ทรู-ไทยคม-พีเอสไอ หนุนนำคลื่น 3500 ประมูลก่อนจะได้มีเวลาเตรียมตัว
ที่โรงแรมอัศวินแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ มหานคร เมื่อวันที่ 1 เม.ย. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล โดยมีภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ค่ายมือถือ ช่องทีวีดิจิทัล ผู้ให้บริการดาวเทียม ผู้ให้บริการทีวีดาวเทียม และตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมคับคั่ง การรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อรองรับการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz, 1500 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz, 26 GHz และ 3500 MHz ที่เป็นคลื่นที่ปัจจุบันใช้รองรับการรับชมทีวีผ่านดาวเทียมระบบ C-Band อยู่ แต่เป็นคลื่นที่ค่ายมือถือต้องการนำไปให้บริการ 5G ที่ปัจจุบันถือเป็นคลื่นมาตรฐานในการให้บริการ 5G ทั่วโลก
นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้รับชมทีวีผ่านดาวเทียมโดยใช้คลื่น 3500 MHz อยู่ 2 ล้านครัวเรือน คิดเป็นกว่า 10 ล้านคน หากนำคลื่นไปประมูลเพื่อใช้ในกิจการโทรคมนาคม จะทำให้ผู้รับชมหายไปกว่า 10 ล้านคนทันที กลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลย่อมจะเดือดร้อน จึงขอใช้คลื่นความถี่นี้สำหรับกิจการโทรทัศน์ จนกว่าจะสิ้นสุดใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ในเดือน เม.ย.2572 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า เพราะการเปลี่ยนผ่านระบบทีวีอนาล็อกสู่ทีวีดิจิทัลของ กสทช.เมื่อ 11 ปีที่แล้ว ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ยังมีคนจำนวนมากดูทีวีผ่านดาวเทียม C-Band โดยใช้คลื่น 3500 MHz ดังนั้นการจะนำคลื่นที่ให้บริการทีวีไปประมูลสําหรับบริการโทรคมนาคมก่อนกำหนด จึงไม่ควรเกิดขึ้น กลุ่มทีวีดิจิทัลมีความกังวลใน 4 ปีข้างหน้า ที่ใบอนุญาตจะหมดอายุลง มีการไถ่ถาม กสทช.ว่ามีแผนดำเนินการที่ชัดเจนอย่างไร แต่ไม่เคยได้คำตอบ จึงคิดว่า กสทช.ควรสร้างความชัดเจนตรงนี้ก่อน
...
ด้านนายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า ขณะที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกำลังอยู่ในภาวะเหมือนคนใกล้ตาย การนำคลื่น 3500 MHz ออกประมูลก่อนกำหนด เปรียบได้กับการถอดสายออกซิเจน ถอดท่อหายใจ นอกจากปัญหาจอดำแล้ว ยังอาจนำไปสู่การปลดพนักงานอีกระลอก เราเฝ้ารอความชัดเจนแผนแม่บทในการดำเนินการโทรทัศน์แห่งชาติ หลังปี 2572 เคยยื่นหนังสือถึงประธาน กสทช. เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของคลื่น 3500 MHz ที่เป็นหัวใจหลัก ต่อการรับชมทีวีของคนไทยทั้งประเทศ วันนี้จึงพร้อมใจกันมาแสดงจุดยืนในการรักษาคลื่นความถี่นี้ไว้อีกครั้ง เพื่อไม่ให้ทีวีไทยถึงคราวล่มสลายก่อนกาล
ส่วนนายเอกชัย ภัคดุรงค์ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านกลยุทธ์องค์กร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ควรนำคลื่น 3500 ออกมาประมูลโดยเร็ว เพราะการเปลี่ยนผ่านการใช้งานคลื่นต้องมีการเตรียมตัว มีผู้รับผิดชอบ อาจมีการกันบางส่วนของย่านความถี่ออกมาประมูลก่อน เช่น ย่าน 3300-3400 MHz หรือ 3700-
4200 MHz
เช่นเดียวกับนายสมพร ธีรโรจนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอสไอ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตจานดาวเทียม PSI กล่าวว่า คลื่น 3500 MHz ต้องถูกนำไปใช้งาน 5G อยู่แล้วเพราะเป็น เทรนด์ทั่วโลก การเร่งเปิดประมูลคลื่นจะช่วยให้มีการเตรียมความพร้อมและมีแผนรองรับ หากรอให้สิ้นสุด 4 ปีก่อนจะไม่ทันการณ์
ขณะที่นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร หัวหน้าสายงานรัฐกิจสัมพันธ์และกำกับดูแล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่ามีความสนใจในคลื่น 3500 MHz เพราะเป็นคลื่นที่ผู้ให้บริการทั่วโลกใช้ในการให้บริการ 5G ที่เป็นสากล แต่ในไทยเป็นคลื่นที่ถูกใช้งานฝั่งโทรทัศน์ แต่การจะเข้าประมูลคลื่นหรือไม่ ต้องมีเงื่อนไขที่ชัดเจนพอในการประเมินความคุ้มค่า หากคลื่นมาพร้อมภาระค่าใช้จ่ายมากมาย ก็อาจไม่คุ้ม
นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. ด้านโทรคมนาคม เปิดเผยว่า การรับฟังความคิดเห็นเป็นการเปิดเวทีให้ภาคเอกชน ภาคประชาชนได้แสดงความคิดเห็น และ กสทช.มีหน้าที่รับฟัง ถือเป็นเรื่องดี
ทั้งนี้ หลังจากการรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้น กสทช.ยังเปิดรับความเห็นผ่านเว็บไซต์ถึงวันที่ 4 เม.ย. หลังจากนั้นจะทำข้อเสนอทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กสทช.ในวันที่ 18 เม.ย.นี้
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่