ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “ประเทศไทย” ได้เผชิญกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ทุนจีนสีเทา” ซึ่งหมายถึงการลงทุนจากชาวจีนที่มีแหล่งที่มาไม่ชัดเจนหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยใช้ “คนไทย” เป็น “นอมินี” เพื่อครอบงำธุรกิจในประเทศ

ปรากฏการณ์นี้...ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศในหลายมิติ

มิติทางกฎหมาย...ชัดเจนว่าใช้ “นอมินี” มีไว้เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัด

“ประเทศไทย” มีกฎหมายที่จำกัดการถือครองหุ้นของชาวต่างชาติในบางธุรกิจ เพื่อปกป้องผู้ประกอบการไทย อย่างไรก็ตาม กลุ่มทุนจีนสีเทาได้ใช้วิธีการจดทะเบียนบริษัทโดยใช้คนไทยเป็นนอมินี เพื่ออำพรางการเป็นเจ้าของที่แท้จริง

วิธีการนี้...ทำให้พวกเขาสามารถประกอบธุรกิจที่สงวนไว้สำหรับคนไทยได้

พุ่งเป้าไปที่...ช่องโหว่ทางกฎหมายและการบังคับใช้ แม้ว่ากฎหมายไทยจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการถือครองหุ้นของชาวต่างชาติ แต่การบังคับใช้กฎหมายยังคงมีช่องโหว่ การตรวจสอบและควบคุมการใช้ “นอมินี” ยังไม่เข้มงวดเพียงพอ ทำให้กลุ่มทุนสีเทาสามารถใช้ช่องว่างนี้ในการเข้าครอบงำธุรกิจในประเทศ

คำถามสำคัญมีว่า รู้ได้อย่างไร...ใครคือ “นอมินี”

นอมินี..ทุนสีเทา อุดช่องโหว่โกงกิน

...

ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) บอกว่า ธุรกิจอำพรางหรือนอมินี (Nominee) มักซ่อนตัวโดยใช้บุคคลหรือนิติบุคคลไทยเป็นฉากหน้า มีตั้งแต่พวกทำธุรกิจหลักแสนบาทไปถึงพันล้านบาทต่อเดือน บางรายหากินเงียบๆ ขณะที่บางรายกล้าแข็งใหญ่โตไม่เกรงกฎหมายไทย

“นอมินี...จะทิ้งร่องรอยบางอย่างให้ตรวจจับได้เสมอเช่นหลักฐานการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ข้อมูลที่ให้แก่ธนาคารเมื่อไปเปิดบัญชี พฤติกรรมที่ชาวบ้านหรือคนในวงการธุรกิจรู้เห็นเป็นประจำ รวมถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน โดยพบว่านอมินีจำนวนมากทำผิดซ้ำๆหลายกรณี”

อะไรทำให้เอ๊ะ...ว่าเขาเป็น “นอมินี” หรือเปล่า?

หากยังไม่เกิดเป็นข่าวหรือคดีขึ้นมาก่อน พฤติกรรมชวนสงสัยให้ธนาคารต้องตรวจสอบ เช่น กู้เงินมากเกินตัว ประวัติธรรมดาแต่ทำโครงการใหญ่ลงทุนเป็นร้อยล้าน ใช้เบอร์โทรศัพท์หรือที่ตั้งบริษัทเดียวกับพวกที่เคยเป็นคดีมาก่อนหน้า...ส่วนพวกนอมินีขนาดเล็กหากินในพื้นที่จำกัด

“คนที่มักรู้เห็นก่อนคือชาวบ้านและคนทำธุรกิจประเภทเดียวกันหรือเป็นคู่แข่ง แต่การดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ไม่เคยเห็น มีแต่ข่าวการเรียกเก็บสินบนหรือส่วยรายเดือน”

“ปปง.” มีอำนาจโดยตรงที่ต้องจัดการ มีบุคลากรพร้อมเทคโนโลยีพอสมควร ที่สำคัญมีอำนาจสั่งให้ธนาคารและสถาบันการเงินต้องเก็บข้อมูล...รายงานพฤติกรรมการเงินของลูกค้าตามที่กำหนดอีกด้วย เช่น ประวัติข้อมูลส่วนตัว ธุรกิจการค้า รายได้และที่มาของรายได้ สถานะการเงิน ฯลฯ

ทว่า...“ปปง.” ก็มีข้อจำกัดในเรื่องชำนาญการตรวจสอบเส้นทางการเงินบุคคลธรรมดามากกว่านิติบุคคล

ส่วน “กรมสอบสวนคดีพิเศษ”...มีส่วนในการทำคดีประเภทนี้บ้าง ขณะที่ “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ชี้ว่ามีธุรกิจเข้าข่ายนอมินีมากถึง 2.6 หมื่นราย เข้าใจว่าขาดทรัพยากรและมีภารกิจหลักอยู่

จึงยังมิได้ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบเชิงลึกผู้มาใช้บริการ

สำหรับหน่วยงานอื่นของรัฐที่นอมินีไปติดต่อ เช่น ยื่นประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ขอเช่า ขอสัมปทานฯลฯ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานเองแต่ไม่ค่อยทำกัน เหตุเพราะไม่มีอำนาจโดยตรง ขาดบุคลากรที่ชำนาญ ขาดเครื่องมือหรือกลไกที่จะเรียกข้อมูลจากธนาคารหรือหน่วยงานรัฐอื่น

ดร.มานะ ย้ำว่า การทลายธุรกิจอำพรางที่ผิดกฎหมายมีเป้าหมายสำคัญคือ ค้นหาตัวผู้มีอำนาจสั่งการหรือรับผลประโยชน์ที่แท้จริงของกิจการนั้น ซึ่งอาจไม่มีชื่อปรากฏในบริษัทที่ถูกตรวจสอบเริ่มต้นเลย

อุปสรรคคือ...พวกเขามักใช้ผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลต่างชาติและถือหุ้นไขว้กันหลายชั้น อาจมากถึง 3-5 ชั้น ทำให้การตรวจสอบทำได้ยาก

ยิ่งหากบริษัทผู้ถือหุ้นนั้นจดทะเบียนในประเทศที่ปกปิดความลับลูกค้า (Tax HavenCountry) เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง หมู่เกาะเคย์แมน ฯลฯ การตรวจสอบก็แทบจะเป็นไปไม่ได้

“การตรวจสอบเส้นของเงินที่ถูกโอนกระจายไปเป็นทอดๆ จนกว่าจะถูกเปลี่ยนเป็นเงินคริปโต ทำได้ง่ายกว่า เว้นแต่บัญชีธนาคารนั้นอยู่ในประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลลูกค้าเหมือนการจดทะเบียนบริษัท”

ทั้งนี้การให้ข้อมูลเพื่อจดทะเบียนบริษัทและเปิดบัญชีธนาคาร ต่างยึดหลักการแสดงตนด้วยความบริสุทธิ์ใจ (Self-Declare) หากภายหลังพบว่าเป็นข้อมูลเท็จย่อมถือเป็นความผิดได้

น่าสนใจว่ากรณีเช่นนี้ ทำไมธนาคารต่างชาติทำได้ดีกว่าไทย?

ดร.มานะ มองว่า ธนาคารต่างชาติมักมีศักยภาพสูงกว่าเพราะมีฐานข้อมูลลูกค้าทั่วโลกและลงทุนเทคโนโลยีมากกว่า อาจเป็นเพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละประเทศที่เขาไปลงทุน

“ประเทศไทยกฎหมายยังถูกทำให้หละหลวม การบังคับใช้ไม่คงเส้นคงวา เอื้อให้อภิสิทธิ์ชน บวกกับมีคอร์รัปชันบ่อยครั้ง ธนาคารจึงมีมาตรฐานต่างกันเพื่อลดต้นทุนและเน้นความสะดวกเอาใจลูกค้าของตน”

...

“ธุรกิจนอมินี” เป็นจุดเริ่มต้นของการหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ ฉ้อโกง คอร์รัปชัน สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อสังคม...เศรษฐกิจไทย จำเป็นยิ่งที่ “รัฐ” ต้องมีมาตรการ “ปราบปราม” อย่างเข้มงวดจริงจัง ไม่เห็นแก่หน้าใคร.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม