
เอื้อทุนสุดโต่ง? เปิด ร่าง พ.ร.บ SEC ในมือ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’
‘แลนด์บริดจ์’ คือเมกะโปรเจกต์ที่รัฐบาลไทยหลายสมัยหมายมั่นว่าจะมาพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย ด้วยการสร้างทางเดินเรือใหม่ของโลก รองรับด้วยท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่สองฝั่งทะเลชุมพร-ระนอง เชื่อมต่อด้วยทางรถไฟรางคู่และพัฒนามอเตอร์เวย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการค้า และดึงลูกค้าจากช่องแคบมะละกามาใช้เส้นทางของไทย และยกระดับไทยเป็น Global Infrastructure Connection (การเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานระหว่างโลก)
โครงการนี้ ไม่ได้อาศัยกลไกและอำนาจทางกฎหมายตามปกติ แต่ใช้วิธี ‘ออกกฎหมายใหม่’ เพื่อผลักดันแลนด์บริดจ์และโครงการอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติ โดยกฎหมายใหม่ที่ว่า คือร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. .... (Southern Economic Corridor: SEC) หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘ร่าง พ.ร.บ. SEC’ ซึ่งถูกเสนอเข้าสู่สภาฯ จำนวน 3 ฉบับ โดย
1. อนุทิน ชาญวีรกูล (สส.ภูมิใจไทย และคณะ)
2. สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง (สส.ภูมิใจไทย และคณะ)
3. อนุชา บูรพชัยศรี (สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ และคณะ)
ร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ กำหนดพื้นที่เป้าหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้ 4 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และกำหนดไว้ว่า 10 จังหวัดภาคใต้อาจถูกประกาศเพิ่มเติมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ในภายหลัง
จุดประสงค์ของร่างฯ นี้ คือการเปลี่ยนภาคใต้ตามแผนเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล โดยเน้นอุตสากรรมและการลงทุนจากต่างประเทศ
การออกกฎหมายใหม่ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด ทว่าบทความนี้ จะพาผู้อ่านลงในไปรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ที่หากอ่านดูดีๆ อาจพบว่าเป็น ‘ซูเปอร์กฎหมาย’ ที่ออกแบบมาให้เอื้อการลงทุน จนอาจหลงลืมสิทธิและคุณค่าหลายประการของประชาชน โดยในหนังสือ ‘Land bridge Effect ผลกระทบโครงการท่าเรือน้ำลึกแลนด์บริดจ์ชุมพร - ระนอง’ ซึ่งเขียนโดยนักวิชาการหลายสาขา ทั้งวิศวกรรมศาสตร์วิศวกรรมชายฝั่ง นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ นักกฎหมาย และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและภาคประชาชน ได้ชี้ให้เห็นปัญหาของเนื้อความในร่างกฎหมายนี้ไว้ประการด้วยกัน ดังต่อไปนี้
รวบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ในหนังสือ Land bridge Effect ผลกระทบโครงการท่าเรือน้ำลึก แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง บทที่ 5 ว่าด้วยเรื่องแลนด์บริดจ์ กับร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. … เขียนโดย สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย ทนายความ โดยชี้ให้เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีลักษณะการตรากฎหมายที่ ‘รวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด’ และสร้างระบบ ‘ยกเว้นในทางกฎหมาย’ ไว้หลายประการ
มาตรา 11 ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
กล่าวได้ว่า หากเอกชนอยากร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ก็สามารถยกเว้นกฎหมายเดิมได้ นั่นคือไม่ต้องใช้ ‘พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562’
ซึ่งในความเป็นจริง กฎหมายร่วมทุนฯ ในปัจจุบันที่บังคับใช้ก็ทำให้การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนได้ง่ายขึ้นแล้ว เมื่อไปยกเว้นอีก ก็ยิ่งเกิดความง่ายมากขึ้น และทำให้การตรวจสอบทำได้ยากมากยิ่งขึ้น
มาตรา 31 ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง
เดิมที ผังเมืองจังหวัดหรือผังเมืองรวมที่ออกประกาศใช้บังคับมาก่อน อาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เข้มข้น เพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ แต่แผนผังตามมาตรา 29 กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบ ส่วน ‘การมีส่วนร่วมของประชาชน’ นั้นแทบไม่มี โดยระบุเพียงว่า รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาด้วยเท่านั้น
มาตรา 33 ยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์
กล่าวคือ กรณีมีความจำเป็นต้องการใช้ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ให้ใช้วิธีการ ‘จัดซื้อเช่า เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน เวนคืน หรือโดยวิธีการอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด’ ซึ่งอาจแตกต่างจากกฎหมายที่สำคัญหลายฉบับได้ เช่น กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างสำคัญ
พูดง่ายๆ ว่า สำนักงาน SEC มีอำนาจจัดซื้อ เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน เวนคืนที่ดินตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด และกำหนดให้สามารถนำที่ดินทุกประเภทมาใช้เพื่อกิจการตามร่างฯ นี้ได้ โดยที่ดินที่ได้มาจากการซื้อ เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน และสามารถนำไปขายน แลกเปลี่ยน หรือให้นักลงทุนเช่าซื้อได้
มาตรา 35 ยกเว้นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
นอกจากนี้ ยังให้อำนาจของ ‘คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม’ ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นอำนาจของ ‘คณะกรรมการนโยบาย’ และให้หน้าที่และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นหน้าที่และอำนาจของเลขาธิการ หรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมาย รวมทั้งสำนักงานจะมอบให้บุคคลอื่นใช้โดยมีค่าตอบแทนได้
คำถามคือ ประชาชนที่อยู่ในที่ดินดังกล่าวจะทำอย่างไร เพราะกฎหมายดังกล่าวกำหนดเพียงว่า ‘จัดหาที่ดินอื่น’ หรือ ‘จะจ่ายค่าชดเชยหรือใช้ประโยชน์ตอบแทนอื่น’ ให้แก่เกษตรกรเพื่อทำอาชีพเกษตรกรรม
แสดงให้เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญกับนักลงทุน นักธุรกิจ ที่ประกอบการอุตสาหกรรมเหนือกว่าเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
มาตรา 32 รวบอำนาจตัดสินใจไว้ที่คณะกรรมการนโยบาย
มาตรานี้เขียนไว้กว้างมากว่า กรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการใดเพื่อพัฒนาระเบียงเขตเศรฐกิจภาคใต้ หรือเพื่อสนับสนุนหรืออำนวยความสะดวกในการพัฒนาให้เกิดการบูรณาการ และวรรคสองระบุไว้ว่า ‘ถ้ามีกฎหมายกำหนดให้ผู้ดำเนินการต้องได้รับการอนุมัติ ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบาย’
การกำหนดแบบนี้ จะทำให้อำนาจตามกฎหมายเฉพาะทั้งหลาย มาอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงความเบ็ดเสร็จในการใช้อำนาจทางกฎหมาย นอกจากนี้ยังให้อำนาจกับคณะกรรมการนโยบาย สามารถอนุมัติอนุญาตและให้ความเห็นชอบตามกฎหมายฉบับอื่นอีกด้วย (ในมาตรา 36 เช่น กฎหมายการเดินเรือ กฎหมายชลประทาน กฎหมายประกอบกิจการพลังงาน เป็นต้น)
สร้างระบบยกเว้นยกเว้นกฎหมาย
ร่าง พ.ร.บ.ฯ SEC ฉบับนี้ กำหนดให้มีการ ‘ยกเว้น’ การใช้กฎหมายปกติที่ใช้กันโดยทั่วไป เช่น พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562, กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง, กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย, กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง, กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร, ประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด, กฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ, กฎหมายว่าด้วยศุลกากร, กฎหมายควบคุมเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ เป็นต้น
โดยในรายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บฯ ระบุไว้ดังนี้
ให้อำนาจ ‘คณะกรรมการนโยบาย’ แก้กฎระเบียบใดก็ได้
ในมาตรา 8 ให้อำนาจของคณะกรรมการนโยบาย ในการแก้กฎระเบียบใดก็ได้ที่เป็นอุปสรรคต่อการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ คณะกรรมการฯ นี้สามารถแก้ไขรายละเอียดหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้โดยที่กฎหมายเดิมยังอยู่เหมือนเดิม
ตัวอย่างเช่น ถ้ากฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีหลักเกณฑ์ที่ทำให้การผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นไปอย่างล้าช้า คณะกรรมการนโยบายสามารถแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้เลย แล้วใช้ได้แค่ในพื้นที่ SEC เท่านั้น แต่พื้นที่อื่นทั่วประเทศยังใช้กฎหมายเดิม
ซึ่งนี่เป็นสภาวะระบบยกเว้นในทางกฎหมายที่เกิดขึ้น และเป็นการอาศัยอำนาจบริหารในการแก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติฉบับอื่น
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังให้อำนาจ ‘เลขาธิการ’ สามารถอนุมัติออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน และรับแจ้งตามกฎหมายหลายฉบับได้ เช่น กฎหมายว่าด้วยการขุดดินถมดิน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์กฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งอยู่ในมาตรา 42 ของร่างพระราชบัญญัติและลักษณะเดียวกัน ถ้าเลขาธิการเห็นว่า กฎหมายฉบับใดมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพ เลขาธิการสามารถเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อแก้ไขได้ ซึ่งสอดรับกันกับข้างต้น
มาตรา 48 ยกเว้นสิทธิในการถือครองที่ดินของคนต่างด้าว
มาตรานี้กำหนดว่า ถ้านิติบุคคลที่เข้ามาอยู่ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแล้วเป็น ‘คนต่างด้าว’ มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน แล้วยังมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ ในห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ซึ่งเป็นการยกเว้นการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
มาตรา 52 ยกเว้นกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ
มาตรานี้กำหนดว่า ในกรณีที่จะนำที่ราชพัสดุมาใช้ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ ซึ่งค่อนข้างสำคัญ หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เราลองนึกถึงชาวบ้านเวลาจะต้องการที่ดินทำกินโดยอาศัยที่ราชพัสดุนี้ กว่าจะได้ไม่ได้ง่าย ๆ เพื่อเช่าที่ราชพัสดุมาทำเกษตร
มาตรา 54 ยกเว้นกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
มาตรานี้กำหนดว่า ถ้าคนที่จะเข้ามาทำงานในพื้นที่มีทักษะความสามารถพิเศษ ก็อาจได้รับการยกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เช่น อาจไม่จำเป็นต้องขอต่อการอยู่ในราชอาณาจักรบ่อยครั้ง รวมถึงยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว หมายความว่า คนต่างด้าวอาจมาทำงานบางอย่างได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตทำงาน หรือ Work Permit ตามกฎหมายดังกล่าว ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
ยกเว้นกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่า ด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ดังนั้น การจะนำเข้าเครื่องจักรทั้งหลาย ภาษีนำเข้าทั้งหลายก็ได้รับการยกเว้น
ยกเว้นกฎหมายควบคุมเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ
เช่น หากอยากจะเป็นวิศวกร ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร จะเป็นวิศวกรได้ต้องมีสัญชาติไทย ต้องมีใบอนุญาต ซึ่งคณะกรรมการนโยบายสามารถออกประกาศยกเว้นให้ประกอบวิชาชีพในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้
ซึ่งหมายความว่า ไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพทางวิศวกรรมสามารถทำงานในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ การสร้างระบบยกเว้นทางกฎหมายดังที่อธิบายมานี้ทำให้เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. … นั้น ทำให้เกิดรวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และการสร้างระบบยกเว้นในทางกฎหมาย ซึ่งทำให้กฎหมายอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนหรือผลักดันระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้จะถูกยกเว้นการใช้บังคับไป อาจเรียกได้ว่าลักษณะเช่นนี้ เป็นเสมือน Super law ที่สามารถลบล้างหรือยกเว้นกฎหมายอื่นและแก้รายละเอียดกฎหมายฉบับอื่นได้ด้วย
ปัญหาในทางรัฐธรรมนูญ
สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ และ อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย สองนักกฎหมาย มองว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีปัญหาทางรัฐธรรมนูญหลายข้อ ได้แก่ ให้อำนาจฝ่ายบริหารแบบค่อนข้างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้ตรวจสอบถ่วงดุลยาก เมื่อกฎและทำให้กระทบต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ อันเป็นหลักการสำคัญทางรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบการใช้อำนาจก็จะกระทำได้ยากขึ้น ยิ่งเมื่อตรากฎหมายให้เป็นลายลักษณ์อักษรแบบนี้แล้ว โอกาสที่จะตรวจสอบก็ยิ่งยากขึ้นไปด้วย
นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญนั้นจะรับรองคุณค่าหลายๆ อย่าง ผ่านสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและผ่านแนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งในบางกรณี คุณค่าเหล่านี้อาจจะขัดแย้งกันได้ แต่เวลาที่ขัดแย้งกันแล้ว หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ คือการทำให้เกิดความสมดุลระหว่างคุณค่าเหล่านั้น
ตัวอย่างเช่น ความผิดฐานทำแท้งบุตร ฝ่ายหนึ่งต้องการให้มีการคุ้มครองเด็กในครรภ์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการให้เคารพสิทธิของบุคคลเป็นแม่ จุดสมดุลเรื่องดังกล่าวจะอยู่ตรงไหน โดยที่ในการกำหนดความผิดฐานทำแท้งนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติต้องพิจารณาว่า จุดสมดุลที่ควรจะต้องสร้างเพื่อให้คุณค่าเหล่านี้อยู่ร่วมกันได้อยู่ตรงไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหลักการพื้นฐานในทางรัฐธรรมนูญ
คำถามคือ รัฐธรรมนูญรับรองคุณค่าอะไรที่สำคัญๆ เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ไว้บ้าง?
1. รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิในทรัพย์สินไว้ในมาตรา 37 เขียนไว้ชัดเจนว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จะเห็นว่า การได้มาซึ่งที่ดินตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจของบทบัญญัติ ของกฎหมายการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ก็ได้ แต่สามารถใช้อำนาจของคณะกรรมการนโยบายตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้เลย
2. รัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพในการประกอบการอาชีพไว้ในมาตรา 40 ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ซึ่งนักลงทุนก็มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพของเขา ขณะเดียวกัน ชาวประมง เกษตรกร ชาวสวน และบุคคลอื่นในพื้นที่ตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในพื้นที่ก็มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพเช่นเดียวกัน รวมถึงคนไทยในพื้นที่ที่อยากประกอบอาชีพทั้งหลาย ก็เป็นประเด็นคุณค่าในรัฐธรรมนูญที่รับรองไว้
3. รัฐธรรมรับรองเกี่ยวกับสิทธิชุมชน ซึ่งเกี่ยวกับบุคคล และชุมชน ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติรวมถึง จัดการ บ ารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แต่ในทางกลับกันโครงการที่เกิดขึ้นภายใต้ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ย่อมมีผลส่งผลกระทบต่อบุคคล และชุมชน ตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
4. รัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ของรัฐในการอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 57 ว่า รัฐต้องอนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย และอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วย ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะเห็นได้ว่า มิติทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกเพิกเฉย ทำให้สามารถตั้งคำถามต่อรัฐว่า รัฐได้ทำหน้าที่ตามมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
5. รัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มาตรา 58 ซึ่งจะเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ กำหนดเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสุขภาพของประชาชนหรือชุมชนไว้โดยเฉพาะ
6. รัฐธรรมนูญกำหนดแนวนโยบายของรัฐ เกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากรน้ำและพลังงาน มาตรา 72 ทำนองว่า รัฐต้องพึงดำเนินการวางแผนการใช้ที่ดินของประเทศให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่และศักยภาพของที่ดินตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และจัดให้มีการวางผังเมืองทุกระดับ และบังคับการให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ รวมตลอดทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญ โดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แต่ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ การกำหนดให้มีการยกเว้นการใช้กฎหมายว่าด้วยผังเมือง
7. รัฐธรรมนูญกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐในการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรา 73 ทำนองว่า รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย โดยใช้ต้นทุนต่ำ สามารถแข่งขันในตลาดได้ และพึงช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ทำกินโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่นใด แต่ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ไม่มีคำว่า ‘เกษตรกรและเกษตรกรรม’ แม้แต่น้อย
8. รัฐธรรมนูญกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำอย่างเหมาะสมกับศักยภาพซึ่งสอดคล้องกับเสรีภาพในการประกอบอาชีพ มาตรา 74 แต่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ สนับสนุนคนต่างด้าวให้ทำงาน โดยที่จากประสบการณ์ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ทำให้เห็นว่า โอกาสที่คนไทยจะได้ทำงานมากน้อย
9. รัฐธรรมนูญกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐเกี่ยวกับการให้ประชาชนมีโอกาสในการได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรมและยั่งยืน มาตรา 75 ซึ่งมีความสำคัญ เมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้ว จะพบว่า เป็นกฎหมายที่เอื้อทุนอย่างชัดเจน ทำให้เกิดคำถามว่า ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีทุน ได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง เป็นธรรมและยั่งยืนหรือไม่
อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญได้เปิดช่องตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้ในมาตรา 148 ซึ่งต้องอาศัยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมืองในการเสนอเรื่องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ดังนี้
‘ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติใดขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยัง ‘ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย’ หรือหากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างกฎหมายน่าจะมีปัญหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน’
อ้างอิง:
- ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ..... (นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
- ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ..... (นายอนุชา บูรพชัยศรี กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
- Land bridge Effect ผลกระทบโครงการท่าเรือน้ำลึก แลนด์บริดจ์ชุมพร - ระนอง
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐
- Live ! งานเสวนาเเละเปิดตัวรายงาน "Land bridge Effect : เสียงสะท้อน ผลกระทบท่าเรือน้ำลึก