จนถึงวันนี้ เชื่อว่าหลายคนคงยังตกใจกับการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี ซึ่งมีศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา และส่งแรงสั่นสะเทือนมาบ้านเรา โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีตึกสูงจำนวนมาก
ทำให้ต่อจากนี้ไป เราคงจะต้องรวมโอกาสในการเกิดแผ่นดินไหว รวมทั้งวิธีการรับมือไว้ เป็นหนึ่งในความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติของประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “แผ่นดินไหว” จะก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง แต่ ณ ขณะนี้ ถือว่าไม่ใช่ภัยพิบัติเดียวที่เราต้องเฝ้าระวัง เพราะภัยพิบัติหลักที่เราต้องเจอทุกปี คือ น้ำท่วม น้ำแล้ง อากาศแปรปรวนสุดขั้ว โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนจัด
ล่าสุด เท่าที่ทราบมาภาครัฐและธนาคารโลกได้ร่วมกันศึกษาและประเมินโอกาสการเกิดภัยพิบัติที่จะรุนแรงขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งประเมินมูลค่าการลงทุนในโครงการสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น แก้มลิง เขื่อน ฯลฯ การนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ติดตามตรวจสอบเตือนภัย เพื่อให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นได้
โดยรายงานดังกล่าวสำหรับประเทศไทยจะต้องใช้เวลาอีกระยะ แต่หากพอจะเทียบเคียงกับประเทศอื่นๆในอาเซียนที่ทำรายงานดังกล่าวเสร็จแล้ว จะพบว่ามูลค่าของงบประมาณในการจัดการจะอยู่ที่ 5-6% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศนั้นๆ ซึ่งหากคิดจากจีดีพีของไทยปี 67 ซึ่งอยู่ที่ 15.58 ล้านล้านบาท วงเงินที่รัฐบาลจะต้องใช้ในการบริหารจัดการน่าจะไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท
และสำหรับกรุงเทพฯของเรา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ธนาคารโลกและกรุงเทพฯได้ร่วมกันออกรายงาน “พลิกโฉมกรุงเทพฯให้เย็นสบาย แก้ปัญหาความร้อนเพื่อมหานครที่น่าอยู่” พบข้อที่น่ากังวลใจหลายข้อ
โดยข้อแรก ตั้งแต่ปี 2503-2543 กรุงเทพฯมีวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส 60-100 วันต่อปี แต่จากการคาดการณ์ด้วยแบบจำลองภูมิอากาศ ชี้ว่าภายในปี 2643 อากาศจะร้อนขึ้น โดยเราจะมีวันที่อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาฯเพิ่มขึ้นอีก 153 วันต่อปี 2.ความรุนแรงของความร้อนจะต่างกันตามพื้นที่ เช่น เขตปทุมวัน บางรัก ราชเทวี และพญาไท อุณหภูมิจะสูงกว่าพื้นที่อื่นเฉลี่ย 2.8 องศาฯ เนื่องจากมีอาคารสูงหนาแน่นที่สะสมความร้อน
...
3.ผลกระทบต่อสุขภาพและการเสียชีวิตที่เกี่ยวกับความร้อนจะมากขึ้น โดยหากอุณหภูมิในเมืองเพิ่มขึ้น 1 องศาฯ กรุงเทพฯอาจเผชิญกับการเสียชีวิตจากความร้อนกว่า 2,300 ราย โดยผู้มีความเสี่ยงสูง คือ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้สูงอายุเกิน 65 ปี รวมทั้งยังมีผลกระทบต่อแรงงาน โดยข้อ 4 หากอุณหภูมิในเมืองเพิ่มขึ้น 1 องศาฯ อาจทำให้ผลิตภาพแรงงานลดลง 3.4% นำไปสู่การสูญเสียค่าจ้างแรงงานกว่า 44,000 ล้านบาทต่อปี และข้อ 5 อุณหภูมิในเมืองที่เพิ่มขึ้น 1 องศาฯ จะทำให้เราต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 17,000 ล้านบาทต่อปี
ยิ่งไปกว่านั้น หากเราไม่มีมาตรการรับมือที่เพียงพอภายในปี 2593 อุณหภูมิที่อันตรายอาจทำให้คนไทยไม่สามารถทำงานกลางแจ้งได้ ขณะที่การเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อนจะรุนแรงขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมในขณะนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่อง “จ้อจี้” ที่เราจะเห็นเป็นเรื่องเล็กๆ ได้อีกต่อไป.
มิสเตอร์พี
คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม