จริงๆ แล้ว ข้อเขียนซอกแซกของผมประจำสัปดาห์นี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับรายการ “เรียลลิตี้โชว์” ชุด “สามเณรปลูกปัญญาธรรม” ที่เพิ่งมีการแถลงข่าวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะกลับมาออกอากาศอีกครั้ง ในวันที่ 20 เมษายน 2568 ที่จะถึงนี้ ทางทรูวิชันส์ ช่อง 60 และ 99 ฯลฯ

จะเป็น “ปีที่ 11” ติดต่อกันแล้วครับปีนี้ และได้คัดเลือกน้องๆเยาวชนที่สมัครใจจะมาบรรพชาเป็น “สามเณร” ครบถ้วนแล้ว พร้อมกับมีการฝึกอบรมล่วงหน้า ก่อนที่จะมีพิธีบรรพชาตามวันเวลาที่กล่าวถึงข้างต้น

ผมเป็นแฟนคลับคนหนึ่งของรายการนี้มาตั้งแต่ครั้งที่ 1 และติดตามดูชมมาโดยตลอดจนถึงครั้งที่ 10 หรือปีที่ 10 เมื่อปีกลายจึงตั้งใจจะเขียนประชาสัมพันธ์ให้เป็นการล่วงหน้าตามข้อมูลปึกใหญ่ที่ทางฝ่ายสื่อสารองค์กรฯ ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ส่งมาให้เมื่อ 2-3 วันก่อนหน้านี้

แต่พอหยิบปากกาคว้ากระดาษมาเตรียมตัวนั่นแหละ (เวลา 13.20 น. วันศุกร์ที่ 28 มี.ค.พ.ศ.2568) ก็รู้สึกเวียนหัวขึ้นมาอย่างกะทันหัน และดูเหมือนว่าโต๊ะทำงานของผมจะสั่นกระตุกอย่างไรไม่รู้

จากนั้นผมก็รู้สึกอีกว่าไม่ใช่เฉพาะโต๊ะทำงานผมเท่านั้นที่เขย่า ตัวบ้านผมเองก็เริ่มเขย่าไปมา จนผมต้องลุกขึ้นยืนเดินออกไปนอกห้องและตะโกนเรียกภรรยาผมว่า “แม่อยู่ไหน? แผ่นดินกำลังไหวอยู่นะ...ระวังตัวเอาไว้ด้วย”

ณ นาทีนั้นผมมั่นใจแล้วว่าเกิดแผ่นดิน ไหวขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานครแน่นอน จะเป็นที่ไหนยังไม่รู้ได้จึงต้องตะโกนบอกให้แม่บ้านผมรู้ตัวเอาไว้ก่อน

เธอบอกผมว่า จู่ๆก็เวียนหัวขึ้นมาเฉยๆ เธอก็นึกว่า “โรคบ้านหมุน” ซึ่งเธอเคยเป็นเมื่อหลายปีก่อน กลับมาเล่นงานเธออีกแล้ว ไม่ได้เอะใจแม้แต่น้อยว่ากำลังเกิดแผ่นดินไหวขึ้น

...

อีกแป๊บเดียวต่อมาเราก็ได้รับโทรศัพท์จากลูกๆว่าเรา 2 คนตายายเป็นอย่างไรบ้าง เกิดแผ่นดินไหวที่พม่า แต่สั่นสะเทือนมาถึง กทม. มีตึกถล่มพังไปหนึ่งตึกแล้ว แถวๆสวนจตุจักรนี่เอง

ขอให้เรา 2 คนระวังตัวด้วย เพราะอาจจะมี “อาฟเตอร์ช็อก” เกิดไหวซ้ำอีกใน 2 ชั่วโมงข้างหน้า

จากนั้นลูกๆก็ส่งคลิปเหตุการณ์มาให้ดู เห็นภาพตึกถล่มที่จตุจักรอย่างชัดเจนจนต้องร้องอุทานว่า เฮ้ย! ถึงขนาดนี้เชียวหรือ

นอกจากคลิปตึกถล่มแล้วก็ยังมีคลิปรถไฟฟ้าบีทีเอสเขย่าขณะเข้าจอดสถานีจนผู้โดยสารส่งเสียงร้องด้วยความตกใจ รวมไปถึงภาพเหตุการณ์จากโรงพยาบาลที่ต่างจังหวัดหลายแห่ง ที่มีการอพยพขนย้ายผู้ป่วยออกมาจากตัวตึกลงมาอยู่ในสนามด้านล่างโกลาหลอลหม่านไปทั่ว ฯลฯ และ ฯลฯ

ต้องยอมรับว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่เมียนมาและส่งผลมาถึง กทม. ครั้งนี้เป็นครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของคนที่มีอายุ 84 ปีเช่นผมได้มีโอกาสสัมผัสด้วยตนเอง

ตอนเด็กๆ สมัยอยู่นครสวรรค์ ผมได้ยินเรื่องเล่าจากผู้ใหญ่ว่า มีแผ่นดินไหวที่โน่นที่นี่บ้าง แต่ก็เป็นแค่คำบอกเล่าไม่เคยเจอของจริง

พอมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ และปักหลักทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ พ.ศ.2501 จนถึงบัดนี้ ผมจำได้ว่าผมผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวใน กทม.เพียง 3 ครั้งเท่านั้น

ครั้งแรกผมแทบไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะมาตอนกลางคืนและผมก็หลับปุ๋ยอยู่มารู้ข่าวในตอนเช้า แต่ก็ไม่มีรายงานเสียหายแต่อย่างใด

อีกครั้งหนึ่งน่าจะปี 2518 หรือ 2519 ประมาณนั้นแหละ คราวนี้มาตอนกลางวันน่าจะบ่ายๆ ผมออกไปทำธุระนอกที่ทำงานกำลังจะเดินกลับ เห็นเพื่อนๆวิ่งกรูลงมาจากตึกของ สภาพัฒน์ ซึ่งสูงประมาณ 5 ชั้น ด้วยสีหน้าตกอก ตกใจ เพราะรู้สึกเหมือนว่าตึกเขย่าอย่างแรง จนต้องวิ่งลงบันไดแบบสุดชีวิต

ตรงข้ามกับผมที่เดินอยู่ที่ท้องถนนแทบไม่รู้สึกอะไรเลย มีอาการถนนสั่นเล็กน้อย ก็นึกว่าเป็นเพราะรถสิบล้อที่วิ่งอยู่ใกล้ๆ

ไปเรียนต่างประเทศที่สหรัฐฯโคโลราโด 2 ปีก็ไม่เคยเจอ ไปญี่ปุ่นที่แผ่นดินไหวบ่อยมากก็ไม่เคยเจอ...ดังนั้น เหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกในชีวิตผม

ที่สัมผัสกับบ้านเขย่าโต๊ะเขย่า และรู้สึกสะทกสะท้านใจจนหนาวเหน็บนิดๆ และยอมรับว่า...น่ากลัวเหมือนกันแฮะ

ยิ่งมาได้เห็นภาพข่าว ได้ดูคลิปเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะตึกถล่มที่จตุจักร ไม่ทราบว่าจะกลืนชีวิตคนงานหรือผู้อยู่ใกล้ๆตึกไปสักกี่มากน้อย ก็ยิ่งรู้สึกใจหายขึ้นอีกหลายเท่าพันทวี

ขอแสดงความเสียใจแก่ผู้ที่ประสบเคราะห์และได้รับความเสียหายในเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งผมเชื่อว่าคงจะมีมากพอสมควร 

โดยเฉพาะผู้ที่อาจเสียชีวิตจากตึกถล่ม ผมเป็นห่วงเหลือเกินว่า น่าจะมีจำนวนมากกว่าที่มีการแถลงข่าวไว้ ขอเอาใจช่วยให้ปลอดภัยทุกๆคนนะครับ

สรุปว่าผมขอเลื่อนการเขียนถึงรายการทีวี “สามเณรปลูกปัญญาธรรม ครั้งที่ 11” ไปก่อนนะครับ เพื่อจะได้ร่วมบันทึกถึงเหตุการณ์ระทึกขวัญในครั้งนี้ได้อย่างทันกาล

ที่สำคัญถ้าเขียนแล้วไม่สละสลวยกระโดดไปกระโดดมา อ่านไม่ค่อยรู้เรื่องก็ขออภัยด้วย เพราะเขียนรวดเดียวโดยมิได้ตรวจทานเลย แถมยังมีอาการผวานิดๆตกค้างอยู่อีกด้วย

เนื่องจากเป็นครั้งแรกในชีวิตผมที่อยู่ในเหตุการณ์ “แผ่นดินไหว” แม้จะอ่อนมาก เมื่อเทียบกับที่บ้านอื่นเมืองอื่นก็ตาม.


"ซูม"

คลิกอ่านคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” เพิ่มเติม

...