“ในหลวง-พระราชินี” ทรงเสียพระราชหฤทัยกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และทรงห่วงใยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทั่วประเทศ พร้อมทรงรับผู้บาดเจ็บจากเหตุดังกล่าวไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ขณะที่นายกฯ นั่งหัวโต๊ะบี้รายตัวหน่วยงานดูแลการเตือนภัย “ปภ.-กสทช.” หาสาเหตุทำงานล่าช้า ซัดข้อมูลที่ส่งไปไม่ได้เป็นประโยชน์ รวมถึงขาดการประสานข้อมูลด้านคมนาคม ลั่นครั้งหน้าต้องไม่เกิดแบบนี้อีก พร้อมให้ความมั่นใจประชาชนสถานการณ์สงบแล้ว จะมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแน่นอน ด้าน กทม.คนแห่แจ้งตึกอาคารร้าวเพียบ วันเดียวกว่า 5.5 พันเคส รวมของเดิมอีกกว่า 2 พันเคส พบมีราว 700 เคส ต้องลงไปดูอาคาร

ความคืบหน้าจากกรณีเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ทำให้อาคารบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมถึงอาคารสูงจำนวนมากได้รับความเสียหาย แตกร้าวไปจนถึงพังถล่มลงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพ มหานคร ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
จำนวนมาก

ในหลวงทรงรับดูแลผู้บาดเจ็บ

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมทรงรับผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ แผ่นดินไหวทั่วประเทศไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชา นุเคราะห์ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้า ลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ทรงเสียพระราชหฤทัยกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และทรงห่วงใยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ แผ่นดินไหว

นายกฯนั่งหัวโต๊ะถกการเตือนภัย

ต่อมาที่ศูนย์กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เมื่อเวลา 09.30 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวและมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วยสีหน้าเคร่งเครียด โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายก รัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงรัฐมนตรีหลายกระทรวง นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กรุงเทพมหานคร สำนักงานการ ตรวจเงินแผ่นดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ ฯลฯ เข้าร่วมประชุม พร้อมวิดีโอคอลเฟอร์เรนซ์ไปยังศูนย์บัญชาการ เหตุการณ์แผ่นดินไหวทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

...

บี้รายตัวเหตุเตือนภัยล่าช้า

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึง ได้นำดอกไม้ที่วางอยู่บริเวณด้านหน้าออกรวมไปถึงตบไมค์ลง และขอให้หน่วยงานชี้แจงการแจ้งเตือน SMS ไปยังประชาชนที่ล่าช้า และมีข้อจำกัดไม่สามารถส่งให้ได้อย่างครอบคลุม โดยนายกฯ ถามในที่ประชุมประเด็นแรกตอนที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นเวลาประมาณ 13.20 น. สิ่งแรกที่ควรจะเกิดขึ้นมันคืออะไร เมื่อเกิดแผ่นดินไหวสิ่งแรกที่เกิดขึ้นประชาชนควรได้รับคืออะไรบ้าง ทั้งในเรื่องของ SMS หรือไม่ ถ้าใช่หน่วยงานไหนที่ต้องรับผิดชอบ

ปภ.ยันแจ้ง กสทช. 4 รอบ

จากนั้นนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดี ปภ. รายงานในที่ประชุมว่า ปกติกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวของกรมอุตุนิยมวิทยารายงานแผ่นดินไหวและจะแจ้งมาที่ ปภ.เพื่อแจ้งเตือนต่อไป แต่เหตุแผ่นดินไหวเป็นสถานการณ์เดียวที่ไม่สามารถแจ้งล่วงหน้าได้ จะรู้ต่อเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นทุกคนจะรับรู้ได้ทันที เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว ซึ่งผู้สื่อข่าวรายงานว่านายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเสริมขึ้นว่า ถือเป็นความรู้ใหม่ของตน ว่าแผ่นดินไหวไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ จากนั้นอธิบดี ปภ.กล่าวต่ออีกว่า เมื่อได้รับข้อมูลแล้ว จะส่ง SMS ไปที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้ส่ง SMS แจ้งไปให้ประชาชนทราบ ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีตั้งคำถามต่อว่า ได้ข่าวว่าทาง ปภ.ส่งข้อความไปถึง กสทช. 2 ครั้งแล้ว ทำให้อธิบดี ปภ.กล่าวแย้งว่าส่งไปถึง 4 ครั้ง นายกรัฐมนตรี จึงถามกลับว่า ครั้งแรกส่งไปเวลาเท่าใด อธิบดี ปภ.ชี้แจงว่า ส่งไปครั้งแรกเวลา 14.42 น. เป็นการส่งข้อความเตือนว่าให้แจ้งประชาชนสามารถเข้าอาคารได้ในกรณีที่จำเป็น

มีแจ้งเตือนข้อปฏิบัติตน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ถามย้ำถึงข้อความที่ ปภ.ส่งไปยังประชาชนว่าอะไรบ้าง อธิบดี ปภ.ได้อธิบายว่า ครั้งแรกเป็นการแจ้งเตือนประชาชนให้สามารถเข้าอาคารได้เท่าที่จำเป็น เพราะได้ประสานกับกรมอุตุนิยมวิทยาในเบื้องต้นว่ายังมีอาฟเตอร์ช็อกอยู่ ส่วนครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 มีการส่งต่อเนื่อง ในเวลา 16.07 น. และ 16.09 น. เรื่องข้อปฏิบัติตนขณะเกิดแผ่นดินไหว และครั้งสุดท้ายส่งเวลา 16.44 น. ให้ประชาชนสามารถกลับเข้าอาคารได้

กสทช.แจงแจ้งได้ทีละ 2 แสนเบอร์

ในส่วนประเด็นการซักถาม กสทช. นายกรัฐมนตรี ได้ถามนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ด้วยน้ำเสียงเข้มว่า กสทช.ได้รับคำสั่งจาก ปภ.หรือไม่ ให้ส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชน เพราะ ปภ.แจ้งว่าส่งไปทั้งสิ้น 4 ครั้ง ซึ่งรักษาการเลขาฯ กสทช.ตอบว่า ปภ.ส่งให้ครั้งแรกเวลา 14.40-14.42 น. และ กสทช.เริ่มส่งทันทีเวลา 14.44 น.แต่มีข้อจำกัดในการส่งให้ประชาชน 1-2 แสนเบอร์เท่านั้น ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ทยอยส่ง SMS ได้ทีละ 2 แสนเบอร์ ครั้งแรก 4 จังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล เครือข่ายมือถือกำลังเร่งทำระบบให้ส่งได้ทีละ 3 ล้านเลขหมาย แต่ใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง เพราะมีข้อจำกัดการรันคิว และสรุปสุดท้ายส่ง SMS ได้ทั้งหมดประมาณ 10 กว่าล้านเลขหมาย

จี้ กสทช.-ปภ.แก้ปัญหาร่วมกัน

จากนั้น นายกฯกล่าวว่า ปัญหาคือการส่ง SMS ของเราช้าและไม่ทั่วถึง เป็นข้อแรกที่เป็นปัญหาต้องแก้ไข ทราบดีว่า Cell Broadcast มาช่วงเดือน มิ.ย.หรือเดือน ก.ค.ที่จะทำให้ส่งข้อความทีเดียวกระจายได้หมด แต่การขอความร่วมมือกับเครือข่ายระบบสื่อสารต่างๆ ไม่ว่าค่ายโทรศัพท์มือถือ เมื่อเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น จะขอความร่วมมือได้อย่างไรที่ข้อความ SMS จาก 1-2 แสนข้อความไปเป็น 1 ล้านข้อความอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ไม่มาคือ SMS และชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย ซื้อซิมการ์ดของไทยในระยะสั้นมีเตือนภัยหรือไม่ ขอให้ กสทช.และ ปภ.ช่วยกันประสานว่าบูรณาการตรงนี้ร่วมกันได้อย่างไร ท่านต้องตอบคำถามตรงนี้ เพราะตนต้องตอบคำถามประชาชน สั่งไปตั้งแต่บ่ายสองว่าให้ SMS แจ้งเตือนให้หมดทุกอย่าง แต่ระบบไม่ออก เลยไม่ทราบว่าต้องทำตรงไหนเพิ่มเติมอีก ท่านมีข้อแนะนำหรือไม่ ให้แนะนำมาเลย เพราะมีการสั่งจากมหาดไทยและนายกฯแล้ว ต้องทำยังไงได้อีก

...

แนะให้ความรู้เมื่อเผชิญเหตุ

“จริงๆแล้วปัญหาหนึ่งคือเรายังไม่ได้ Cell Broadcast แต่ปัญหาที่สองคือ SMS แจ้งเตือนประชาชนช้า และข้อมูลที่ส่งไป ไม่ได้เป็นประโยชน์มาก ความจริงตัวดิฉันก็ผิดเอง ที่ไม่ได้ระบุว่าต้องส่งข้อความว่าอะไรบ้าง เพราะความจริงตอนนั้นทุกฝ่ายควรจะร่วมกันที่จะบอกรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วแจ้งประชาชนด้วยข้อความอะไร แต่ขอบคุณรายการโทรทัศน์เฉพาะกิจทั้งหมด พอบอกภายในไม่ถึง 5 นาที ทุกคนออกได้หมด ความจริง ดิฉันอยู่ที่ จ.ภูเก็ต ไม่ได้รู้สึกถึงความสั่นสะเทือนเลย แต่ภายใน 10 นาทีที่เข้าประชุม รัฐมนตรีแจ้งว่ามีแผ่นดินไหว ทุกอย่างคือต้องเกิดขึ้นเร็ว และรีบสั่งการ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ยังปรับปรุงได้คือเรื่อง SMS เมื่อ Cell Broadcast มาคงจะเห็นอะไรที่เป็นคำตอบ แต่อีกอย่างเรื่องแผ่นดินไหว ถามตัวดิฉันไม่ทราบเหมือนกันว่าต้องทำตัวอย่างไร ค่อนข้างจะเหมือนประชาชนคนไทยทุกคน เพราะเราไม่ได้อยู่ในประเทศที่มีแผ่นดินไหวเป็นประจำและหนัก ทุกคนคิดว่าตัวเองไม่สบาย ขาดน้ำตาลอะไรหรือไม่ คงต้องให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องนี้” นายกฯกล่าว

สั่ง กสทช.เชื่อมข้อมูลคมนาคม

นายกฯกล่าวอีกว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ประชาชนไม่สามารถหาข้อมูลได้และคนกลับบ้านไม่ได้ มีเสียงบ่นมาก คือปิดรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินเพราะความปลอดภัย ถ้าสมมติเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ใช่ภัยธรรมชาติ แต่เป็นอุบัติเหตุใหญ่ เตรียมไว้เลยตั้งแต่วันนี้ที่เส้นทางคมนาคมจะลิงก์กับการสื่อสารของประชาชนได้อย่างไร สมมติเกิดอุบัติเหตุ เส้นทางไหนใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ SMS บอกได้ไหมว่าถนนเส้นนี้ปิด ถนนนี้เปิด ขอให้เชื่อมต่อกันไว ต้องบอกข้อมูลเหล่านี้ให้ประชาชนทราบ ฝากให้กระทรวงคมนาคมและ กสทช.บูรณาการการทำงาน ครั้งหน้าจะต้องไม่เกิดแบบนี้อีก

...

กรมอุตุฯชี้ไม่มีระบบเตือนล่วงหน้า

จากนั้นตัวแทนกรมอุตุนิยมวิทยารายงานแนวโน้ม การเกิดอาฟเตอร์ช็อกในไทยว่า จนถึงเช้าวันที่ 29 มี.ค. เกิดอาฟเตอร์ช็อก 100 กว่าครั้ง มีความรุนแรงลดน้อยลง แนวโน้มการเกิดจะเลื่อนไปทางทิศเหนือของเทือกเขาหิมาลัย ประเทศจีน เกิดห่างไกลประเทศ ไทย ยืนยันว่ามีผลกระทบกับบ้านเราน้อยลง รวมถึงย้ำกับนายกฯด้วยว่ายังไม่มีเทคโนโลยีในการเตือนภัย ล่วงหน้าการเกิดแผ่นดินไหว

ย้ำเหตุแผ่นดินไหวสงบแล้ว

จากนั้นเวลา 10.50 น. น.ส.แพทองธารแถลงผลการประชุมติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวและมาตรการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบว่า ในกรุงเทพฯที่มีตึกถล่มเพียง 1 ตึกที่กำลังก่อสร้าง ตึกอื่นๆไม่มีผลกระทบที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ทราบว่าโครงสร้างตึกในกรุงเทพฯมีมาตรฐานที่รองรับเรื่องแผ่นดินไหวอยู่แล้ว อาฟเตอร์ช็อกล่าสุดต่ำลงไปถึงขนาด 1.2 ตอนนี้ไม่รู้สึกอะไรแล้ว รัฐบาลใช้ทุกสรรพกำลังเพื่อดูแลประชาชนให้ปลอดภัย และได้รับการเยียวยาให้ได้เร็วที่สุด ขอย้ำอีกครั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวตอนนี้สงบและปลอดภัยแล้ว ผู้อยู่ข้างนอกกลับเข้าที่พักอาศัยของตัวเองได้ ส่วนผู้ที่อยู่ในตึกสูง รอผู้ตรวจตึกสูงแจ้งว่าตึกปลอดภัยเข้าไปได้แล้ว ส่วนที่พักอาศัยที่ไม่ใช่ตึกสูง กลับเข้าได้ทุกท่าน และวันนี้ยังเป็นอีกคืนที่สวนสาธารณะทั้ง 5 แห่งในกรุงเทพฯยังเปิด 24 ชั่วโมง มีตำรวจดูแลตลอด ประชาชนเข้าไปพักผ่อนได้ ส่วนเรื่องการเยียวยา รัฐบาลจะมีมาตรการออกมาว่าจะช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างไรต่อไป

เยี่ยมผู้บาดเจ็บที่วชิรพยาบาล

จากนั้นเวลา 11.00 น. น.ส.แพทองธารพร้อมคณะ เดินทางมาที่วชิรพยาบาล เพื่อเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหว โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ให้การต้อนรับ สำหรับผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาตัวที่วชิรพยาบาล มี 3 ราย เป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการกระโดดลงมาจากคอนโดที่พักอาศัย 2 ราย และถูกแผ่นปูนหล่นใส่ 1 ราย ซึ่งนายกฯให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ทรงรับผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั่วประเทศไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ขณะนี้ผู้ป่วยจากเหตุแผ่นดินไหว รักษาตัวอยู่ที่วชิรพยาบาล 2 ราย รายหนึ่งอยู่ห้องไอซียู อีกรายอยู่วอร์ดปกติ มีปัญหาคล้ายกันคือปอดรั่ว รายที่อยู่ห้องไอซียูน่าจะติดเชื้อมาก่อนเกิดเหตุการณ์ ทั้ง 2 ราย หมอบอกว่าน่าจะโอเค และอีกคนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว

...

นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินดูระบบขนส่ง

ต่อด้วยเวลา 11.45 น. น.ส.แพทองธารเดินทางมาขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ที่สถานีสนามไชยไปยังสถานีสีลมเพื่อดูความเรียบร้อยด้านการคมนาคมและขนส่งสาธารณะ รถไฟฟ้าใต้ดิน โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รักษาการแทนผู้ว่าการรฟม.ให้การต้อนรับ และนายวิทยารายงานว่า ช่วงเกิดเหตุได้อพยพผู้โดยสารขึ้นไปข้างบนเพื่อความปลอดภัย ไม่มีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ และตัวโครงสร้างการขนส่งไม่มีปัญหา มีแค่เศษฝาท่อที่อาจหลุดออกมา มีการแก้ไขแล้ว จากนั้นนายกฯขึ้นรถไฟใต้ดินร่วมขบวนกับประชาชน ได้ทักทายประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทันทีที่ถึงสถานีสีลม มีชาวต่างชาติเข้ามาพูดคุย โดย น.ส.แพทองธารสอบถามถึงความรู้สึกเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา จากนั้น น.ส.แพทองธารให้สัมภาษณ์ว่า นักท่องเที่ยวเล่าว่าเมื่อวานตกใจนิดหน่อย แต่ตอนนี้โอเคแล้ว หลายประเทศอาจคุ้นชินกับแผ่นดินไหวมากกว่าเรา เขาบอกว่าชอบกรุงเทพฯ ที่มีความสวยงามและใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นชีวิตปกติ ไม่รู้สึกหวาดกลัว

ย้ำรัฐบาลมีกรอบการเยียวยา

น.ส.แพทองธารยังกล่าวถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพูว่าได้รับรายงานแล้วว่าไม่มีปัญหา แต่ขอตรวจสอบก่อนให้มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่เช่นนั้นจะไม่เปิด คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในวันที่ 30 มี.ค.นี้ ยืนยันจะไม่เอาชีวิตประชาชนมาเสี่ยง มีการเดินตรวจดูทั้งสายและแก้ไขเรียบร้อยแล้วทุกเส้นทาง สามารถเรียกความเชื่อมั่นได้แน่นอน การเดินทางด้วยอากาศยานนั้นก็ไม่มีปัญหา ส่วนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบมีกรอบอยู่แล้ว จะให้กรุงเทพมหานครประกาศได้เลย โดยจะต้องดูรายละเอียดกรอบและความเสียหาย เข้ากันหรือไม่ เช่น เรื่องน้ำท่วม ที่มีการเพิ่มกรอบการเยียวยา จะให้กรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายตรวจสอบ ยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแล

เล็งฟันรถรับจ้างโขกค่าโดยสาร

ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจสอบความพร้อมการให้บริการรถไฟฟ้าทุกสาย เบื้องต้นได้รับรายงานมาแล้วว่าไม่มีความผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนกรณีรถแท็กซี่ขึ้นราคาเกินจริงนั้น ขอให้ประชาชนแจ้งมาที่สายด่วน 1584 พร้อมถ่ายภาพเก็บหลักฐาน เพื่อให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด และแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการรถสาธารณะต่างๆ ทั้งแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่ให้ฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้โดยสารในสภาวะวิกฤตินี้

ภาคท่องเที่ยวไม่ได้รับผลกระทบ

วันเดียวกัน นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงการติดตามและประเมินสถานการณ์หลังเหตุแผ่นดินไหวว่า ไม่พบความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว รวมถึงไม่มีรายงานนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตามปกติ แหล่งท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า สถานประกอบการ โรงแรม และระบบขนส่งมวลชน เปิดให้บริการตามปกติ ยกเว้นบางอาคารที่รอการสำรวจเพื่อความมั่นใจ และจากการสำรวจแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ ได้รับรายงานว่าไม่ได้รับความเสียหาย ทำให้ภาพรวมการท่องเที่ยวไทยยังไม่ได้รับผลกระทบ ยังไม่มีการยกเลิกการเดินทาง การจอง หรือยกเลิกการบินของสายการบิน ขอให้นักท่องเที่ยวมั่นใจว่าขณะนี้ประเทศไทยปลอดภัย สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ การเดินทางท่องเที่ยวและการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ

สตง.แถลงเสียใจเหตุสูญเสีย

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน” โพสต์ข้อความระบุว่า สตง. ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อความสูญเสียจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และได้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลังความสามารถ พร้อมตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและจะได้ชี้แจงให้ทุกท่านทราบโดยเร็วต่อไป

แห่แจ้งอาคารร้าวกว่าครึ่งหมื่น

ด้าน กทม.นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยถึงการเปิดรับแจ้งรอยร้าวและความเสียหายของอาคารจากประชาชนผ่าน Traffy Fondue ว่าวันนี้ผ่านไปครึ่งวัน มีผู้แจ้งเข้ามา 5,000 กว่าเคส ปัญหาหลักคือในอาคารเดียวกันจะมีนิติบุคคลอาคารชุด หรือเจ้าของอาคารที่ต้องมีการตรวจประจำปีอยู่แล้ว ผู้ว่าฯ กทม.จึงสั่งการให้มีการตรวจอาคาร โดยเจ้าของอาคารที่สูงกว่า 8 ชั้น และเป็น 9 ประเภทที่ต้องมีการตรวจสอบประจำปีอยู่แล้ว ให้รีบไปตรวจสอบอีกครั้งหลังจากแผ่นดินไหวโดยเร็วที่สุด แล้วให้รายงานมาทุกวัน จะช่วยแบ่งเบาภาระให้วิศวกรอาสา เนื่องจากมีประชาชนสนใจส่งเคสมาเยอะขึ้น และแบ่งงานให้เป็นระบบ เป็น 2 ทีม คือทีมที่มีใบ วย. หรือวุฒิวิศวกรโยธา ให้มาดูเคสยาก ส่วนอีกทีมจะดูเคสที่ไม่ยาก ตอนนี้ต้องรีบปิดเคสที่ส่งเข้ามากว่า 5,500 เคสแล้ว และก่อนหน้านี้มี 2,000 กว่าเคสที่ส่งเข้ามา พิจารณาแล้วว่ามีประมาณ 700 เคส ที่ต้องลงไปดูอาคาร โดยจากการลงพื้นที่พบว่าบางครั้งหลายๆเคส รวมแล้วเป็นตึกเดียวกัน ล่าสุดก่อนเที่ยงวันนี้ตรวจไป 28 เคส ตรวจเสร็จแล้ว7เคส

สธ.-พม.-ศธ.จัดพื้นที่ช่วย ปชช.

สำหรับการช่วยเหลือประชาชนต่างๆจากเหตุแผ่นดินไหวนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายกระทรวงได้เปิดพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมพื้นที่รองรับ จัดหาน้ำดื่ม อาหาร เตรียมพร้อมรองรับกลุ่มเปราะบาง และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนที่จะเข้ามาใช้บริการหากเกิดเหตุจำเป็น ขณะที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดเต็นท์ให้บริการสำหรับผู้ที่ยังเข้าคอนโดมิเนียม หอพัก หรือที่พักไม่ได้ เพื่อให้มีที่พักชั่วคราว จำนวน 75 หลัง โดยประสานงานจุดให้บริการกับกรุงเทพมหานคร เปิดศูนย์พัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจกรรมเยาวชน “กฐิน กุยยกานนท์” ตั้งอยู่เลขที่ 34/4 ถนนสุขุมวิท ต.บางด้วน อ.เมืองสมุทรปราการ มีอาคารเชลเตอร์ที่พัก จำนวน 8 หลัง และตึกพักรองรับที่พัก 100 คน โทร.08-9183-9189 และ 09-3445-9351 เปิดศูนย์กิจกรรมยุวกาชาด “ผิน แจ่มวิชาสอน” ซอยเพชรเกษม 102 แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กทม. รับรองที่พัก 50 คน โทร.08-9526-5986 และ 08-0807-5906 เปิดค่ายลูกเสือกรุงเทพ (พิศลยบุตร) แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กทม. มีอาคารเชลเตอร์ที่พัก จำนวน 10 หลัง อาคารเต็นท์ถาวร จำนวน 15 หลัง รับรองที่พัก 100 คน ติดต่อ โทร.06-5324-4141

เตรียมตรวจอาคารในปริมณฑล

นอกจากนี้ที่ จ.นนทบุรี นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) พร้อมนายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ สส.นนทบุรี พรรค ปชน.และคณะ เข้าสำรวจความเสียหายที่เอกสินเพลสคอนโด ต.บางเขน อ.เมืองนนทบุรี คอนโดซิตี้โฮมรัตนาธิเบศร์ 2 และคอนโดลุมพินีวิลล์ แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด นนทบุรี โดยเดินสำรวจจุดรอยร้าวต่างๆ สอบถามถึงการประชาสัมพันธ์เตือนภัยช่วงเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ พร้อมให้กำลังใจประชาชนและเจ้าหน้าที่ โดยนายณัฐพงษ์กล่าวว่า พรรค ปชน.ทราบว่าประชาชนจำนวนมากไม่สบายใจ ไม่กล้ากลับเข้าคอนโดที่พักอาศัย ต้องการให้มีผู้เชี่ยวชาญหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบโครงสร้างความปลอดภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ปริมณฑล ที่มีอาคารสูงจำนวนมาก แต่ยังไม่เห็นการตอบสนองจากส่วนราชการ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 30 มี.ค.ทีมสมาคมวิศวกรโครงสร้าง จำนวน 200 คน จะร่วมกับ สส.พรรค ปชน.สำรวจอาคารในพื้นที่ปริมณฑล นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี ที่เสียหายมาก แต่ยังขาดการประสานงานดูแล

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่