เหตุโศกนาฏกรรมแผ่นดินไหว 7.7 ในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้ทำให้พวกเราชาวไทยได้รับรู้แล้วว่า เรื่องที่ไม่ควรจะเกิด ก็สามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ

สิ่งสำคัญคือความพร้อมในการเตรียมตัวรับมือ ทราบข้อมูลที่จำเป็นต่างๆรอบด้าน โดยเฉพาะข้อมูลพื้นฐานในเรื่องระดับความรุนแรงและการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม โดยทางกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติญี่ปุ่น (JMA) อธิบายไว้เป็นแผนผัง สำหรับแผ่นดินไหวความรุนแรงระดับ 3 จะรับรู้ได้หากอยู่ในอาคาร สังเกตได้จากสิ่งของที่แขวนอยู่อาจมีการสั่นไหวเล็กน้อย แต่หากเพิ่มเป็นระดับ 4 จุดนี้จะทำให้คนรู้สึกตกใจกันแล้ว ของที่แขวนอยู่หรือโคมไฟจะแกว่งไปมาอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ข้าวของบางอย่างที่ฐานไม่มั่นคงอาจล้มได้

ตามมาด้วยระดับ 5 ตรงจุดนี้จะแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือต่ำกว่า 5.5 หรือมากกว่า 5.5 ขึ้นไป กลุ่มแรกผู้คนจะเริ่มเซต้องหาที่เกาะ จานชามในชั้นวางอาจตกแตก ขณะที่กลุ่มสองผู้คนจะเริ่มเดินไม่ได้ต้องหาที่ยึดไว้ให้มั่นคง อิฐคอนกรีตที่ไม่ได้ยึดอย่างแน่นหนาอาจพังถล่ม ตู้เก็บของอาจล้มครืน หนังสือหล่นจากชั้นวาง

ข้ามมาถึงระดับ 6 ก็เช่นเดียวกัน แรงสั่นสะเทือนที่ต่ำกว่า 6.5 จะส่งผลให้คนไม่สามารถยืนได้เลย ประตูเบี้ยวผิดรูปเปิดไม่ออก ฝาผนังปริแตกกระจกหลุดจากบาน ขณะที่ระดับสูงกว่า 6.5 นั้น หมดสิทธิในการเดินและอาจถึงขั้นกระเด็นหรือล้มคะมำ เฟอร์นิเจอร์ในบ้านล้มระเนระนาด เกิดรอยแยกของแผ่นดิน ดินถล่ม บ้านเรือนที่ไม่ได้ถูกสร้างเพื่อรับมือแผ่นดินไหวมีโอกาสสูงที่จะเอียงผิดรูปหรือพังถล่ม

สุดท้ายในระดับ 7 ขึ้นไป อาคารบ้านเรือนที่ไม่ทนทานต่อแผ่นดินไหวจะเกิดการเอียงผิดรูปหรือพังทลาย ข้อมูลจากคู่มือของญี่ปุ่นจบการประเมินไว้ที่เท่านี้ พร้อมระบุวิธีปฏิบัติตัวในเวลาแผ่นดินไหวว่าอย่าแตกตื่น ปกป้องศีรษะจากการร่วงหล่นของสิ่งของ อยู่ให้ห่างจากกำแพงผนัง ตู้กดอัตโนมัติ และอาคาร หากกำลังขับรถก็ให้เปิดไฟฉุกเฉิน และลดความเร็วลงอย่างช้าๆ สิ่งสำคัญคือต้องมีสติอยู่ทุกเมื่อ.

...

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม