จีนเทาอีกแล้ว! กว้านซื้อที่ดินไทย ปลูกทุเรียนขายจีน

‘ระยอง จันทบุรี ตราด’ คือความภาคภูมิใจของไทยในฐานะ ‘สวรรค์ของผลไม้’ ไม่ว่าจะเงาะ มังคุด ลองกอง และราชาผลไม้อย่างทุเรียน ถ้ามาจากดินแดนตะวันออกแห่งนี้ นั่นก็รับประกันความอร่อยให้ผู้บริโภคได้แล้ว

ทว่าความภาคภูมิใจนี้อาจเปลี่ยนไป เมื่อทุเรียนไทยวันนี้ กลายเป็น ‘ทุเรียนทุนจีน’ ไปเสียแล้ว

‘ตะวันออก’ สวรรค์ของไม้ผลเมืองร้อน

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2566 ระบุว่า ระยอง จันทบุรี ตราด มีพื้นที่ปลูกทุเรียนเป็นอันดับ 1 ของประเทศ รวม 3 จังหวัด 636,254 ไร่ (คิดเป็น 41% ของพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งประเทศ) และมีผลผลิตรวม 888,094 ตัน (คิดเป็น 52.65% ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ)

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ทุเรียนไทยมีชื่อเสียงชนิดที่กล่าวกันว่า ประเทศไหนปลูกก็อร่อยไม่เท่า ทำให้ตลาดมีปริมาณความต้องการทุเรียนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ ‘ตลาดจีน’ และทำให้ทุเรียนมีราคาสูงขึ้น ตลอดจนเกิดการขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น จากตัวเลขพบว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น 132.78% คือจากปี 2557 มีพื้นที่ 666,504 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 1,551,473 ไร่ในปี 2566 

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ข้อมูลจาก Trademap ระบุว่า การผลิตและการค้าผลไม้ของไทยในตลาดโลก ช่วงปี 2547 – 2566 การค้าทุเรียนโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่า โดยในปี 2566 มีปริมาณการส่งออกทุเรียนโลกสูงถึง 1,621,435 ตัน (มูลค่า 6,648.1 ล้านเหรียญสหรัฐ) ประเทศผู้ส่งออกทุเรียนที่สำคัญ ได้แก่ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก

ในปี 2565 ไทยส่งออกทุเรียน คิดเป็น 82% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดของโลก ถึงแม้ว่าส่วนแบ่งทางการตลาดจะลดลงเหลือ 61% ในปี 2566 จากสาเหตุที่จีนได้นำเข้าทุเรียนจากเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ปริมาณการส่งออกทุเรียนของไทยในปี 2566 ยังคงเพิ่มขึ้นจากปี 2565 

สำหรับประเทศที่นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ของโลก คือ จีน นำเข้าทุเรียนมากถึง 1,425,914 ตัน ในปี 2566 หรือ 89% ของการนำเข้าทุเรียนทั่วโลก โดยจีนนำเข้าทุเรียนจากไทยมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันจีนยังคงเข้มงวดในการนำเข้าทุเรียน และอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนได้เฉพาะจากไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียเท่านั้น

การมาของ ‘ล้งจีน’ ครอบงำการค้าผลไม้ไทย

‘ล้ง’ คือโรงคัดแยกและบรรจุผลไม้

‘ล้งจีน’ คือพ่อค้าชาวจีนที่เข้ามาตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้ในไทย 

เดิมที การซื้อขายทุเรียนส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวและขายกันเองให้กับพ่อค้ารับซื้อในท้องที่ พ่อค้ารวบรวมตลาดกลาง หรือสถาบันเกษตรกรและผู้ส่งออก จากนั้นทุเรียนจะถูกส่งต่อไปยังตลาดขายส่งเพื่อกระจายผลผลิตไปยังภายในประเทศหรือส่งออกไปต่างประเทศ

แต่หลังจากปี 2555 เป็นต้นมา เริ่มมี ‘ล้ง’ เพื่อส่งออก โดยเข้ามารับซื้อทุเรียนจากเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ทั้งล้งของคนไทย ล้งจีน ล้งเวียดนาม ส่งผลให้การส่งออกทุเรียนไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมน้อยกว่า 30% เป็น 70% ในช่วง 10 ปี 

ข้อมูลวันที่ 28 พ.ค. 2567 จากกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ‘ล้ง’  ที่ส่งทุเรียนออกไปจีน มีจำนวนรวม 2,122 ราย จากเดิมที่มีล้งเพียง 981 รายในปี 2562 เพิ่มขึ้น 56.8% กันเลยทีเดียว โดยหากโฟกัสที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี ตราด พบว่ามีล้งรวม 988 ล้ง แบ่งออกเป็น ระยอง 50 ล้ง ตราด 29 ล้ง จันทบุรี 909 ล้ง 

โดยขนาดของ ‘ล้ง’ ที่รับซื้อทุเรียนเพื่อการส่งออก แบ่งออกเป็น 3 ขนาดคือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ตามปริมาณการส่งออกทุเรึยนต่อปี โดยพบว่า 90% ของล้งไทย มีขนาดเล็กและขนาดกลาง ปริมาณส่งออก 100-300 ตู้ต่อปี และ 301-999 ตู้ต่อปี ส่วนล้งขนาดใหญ่ ส่วนมากเป็นของต่างชาติ มีปริมาณการรับซื้อมากกว่า 1,000 ตู้ขึ้นไป …อย่างไรก็ดี มีล้งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนมาตรฐาน GMP อีกจำนวนมาก 

มีนาคม 2567 สำนักข่าว ThaiPBS รายงานว่า ในจังหวัดจันทบุรี มีล้งของคนไทยแค่ 10% เท่านั้น ที่เหลือเป็นการร่วมทุนระหว่างคนไทยกับคนจีน เช่นเดียวกับการรายงานข่าวของประชาชาติธุรกิจ ที่ระบุว่า ล้งจีนที่เข้ามาตั้งใหม่ มักสร้างล้งขนาดใหญ่ บางรายตั้งเป็นบริษัทนิติบุคคล มีทั้งแบบร่วมทุนกับคนไทย และสร้างล้งให้คนจีนมาเช่า การขยายตัวของล้งจีนส่งผลให้ 5-6 ปีที่ผ่านมา ราคาซื้อขายที่ดินบริเวณถนนสายหลัก (ทำเลในการสร้างล้ง) เพิ่มขึ้นกว่า 40% จากราคาไร่ละ 5-7 ล้านต่อไร่ พุ่งเป้น 7-8 ล้านต่อไร่  

นอกจากนี้ยังพบว่า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นที่ตั้งของล้งจีนจำนวนมาก เนื่องจากบริเวณนั้นติดถนนสุขุมวิท และมีแม่น้ำวังโตนดไหลผ่าน (แม่น้ำที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของจังหวัดจันทบุรี) นอกจากนี้ ที่ผ่านมากรมชลประทานได้ดำเนินการวางท่อน้ำดิบกระจายไปแทบทุกพื้นที่ 

ส่วนที่อำเภอท่าใหม่ยังมีสวนทุเรียนเก่าแก่ของจังหวัดที่ปลูกในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ ที่ดินและสวนทุเรียนจึงมีราคาแพง ทำให้ทุนจีนนิยมซื้อที่ดินเพื่อทำล้ง มากกว่าซื้อสวนทุเรียนแปลงใหญ่ 

การที่จีนเข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่การส่งออกผลไม้ของไทย  อาจนำไปสู่การมีอำนาจต่อรองสูงและการผูกขาดของผู้ประกอบการต่างชาติ จนทำให้ระบบการค้าเกิดปัญหาและเกิดผลเสียต่อผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยได้ 

กว้านซื้อที่ดิน ‘คนไทย’ ปลูกทุเรียน ‘คนจีน’

นอกจากล้งจีนที่ขยายตัวในไทยต่อเนื่อง ปัจจุบัน ทุนจีนเริ่มนิยมซื้อ ‘ที่ดินสวนทุเรียน’ มากขึ้น นั่นเพราะหากคนจีนเป็นเจ้าของสวนเสียเอง นอกจากรีบประกันว่าจะมีผลผลิตเข้าสู้ล้งจีนเป็นจำนวนตามที่ต้องการแล้ว ยังสามารถทำกำไรได้มหาศาลอีกด้วย เพราะสามารถกำหนดราคาส่งออกได้ในราคาที่สูงได้นั่นเอง 

ข้อมูลจาก Land Watch and EEC Watch  พบว่า จากการสำรวจ 4 อำเภอ (คือแก่งหางแมว เขาคิชฌกูฏ มะขาม และนายายอาม) พบว่า ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้ที่ดินราคาถูก 

โดยสวนทุเรียนคนจีนที่สำรวจพบ จะมีจุดสังเกตคือ มีรูปหมูภาษาจีนติดไว้ที่หน้าสวน, สวนมีลักษณะรั้วรอบขอบชิด ไม่มีบ้านคนอาศัย, มีการใช้เทคโนโลยีเกษตรมากกว่าสวนทุเรียนไทยทั่วไป เช่น โดรนฉีดพ่นยา สปริงเกอร์ฝอยรดน้ำทั่งวัน ฯลฯ  

ทุนจีน มีวิธีเข้ามาครอบครองสวนทุเรียนไทย 2 รูปแบบคือ

  1. ซื้อที่ดินมีโฉนด ผ่านนอมินีคนไทย หรือซื้อในนามบริษัทที่เป็นนอมินีของทุนจีน 
  2. ซื้อที่ดินแบบผิดกฎหมาย ได้แก่ ซื้อที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนฯ ผ่านนอมินีคนไทย

ตัวอย่างการสำรวจ 

หนึ่ง - หมู่ 10 ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว จันทบุรี พบแปลงสวนทุเรียนจีนราว 100 ไร่ มีรั้วรอบขอบชิด มีกล้องวงจรปิด ซื้อโดยนอมินีคนไทย ทำสัญญาซื้อผิดกฎหมาย เพราะที่ดินนี้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม่สามารถซื้อขายได้ 

(หมู่ 10 ตำบลพวา อำเภแแก่งหางแมว)

สอง - ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จันทบุรี ที่ดินแปลงนี้มีขนาด 300 ไร่ เดิมเป็นสวนปาล์มน้ำมัน ครอบครองโดย ‘เสี่ยมอม้า’ ตั้งอยู่บริเวณใต้อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และมีคลองหางแมวไหลผ่านพื้นที่ (ทำให้สวนได้รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำตลอดทั้งปี) ปัจจุบัน ที่ดินนี้กำลังทยอยทำเป็นสวนทุเรียน ถือครองที่ดินโดยทุนจีน

(ตำบลขุนซ่อง อำเภแแก่งหางแมว จันทบุรี)

สาม - หมู่ 5 อำเภอพวา อำเภอแก่งหางแมว จันทบุรี พบว่า มีความพยายามครอบครองที่ดินของทุนจีน โดยบริษัทนอมินีขอเช่าที่ดินป่าสงวนแห่งชาติจากกรมป่าไม้ บริเวณที่เรียกว่า ‘สวนยางธีรพงษ์ 5’ พื้นที่ประมาณ 1,377 ไร่ โดยก่อนหน้านี้ บริษัทแกรนด์รับเบอร์ได้ขอเช่าที่ดินจากกรมป่าไม้เป็นเวลา 30 ปีเพื่อปลูกยางพารา และเพิ่งหมดสัญญาไปเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2567

ต่อมามีบริษัทนอมินีของทุนจีน 2 บริษัท ได้ทำเรื่องขอเช่าที่ดินเพื่อปลูกทุเรียน ชาวบ้านในพื้นที่จึงได้ทำการตรวจสอบและพบว่า บริษัทดังกล่าวเป็นนอมินีของทุนจีนจริง ชาวบ้านจึงร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร และผู้ตรวจการแผ่นดิน จากการตรวจสอบปรากฏว่า มีหลายประเด็นที่กรมป่าไม้ไม่สามารถชี้แจงได้ชัดเจน จึงขอให้ชะลอเรื่องนี้ไว้

นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ที่สะท้อนถึงความพยายามของทุนจีนในการครอบครองที่ดินเพื่อปลูกทุเรียน ด้วยการเช่าที่ดินราคาถูกจากรัฐบาล 

(แปลงขอเช่าใช้ประโยชน์ที่ดิน ป่าสงนแห่งชาติจากกรมป่าไม้)

สี่-ตำบลห้วยทับ ด้านข้างโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง พบว่า ที่ดินราว 150 ไร่ เดิมทีเป็นสวนยางพาราเพิ่งถูกโค่นไปไม่นาน และกำลังปรับพื้นที่ให้เรียบ ที่ดินนี้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่มีการถือครองที่ดินผ่านนอมินี (ไม่ทราบชื่อ) โดยทุนจีนเลือกซื้อสวนทุเรียนติดคลองน้ำ เพื่อไม่ให้ขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง 

(สวนทุเรียน แปลงข้างโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง)

ห้า-สวนทุเรียนในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง พบว่า ทุนจีนพยายามซื้อที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน หรือ น.ส.3 ส่วนมากเป็นสวนทุเรียนเก่า โดยมีนอมินีจีนรายใหญ่ของอำเภอ คือ กำนัน ต. ซึ่งเป็นผู้ปลูกทุเรียนรายใหญ่ของระยองและเป็นผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งของจังหวัด (นอมินีคนนี้ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งด้วย) โดยกำนัน ต. ถือครองสวนทุเรียนแทนคนจีนประมาณ 900 กว่าไร่

รายงานของ Land Watch and EEC Watch ยังเปิดเผยข้อมูลจากประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แห่งหนึ่งในจังหวัดจันทบุรี ว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้รับการติดต่อจากเจ้าของล้งจีน ให้มาช่วยออกแบบสวนทุเรียนและร่วมทำสวนทุเรียน โดยการแบ่งเปอร์เซ็นต์กัน รวมพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 10,000 ไร่ สะท้อนให้เห็นว่า ทุนจีนได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินและควบคุมกลไกตลาดทุเรียน จากเดิมที่เป็นแค่พ่อค้าคนกลาง แต่อยากมาเป็นผู้ผลิตเองด้วย ทำให้เกษตรกรรายย่อยค่อยๆ สูญเสียที่ดินทำกินไปเรื่อยๆ จนคาดว่าจะเกิดปัญหาอื่นตามมาในอนาคต

นอกจากนี้ ยังพบสวนทุเรียนที่เข่าข่ายผิดกฎหมาย และทำลายทรัพยากรป่าไม้ ภูเขา แหล่งน้ำ ใน 2 ลักษณะด้วยกันคือ 

  • การทลายภูเขาติดต่อกันหลายลูก 

โดยทำเป็นขั้นบันไดเพื่อปลูกทุเรียน เช่นที่ หมู่ 3 ตำบลนนทรีย์ อำเภอบ่อไร่ โดยเฉพาะก่อนถึงจุดผ่อนปรนบ้านมะม่วง ชายแดนไทย-กัมพูชา พบตลอดแนว 

  • ทำสวนทุเรียนบนเกาะที่ยื่นเข้าไปในแหล่งน้ำ และบนภูเขาริมอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นที่ดินของกรมชลประทาน 

สำรวจพบอย่างน้อย 6 จุด รอบอ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ ผลกระทบคือ นอกจากเป็นการทำลายป่าไม้และภูเขาแล้ว สารเคมีที่ใช้ในปริมาณมหาศาลในสวนทุเรียน เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมนต่างๆ อาจไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำจนเกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำหลักที่ใช้อุปโภคบริโภคในหลายพื้นที่ก็เป็นได้ 

โดยรายการ Big Story เรื่องใหญ่ Thai PBS ได้เผยแพร่สารคดีข่าววันที่ 15 มีนาคม 2568 เปิดเผยว่าพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ปัจจุบันพบว่า พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นสวนทุเรียนหลายจุดด้วยกัน รวมแล้วกว่า 200 ไร่ โดยพบต้นทุเรียน สิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ของกรมชลประทาน และบางจุดอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2566

(ภาพจากสกู๊ปข่าว ป่าและอ่างทุเรียน ขบวนการไทยเทาและจีนเทา รายการ Big Story เรื่องใหญ่ Thai PBS เปิดเผยสวนทุเรียนทุนจีนที่บุกรุกปลูกทีเรียนบนเกาะกลาง อ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ของกรมชลประทาน)

 โดยคนในพื้นที่ต่างทราบกันดีว่า พื้นที่อ่างเก็บน้ำด่านชุมพลถูกบุกรุกทำแปลงทุเรียนขนาดใหญ่ 

ความพยายามถือครองที่ดินไทยของ ‘ทุนจีน’

รายงานของ Land Watch and EEC Watch ระบุว่า ทุนจีนที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินไทย เป็นกลุ่มเดียวกับทุนจีนที่ทำธุรกิจ ‘ล้งทุเรียน’ โดยทุนจีนมักเลือกซื้อที่ดินใกล้แหล่งน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงจากวิกฤตภัยแล้ง และไม่นิยมซื้อที่ดินที่มีโฉนด หรือ น.ส.3 เพราะที่ดินมีราคาแพง ทุนจีนจึงเลือกซื้อที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นพื้นที่ป่าสงวน

วิธีการซื้อที่ดินคือ 

  1. มีนายหน้าคนไทยโพสต์ซื้อที่ดินในกลุ่มเฟซบุ๊กซื้อขายที่ดิน เช่น หาซื้อที่ดินเปล่า หรือสวนทุเรียน เนื้อที่ 100 ไร่ขึ้นไป ที่ดินติดแหล่งน้ำ เป็นต้น 
  2. จากนั้นจะมีนายหน้าคนไทยเข้ามาตอบ แจ้งว่าที่ดินอยู่ไหน พร้อมเบอร์โทร 
  3. คนจีนหรือตัวแทนจะลงไปดูพื้นที่ หากถูกใจก็จะซื้อเลย 
  4. มีบางเฟซบุ๊กที่คนจีนใช้ชื่อคนไทยเป็นอวตาร แต่จริงๆ แล้วเป็นคนจีนที่โพสต์หาซื้อที่ดินเอง ซึ่งจะทำให้ได้ที่ดินราคาถูกลง ไม่ต้องหักเปอร์เซ็นต์ให้ค่านายหน้า

(ตัวอย่างประกาศหาซื้อที่ดินสวนทุเรียนในเฟซบุ๊ก)

นอกจากนี้ยังพบว่า นายหน้าที่ดินส่วนใหญ่ คือระดับ ‘ผู้นำชุมชน’ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะผู้นำชุมชนเหล่านี้รู้ว่าที่ดินเป็นของใครในหมู่บ้าน รู้จักเข้าชองที่ดิน และรู้ตำแหน่งที่ตั้งและขอบเขตของที่ดินแปลงนั้นๆ ทำให้ทุนจีนวางใจ 

ส่วนการแบ่งผลประโยชน์คือ ในขั้นตอนการทำสัญญา จะทำที่บ้านของผู้นำท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นผู้รับรองว่าที่ดินมีอยู่จริง และได้รับเงิน 3,000-5,000 บาทต่อสัญญา ส่วนนายหน้าซื้อขายที่ดิน จะได้เปอร์เซ็นต์จากการขาย โดยนายหน้าซื้อที่ดินและขายที่ดินจะแบ่งเปอร์เซ็นต์กันครึ่งหนึ่ง

โดยแรงจูงใจที่ทำให้ชาวบ้านขายที่ดิน นั่นเพราะได้ราคาดี เนื่องจากที่ดินที่ขายให้ทุนจีนราคาสูงมาก รวมถึงผลประโยชน์ที่นอมินีได้จากการถือครองที่ดินแทนทันจีน ก็สูงมากด้วยเช่นกัน 


อ้างอิง 

สร้างสรรค์โดย
ทีมข่าวเฉพาะกิจ

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

Share

เราใช้คุ้กกี้ 

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookie Policy)

รับทราบ