โศกนาฏกรรมซ้ำซากยังไร้ทางแก้สำหรับ “อุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้างถนนพระราม 2” ไม่ว่าจะเป็นเครนถล่ม วัสดุก่อสร้างร่วงหล่น คานสะพานพัง ก่อเกิดการสูญเสียที่ไม่มีวันจบสิ้นมาจนทุกวันนี้
ล่าสุดคานเหล็กก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 ดาวคะนองวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันตกพังถล่มทับคนงานตาย 5 คนบาดเจ็บ 24 คน ทำให้ผู้ใช้ถนนรู้สึกไม่ปลอดภัยและสูญเสียความเชื่อมั่นในโครงสร้างระยะยาวจน รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ลงพื้นที่ตรวจสภาพจุดเกิดเหตุ
เบื้องต้นสันนิษฐานว่า “ตัวโครงสร้างรองรับโครงเหล็กเป็นแม่แบบ Temporary Structure” น่าจะมีปัญหาการขยับตัวเป็นเหตุสุดวิสัยจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของดินอ่อนตัวจนบริเวณนั้นทรุดตัวรับน้ำหนักไม่ไหว “เสาโครงสร้างเอียงส่งผลให้ตัวแม่แบบหลุดออก” นำคอนกรีตที่กำลังเทลงมาทับทางยกระดับเดิมถล่มลงทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ต้องรอเคลียร์พื้นที่ก่อน “ค่อยสำรวจโดยละเอียด” แต่ถ้าตรวจสอบระดับดินอยู่ในสภาพปกติก็ต้องย้อนมาดูตัวโครงสร้างเสาค้ำยันปกติหรือไม่ เพราะบางครั้งผิดพลาดแค่ 1 เซนติเมตรก็เกิดการเอียงถล่มได้ หรืออาจตรวจกระบวนการก่อสร้าง การวางแผนก่อนการก่อสร้าง คนงาน เพื่อเก็บรายละเอียดก่อนจะสรุปสาเหตุ

...
จากนั้นค่อยมาดูว่า “จุดผิดพลาดใครรับผิดชอบ” ส่วนมีคนมองว่าสาเหตุเกิดจากการเทคอนกรีตหนามากเกินไปนั้น “คงไม่น่าใช่” เพราะผู้รับเหมามีประสบการณ์ต้องรู้ใช้คอนกรีตเท่าไหร่ให้เหมาะสม “คงไม่ได้เกิดจากการใช้คอนกรีตหนาเกินไป” แม้แต่เวลาทำงานเหนื่อยล้าจนก่อเกิดข้อผิดพลาดก็อาจจะไม่เกี่ยวเช่นกัน
เพราะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนหน้างานทั้งผู้ควบคุม และคนงาน ดังนั้นเหตุครั้งนี้น่าจะมาจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของดินการรับน้ำหนักปูน 10 ตัน เกิดเอียงตัวจนแม่แบบหลุดถล่ม แต่คงต้องรอผลตรวจอีกครั้ง
หากถามว่า “ทำไมอุบัติเหตุระหว่างก่อสร้างถนนเกิดขึ้นบ่อยครั้งนั้น” ตามหลักมักเกี่ยวกับการบริหารที่ไม่เหมาะสม หรือขาดการวางแผนไม่รัดกุม “ไม่มีการประเมินความเสี่ยงอย่างละเอียด” นำไปสู่การเกิดปัญหาเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง และสร้างความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินได้เสมอ
ดังนั้นการป้องกันอุบัติเหตุ “ต้องตรวจสอบควบคุมเข้มงวด” ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ และสภาพพื้นที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีทีมงานรับผิดชอบเพื่อให้การทำงานปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
เช่นเดียวกับ ดร.สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย บอกว่า หากถอดบทเรียนอุบัติเหตุระหว่างก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ “บริษัทได้งาน” มักจ้างบริษัทอื่นมาทำงานรับเหมาช่วง (Subcontract) ที่มีวิศวกรระดับเล็กไม่ควบคุมเข้มงวดเหมือนวิศวกรระดับสูงมีประสบการณ์
แม้แต่แรงงานก็ใช้คนต่างด้าว “ก่อเกิดปัญหาไม่เป็นตามมาตรฐาน” ส่งผลให้มีความผิดพลาดทำให้เกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นหากจะป้องกัน “ภาครัฐ” ต้องมีหน่วยงานกลางเป็นตัวแทนเข้าไปออดิท (Audit) ตรวจสอบสอดส่องความเคลื่อนไหวในการก่อสร้างทุกขั้นตอน แต่ปัจจุบันใช้มาตรการสมุดพกผู้รับเหมาลงบันทึกการตรวจสอบ
แล้วที่ผ่านมาก็ไม่มีใครตรวจสอบ “ปล่อยให้ Subcontract ทำงานไปที่ถือว่าเป็นวิศวกร” แล้วเมื่อเกิดอุบัติเหตุภาครัฐก็จะกล่าวโทษ Subcontract ทั้งที่เรื่องนี้บริษัทผู้รับเหมาดูแลตรงควรต้องรับผิดชอบทั้งหมด ดังนั้นต้องกำหนดอัตราการลงโทษปรับให้ชัดเจน หรือหากเกิดเหตุซ้ำอาจพิจารณายกเลิกเปลี่ยนบริษัทอื่นมาทำแทน
ถ้าเปรียบเทียบกับต่างประเทศ “การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่” จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันวางแผนประเมินการทำงานก่อน “แถมตั้งบริษัทเอกชนเป็นองค์กรกลาง” คอยทำหน้าที่ตรวจการดำเนินงานผู้รับเหมา และยิ่งหากเกิดอุบัติซ้ำซากอย่าง “ญี่ปุ่น” คนนั่งหัวโต๊ะกำกับดูแลคงลาออกแสดงความรับผิดชอบไปแล้ว

ประเด็นการก่อสร้างถนนพระราม 2 เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ “มาจากการทรุดตัวของถนนจนไม่เสถียร” แล้วดินก็ไม่เหมาะสมรองรับน้ำหนักของการจราจรส่งผลให้เกิดการเคลื่อนที่ของพื้นถนน ทำให้มีความเสี่ยงหลังการก่อสร้างโครงการคร่อมถนนเสร็จก็มีโอกาสถล่มอีก เพราะโลกร้อน น้ำทะเลหนุน และแผ่นดินทรุดตัวที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด
...
แล้วโครงการขนาดใหญ่ถนนพระราม 2 ก็ตั้งในพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นดินเหนียว อ่อนนุ่มดินตกตะกอนอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำเดิม “อันตรายในอนาคต” ตามปกติพื้นดิน กทม.ทรุดตัวปีละ 1-2 ซม. ในบางแห่งทรุดตัว 1-2 นิ้ว โดยเฉพาะพื้นที่ใช้น้ำบาดาลมากอย่างบางนา บางกะปิ มีนบุรี และฝั่งตะวันตกของ กทม. เช่น ถ.พระราม 2 มหาชัย จ.สมุทรสาคร
เช่นนี้การก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่บนถนนพระราม 2 อาจทำให้การทรุดตัวดินมากขึ้นกว่าเดิมทุกปี แล้วด้วยสภาวะโลกร้อนขึ้นเกิน 1.5องศาฯ ทำให้ระดับน้ำทะเลสูง 5.8 มิลลิเมตรต่อปี โดยเฉพาะอ่าวไทยรูปตัว ก. ขณะที่ IPCC ประเมินระดับน้ำทะเลสถานีป้อมพระจุลจอมเกล้าจะสูงขึ้น 0.39 ม. ในปี 2573 และระดับ 0.73 ม. ในปี 2593
หากโครงการขนาดใหญ่ทับลงไปอีก “ดินยิ่งทรุดตัวมีน้ำมาท่วมขังใต้ดิน” ถ้าก่อสร้างเสร็จมีแรงกดทับลงมา และการทรุดตัวของดิน บวกกับน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น “มีโอกาสให้โครงสร้างถล่มได้” ฉะนั้นอนาคตต้องประเมินผลกระทบทางวิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมให้รอบคอบ นำโอกาสเกิดภัยพิบัติจากสภาวะโลกร้อนมาคิดร่วมด้วย
ส่วนโครงการก่อสร้างบนทางหลวงพระราม 2 นั้น มี 3 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย รับผิดชอบโดยกรมทางหลวง
โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว รับผิดชอบโดยกรมทางหลวง และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก รับผิดชอบโดย กทพ. คาดว่าจะสามารถเปิดให้
ทดลองใช้บริการภายในปี 2568
ตอกย้ำต่อว่า “ถนนพระราม 2 เป็นคันดินกั้นน้ำทะเลในอนาคต” เพราะเป็นถนนเลียบชายทะเลป้องกันน้ำทะลักเข้าในเมือง “การกัดเซาะน้ำทะเล” อาจทำให้ดินรองรับถนนถูกพัดพาไปเกิดการทรุดตัวแน่นอน
...
แต่ที่ผ่านมา “การออกแบบกลับไม่คำนึงการเพิ่มขึ้นน้ำทะเล” ที่จะกัดเซาะชายฝั่งส่งผลต่อความไม่เสถียรภาพของถนนพระราม 2 “จนไม่ควรก่อสร้างอะไรเพิ่มเติม” ส่วนที่ดำเนินการแล้วก็ต้องบำรุงรักษาไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นการวางแผนควบคุมที่ดี “กำหนดองค์กรกลาง” ติดตามตรวจสอบงานผู้รับเหมาจะช่วยให้โครงการดำเนินไปได้ราบรื่น และปลอดภัย หากเกิดอุบัติเหตุซ้ำหน่วยงานรัฐกำกับดูแลควรมีผู้รับผิดชอบ.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม