ทุนจีนเข้ามาปักฐานการลงทุนในไทย “กำลังขยายครอบงำตลาด” จากต้นทุนผลิตต่ำมีสต๊อกสินค้าหลากหลายทะลักเข้ามาส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกไทยที่มีต้นทุนสูงต้องสูญเสียลูกค้า และรายได้ไปเรื่อยๆ

โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม “มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัย” ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่อาจแข่งขันในแง่ราคา และประสิทธิภาพ “จนขีดความสามารถการเติบโตธุรกิจลดลง” สร้างผลกระทบในหลายมิติอยู่ขณะนี้

กลายเป็นปัญหาร้องเรียนมายังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นกรณีนอมินี หรือสินค้าต่างชาติผิดกฎหมายถูกวางจำหน่ายในช่องทางบนโลกออนไลน์มากกว่า 70% แล้วถ้ามาดูตัวเลขในปี 2567 จะเห็นว่าประเทศไทยนำเข้าสินค้ามากกว่า 2.86 ล้านล้านบาท และส่งออก 1.24 ล้านล้านบาท

แต่ขาดดุลการค้ากับจีน 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 6.67% ของ GDP ไทย ถ้าเทียบกับปี 2566 ขาดดุลเพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาท “หากไม่มีมาตรการใดๆอาจต้องขาดดุลเพิ่ม” ด้วยสงครามการค้าทำให้จีนไม่อาจส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มกระจายยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะไทย มีช่องโหว่เยอะที่จะทะลักเข้ามาเพิ่มมากขึ้นได้

แล้วแนวโน้มอุตสาหกรรมไทยที่จะได้รับความเสี่ยงสูงจากสินค้าจีนราคาต่ำนั้น ตามข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย “สินค้าเสี่ยงสูง” มีตั้งแต่โลหะ ปิโตรเคมี เครื่องซักผ้า สิ่งทอ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น “ความเสี่ยงปานกลาง” อย่างผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เฟอร์นิเจอร์ อาหารสัตว์ ที่จะได้รับผลกระทบจากสินค้าต่างชาติราคาต่ำ

สิ่งนี้ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญการแข่งขันกับสินค้าราคาถูกมากมาย ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ประธาน กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจฯ วิทยากรในหัวข้อการครอบงำของทุนจีนในประเทศไทย สะท้อนผ่านหลักสูตร ลกส.2 ที่จัดโดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ บอกว่า

...

ผลกระทบทุนต่างชาติรุกคืบเศรษฐกิจไทยไม่ว่าจะเป็นทุนต่างชาติราคาต่ำ หรือทุนต่างชาติสีเทาในช่วง 2-3 ปีมานี้มีปัจจัย 3 ด้าน คือ ด้านแรก...“นโยบายรัฐบาล” ในอุตสาหกรรมรถยนต์พยายามส่งเสริมการลงทุนรถอีวี เพราะมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนยานยนต์ และแรงงานกว่า 1 ล้านคนที่จะได้รับประโยชน์การย้ายสู่อุตสาหกรรมใหม่นี้

ทุนจีนทะลักเข้าไทย ครอบงำตลาดล่างเจ๊ง

เหตุนี้รัฐบาลจึงส่งเสริมการใช้รถอีวีแจกส่วนลดให้ผู้บริโภค 100,000-150,000 บาท ขณะเดียวกันก็ยกเว้นเก็บภาษีรถอีวีจีนจนยอดขายสูงขึ้น แต่ชิ้นส่วนยานยนต์กลับขายไม่ได้ตามเป้าโครงการจัดคู่ธุรกิจช่วยสร้างคำสั่งซื้อชิ้นส่วนยานยนต์ 20,000 ล้านบาท ที่สวนทาง ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมประมาณมูลค่าจริงไม่เกินพันล้านบาท

สาเหตุค่ายรถ “ไม่ซื้อชิ้นส่วนยานยนต์” เพราะเงื่อนไขของรัฐบาลให้ค่ายรถผลิตแค่แบตเตอรี่ และเลือกชิ้นส่วน EV จำนวน 1 ชิ้นจาก Motor BMS DCU ภายใน 3 ปี นับแต่ได้ใบส่งเสริมฯก็เข้าเงื่อนไข ซึ่งมุมนี้คิดง่ายไปจากงบประมาณสนับสนุนใช้รถอีวี 9,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 8,000 ล้านบาท ใช้อุดหนุนส่วนลดผู้บริโภค 150,000 บาท/คัน

ลักษณะทำผ่านฝ่ายอุปสงค์ “กระตุ้นยอดซื้อ” แต่ฝ่ายซัพพลายรับสนับสนุน 1,000 ล้านบาท จนผู้ผลิตชิ้นส่วนคนไทยไม่สามารถปรับเทคโนโลยีสอดรับห่วงโซ่อุตสาหกรรมใหม่ “แรงงาน” ก็ไม่มีทักษะย้ายสู่อุตสาหกรรมใหม่ แล้วโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จีนก็มาเปิดใหม่ เป็นเหตุให้ผู้ผลิตรถอีวีจีนใช้อ้างการซื้อชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยแล้ว

ด้านที่สอง...“สินค้าราคาต่ำ” ไทยนำเข้าสินค้าบริโภคอุปโภคจากจีนสูงมากเมื่อเทียบกับฟิลิปปินส์ เมียนมา เวียดนาม ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่เป็นสินค้าต้องอาศัยตลาดภายในประเทศ

“สมัยก่อนโรงงานผลิตถังกะละมังมักเน้นขายในประเทศ แต่วันนี้สินค้าจีนราคาถูกมาแย่งชิงตลาดแทบไม่หลงเหลือพื้นที่ให้ขายจนต้องปิดโรงงานอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นสินค้าราคาต่ำไร้คุณภาพขายกันเกลื่อนอย่างหม้อไฟฟ้าละลาย เพาเวอร์แบงก์ยัดไส้ทราย น้ำยาล้างไต สิ่งนี้กระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค” ดร.สิทธิพลว่า

ทุนจีนทะลักเข้าไทย ครอบงำตลาดล่างเจ๊ง

ทว่าหากไม่ทำอะไร “จะกระทบเศรษฐกิจรุนแรง” อันมีตัวสะท้อนจากข้อร้องเรียน กมธ.เศรษฐกิจฯ “ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากเหล็กคุณภาพต่ำ” นำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบ หรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียม และสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GL) เลี่ยงภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) จนเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

...

ตามการสำรวจตลาดพบว่า “มีการผสมสาร BORON กับสินค้า” ทำให้ไม่ต้องเสียอากรที่เรียกเก็บจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด “ราคาก็ต่ำกว่าที่ควรเป็น คุณภาพแย่ลง” เรื่องนี้เคยเชิญกรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ สนง.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อมาพูดคุยหาทางแก้ไขแต่ก็ไม่อาจหาทางออกได้

เพราะในมุมกรมศุลกากรเห็นว่าพิกัดสินค้าเปลี่ยนต้องให้กรมการค้าต่างประเทศระบุพิกัดให้ชัดเป็นสินค้าประเภทใด “สมอ.” ก็ไม่ตรวจชี้แจงว่าต้องอยู่ในขบวนการให้เป็นมาตรฐานบังคับมี 144 มาตรฐานที่จะสามารถยึดอายัดได้ ทำให้สินค้าเกิดใหม่ในยุคหลังมานี้ “ไม่มี มอก.บังคับ” ทำให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทำอะไรไม่ได้

สุดท้ายด้านที่สาม...“นอมินี” ปัจจุบันทุนจีนกระจายในหลายอุตสาหกรรมอย่างกรณี “ธุรกิจเกษตร” หากดูใน จ.ลำพูน มีล้งลำไย 5 เจ้า “เป็นทุนต่างชาติเครือข่ายเดียวกัน” แล้วปกติลำไยลำพูนมีผลผลิตปีละ 4-5 แสนตัน ถ้าสมมติล้งจับมือกันรับซื้อ กก.ละ 1 บาท จะทำให้รายได้เกษตรกรหายไป 400-500 ล้านบาทด้วยซ้ำ

ทุนจีนทะลักเข้าไทย ครอบงำตลาดล่างเจ๊ง

...

ยิ่งกว่านั้นล่าสุดจีนก็ประกาศ “ไม่รับขึ้นทะเบียนล้งใหม่ส่งทุเรียนไปจีน” ดังนั้นผู้ประกอบการล้งจะสามารถส่งสินค้าการเกษตรไปจีนได้ย่อมเป็นเจ้าเดิมที่ส่วนใหญ่มักเป็นล้งจีนแทบทั้งสิ้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ “นอมินีธุรกิจขนส่ง” ด้วยธุรกิจนี้ควบคุมไว้สำหรับคนไทยก็พบว่า 30-40% “เป็นบริษัทนอมินี” เช่นนี้ถ้าไม่ทำอะไรในปีหน้ากิจการคนไทย 30,000 แห่ง จะปิดตัว 20% หรือแม้แต่ “มหาวิทยาลัย” ก็ถูกครอบครองโดยทุนจีนถือหุ้น มีผู้บริหาร และกรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นชาวจีนอย่างน้อย 3 มหาวิทยาลัยแน่ๆ

ปัญหาคือ “ค่าเล่าเรียนจ่ายผ่านไปยังจีน” แล้วนักศึกษาจีนมาเรียนก็ไม่ได้เรียนจริงเพียงแต่อ้างขอวีซ่านักศึกษาเพื่อไปทำอย่างอื่น ยิ่งกว่านั้นรอบมหาวิทยาลัยก็ถูกทุนจีนเข้ามาทำธุรกิจหอพัก ร้านอาหาร เต็มไปหมด

ดังนั้นธุรกิจจีนในไทยส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า อำนาจการซื้อของผู้บริโภค และเงินไหลออกนอกประเทศ โดยเฉพาะการจ้างงานเปลี่ยนฉับพลัน “นโยบายรัฐ” ก็ปรับตัวไม่ทัน เสี่ยงตกงานอีก 7 แสนตำแหน่งในเร็วๆนี้

นี่เป็นสถานการณ์ทุนจีนเข้ามา “ลงทุนในไทย” เป็นโจทย์ใหญ่ให้รัฐบาลหาวิธีรักษาสมดุลในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และการปกป้องธุรกิจท้องถิ่น เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืนเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกกลุ่มในสังคม...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม