ในช่วงเวลาเกิดเหตุแผ่นดินไหว กทม. เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ได้ยินคำถามหลายต่อหลายครั้งว่า “อาฟเตอร์ช็อก” จะตามมาหรือไม่ เป็นไปได้ไหมที่จะเช็กเวลาให้หน่อยว่าจะมาตอนไหนเวลากี่โมง
ตอนนั้นฟังแล้วก็เข้าใจในทันทีเลยว่า ผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีต้นตอจากพม่าครั้งนี้ เป็นเรื่องที่สร้างความแตกตื่นอย่างมาก เนื่องด้วยคนไทยเราเชื่อกันมาตลอดว่า “ประเทศ ไทยไม่มีแผ่นดินไหวเหมือนเมืองอื่น” อีกทั้งเหตุ โศกนาฏกรรมตึกถล่มที่จตุจักร ยิ่งทำให้หลอน ไปกันอีกว่า หากมีการสั่นไหวระลอกใหม่อาคาร ตึกสูงที่ทำงานหรือที่พักอาศัยจะเอาอยู่หรือเปล่า
ด้วยเหตุนี้จึงต้องขออนุญาตนำข้อมูลจาก “กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติญี่ปุ่น” มาเล่าสู่กันฟัง เพราะแน่นอนว่าในโลกใบนี้ ไม่มีใครอีกแล้วที่ใช้ชีวิตอยู่กับ “แผ่นดินไหว” ได้เหมือนกับชาวญี่ปุ่น
อาฟเตอร์ช็อกหรือแผ่นดินไหวระลอกที่จะตามมา ถือเป็นแผ่นดินไหวที่มีต้นตอจากการปรับตัวของเปลือกโลกให้เข้าที่ กล่าวคือหลังจากรอยต่อของแผ่นดินเคลื่อนตัว และก่อให้เกิดแผ่นดินไหวหลักไปแล้ว ธรรมชาติก็จะมีการปรับสมดุลด้วยตัวเอง เหมือนกับการบิดข้อต่ออุปกรณ์ให้กลับมาลงล็อกตามเดิม
อาฟเตอร์ช็อกจะตามมาหลังจากแผ่นดินไหวครั้งแรกอยู่เสมอ แต่จะลดระดับความรุนแรงลงไปเรื่อยๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าความรุนแรงของการเขย่าระลอกแรกสูงแค่ไหน ตัวอย่างในเหตุแผ่นดินไหว-สึนามิโทโฮคุปี 2554 อยู่ที่ระดับ 9.1 (ของพม่าครั้งนี้ 7.7) และตามมาด้วยอาฟเตอร์ช็อกกว่า 800 ครั้ง เริ่มที่ 7.4 ตามด้วย 7.9 ก่อนปรับเป็น 7.7 ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังจากเกิดเหตุ
อาฟเตอร์ช็อกจะจำกัดวงอยู่ในพื้นที่แผ่นดินไหวในช่วง 1 วันแรก และมักจะลามไปยังปริมณฑลรอบๆหลังจากนั้น โดยที่จำนวนความถี่ของการเขย่าจะลดลงเหลือ 1 ใน 10 ภายใน 10 วัน และลดลงเหลือ 1 ใน 100 ภายใน 100 วัน แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่า การสั่นไหวครั้งแรกเริ่มมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด หากครั้งแรกเขย่าแรงมากก็จะใช้เวลานานกว่าอาฟเตอร์ช็อกจะสิ้นสุด
...
ทุกวันนี้ญี่ปุ่นมีระบบ “เตือนภัยล่วงหน้า” ว่ากำลังจะเกิดแผ่นดินไหว โดยประชาชนจะได้รับการแจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุเป็นเวลา “หลักสิบวินาทีหรือเพียงไม่กี่วินาที” และมีความเป็นไปได้ที่พื้นที่จุดศูนย์กลางแผ่นดิน ไหวจะไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า ส่วนอาฟเตอร์ช็อกเป็นสิ่งที่ย่อมเกิดขึ้นตามมาแต่ไม่สามารถกำหนดวันเวลาได้ชัดเจน มีเพียงสูตรคำนวณแนวโน้มและความน่าจะเป็น.
ตุ๊ ปากเกร็ด
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม