มหาสงครามครั้งสำคัญ ที่รัฐบาลไทยภายใต้ความร่วมมือกับจีนและเมียนมา ประกาศศึกชนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีฐานปฏิบัติการอยู่บริเวณชายแดนเมียนมา ดีเดย์นโยบาย 3 ตัด นั่นคือ “ตัดไฟ-ตัดอินเตอร์เน็ต-ตัดการขนส่งน้ำมัน” เริ่มต้นเมื่อเวลา 09.00 น. ของวันที่ 5 ก.พ.2568 ที่ผ่านมา

นับเป็นการใช้ “ยาแรง” ที่สุด ในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่สร้างความเดือดร้อน ความเสียหายในทรัพย์สินให้กับคนไทยจำนวนมากตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ “แพทองธาร ชินวัตร” ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ส.ค.2567 เราได้เห็นมาตรการเชิงรุกในการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็น 1 ในนั้น

กุศโลบายของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้ มีความฉลาด แยบยลขึ้น ตั้งแต่หลอกเป็นธนาคาร หลอกเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หลอกเป็นบริษัทยักษ์น่าเชื่อถือหลอกเป็นหน่วยงานรัฐ ตั้งแต่กรมสรรพากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทนาย อัยการ แม้กระทั่งศาล

แน่นอนว่า...การสะพือพัดของข่าวสาร ยอดเสียทรัพย์มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ทำให้คนไทยตระหนักรู้มากขึ้น...แต่ยังมีคนอีกไม่น้อย ตกเป็นเหยื่อจากการหลอกรูปแบบใหม่ที่ถูกเปลี่ยนมุข เนียนขึ้นทุกวัน

จนกลายเป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ มีคดีแจ้งความ 557,500 คดี มูลค่าความเสียหายรวม 86,000 ล้านบาท แต่ละวันมีความเสียหาย 80 ล้านบาท กระทบรุนแรงทั้งต่อคนไทยและชาวโลก

นำไปสู่ปฏิบัติการกวาดล้างฐานที่ตั้ง จับกุมมาเฟียจีนแก๊งคอลเซ็นเตอร์กว่า 900 คนในเมียนมา ทยอยส่งกลับไปรับโทษตามกฎหมายจีนระหว่างวันที่ 20-22 ก.พ.2568 ที่ผ่านมา จากการขับเคลื่อนของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย ภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาลจีน รัฐบาลเมียนมา และไฟเขียวสว่างโร่จากนายกรัฐมนตรี

...

นอกจากมาตรการขุดรากถอนโคนที่มีหน่วยงานด้านความมั่นคง เข้ามาร่วมด้วยช่วยอีกแรงแล้ว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ถือเป็น 1 หน่วยงานหลักในการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์

ภายใต้การขับเคลื่อนของ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดีอี ทิศทางการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์มีความเป็นมาอย่างไร และจะเป็นอย่างไรในอนาคต “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ชวนไปหาคำตอบจากบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

ปฏิบัติการ 3 ตัดมีที่มาอย่างไร

ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า การตัดไฟ ตัดเส้นทางขนส่งน้ำมัน เป็นเรื่องของหน่วยงานความมั่นคง การตัดอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช.

แต่ในฐานะหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ กล่าวได้ว่าเราเข้าไปมีส่วนร่วมพอสมควร เพราะมีกฎหมายภายใต้การกำกับดูแลอยู่ ตั้งแต่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA, พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และล่าสุด ร่างปรับปรุงพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้การติดตามเส้นทางเงินที่ถูกฉ้อโกงมีประสิทธิภาพขึ้น ลดความเสียหายของประชาชน เราหวังว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.พ.2568

รวมทั้งการริเริ่มจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC 1441) สายโทร.ฮอตไลน์ที่ให้บริการแบบ One Stop Service ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยระงับ อายัดบัญชีม้าของคนร้าย ซึ่งล่าสุดระงับได้ทันทีหลังจากรับสายเฉลี่ยภายใน 10 นาที แล้วส่งข้อมูลต่อให้ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2566 วันเริ่มก่อตั้ง AOC จนถึงวันที่ 31 ม.ค.2568 มีการระงับบัญชีแบงก์ต้องสงสัยแล้ว 1.5 ล้านบัญชี

แม้รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ความเสียหายลดลงจริง แต่ก็ยังเห็นความเสียหายอยู่ ยกตัวอย่างล่าสุดสัปดาห์ก่อนหน้า เพิ่งมีการแจ้งเข้ามายัง AOC ว่ามีกรณีถูกหลอกให้ลงทุนเหยื่อเสียเงินถึง 37 ล้านบาท นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ยังมีคนที่ถูกหลอก มูลค่าความเสียหายสูงมากอยู่ เรื่องนี้จึงกระทบความมั่นคง ความเป็นอยู่ และทรัพย์สินของคนไทย

“เนื่องจากกระทรวงดีอีเข้าไปมีส่วนอยู่บ้าง เรายืนยันได้ว่ารัฐบาลไทย จีน เมียนมา รวมทั้งกัมพูชา ทำงานร่วมกันมาพักใหญ่แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่ม กรณีการมาเยือนของนายหลิว จงอี้ ผู้ช่วย รมว.ความมั่นคงสาธารณะของจีน ก็เป็นการทำงานของฝั่งจีน ซึ่งต้องการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีนอย่างจริงจังเหมือนกับไทย การเดินหน้านโยบาย 3 ตัด เป็นเรื่องที่ไทยพิจารณามาสักพักแล้วไม่เกี่ยวกับจีน แต่แน่นอน เราต้องได้รับการสนับสนุนทั้งจากจีน เมียนมา”

“จากรายงานล่าสุดของสำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง พบว่าสายที่โทร.เข้ามาแจ้งคดีอาชญากรรมออนไลน์และจำนวนคดี ในช่วงวันที่ 7-13 ก.พ.2568 หลังมาตรการ 3 ตัด ลดลงไป 20% ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แถลงรายละเอียดต่อไป”

ทำไมภัยออนไลน์ในไทยมีมากกว่าประเทศอื่น

จริงๆยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าประเทศไหนมีคดีหลอกลวงมากกว่ากัน แต่ที่ยืนยันได้คือปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีในทุกประเทศ เป็นปัญหาระดับโลก

ประเทศในเอเชียประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน ทั้งในไต้หวัน สิงคโปร์ แต่ที่ดูเหมือนว่าคนไทยตกเป็นเป้าหมายหลัก อาจเป็นเพราะเราเป็นประเทศที่มีการใช้โซเชียลมีเดียสูง มีการใช้โมบายแบงกิ้งเป็นอันดับต้นๆ พอชีวิตข้อมูลอยู่ในโลกออนไลน์มาก โอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อก็มีมากขึ้นตามไปด้วย

“สิ่งที่ผมทนไม่ได้ก็คือการที่คนไทยหลอกคนไทยด้วยกันเอง นี่เป็นสิ่งที่น่าเจ็บปวดมาก หลายคนบอกตัวเองเป็นเหยื่อแก๊งค้ามนุษย์ ก็อาจใช่ แต่การบอกว่าถูกหลอกไปทำงานเมียนมา ซึ่งโอกาสหางานน่าจะน้อยกว่าเมืองไทยมาก ผมว่าฟังไม่ขึ้น สำหรับคนไทยนะ”

...

“ตอนเข้ามานั่งเก้าอี้ รมว.ดีอีใหม่ๆ ผมเคยถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทร.เข้ามาหลอกเหมือนกัน ผมก็สอนเขาไปว่า น้องเอ๊ย กลับใจเถอะ อย่าตกเป็นทาสเงินหรือทาสใคร จนต้องมาหลอกคนไทยด้วยกันเลย มันน่าผิดหวัง” 

ดาบเล่มใหม่! แก้กฎหมายให้ดีขึ้นอย่างไร

กระทรวงดีอีเพิ่งเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2566 ใหม่ ทั้งที่กฎหมายเพิ่งบังคับใช้ แต่เมื่อไม่เท่าทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น ก็ต้องแก้ไข ปัจจุบันผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเสร็จ จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป คาดว่าภายในเดือน ก.พ.2568 นี้ โดยหวังว่าการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการป้องกันและปราบปรามภัยออนไลน์ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายจากคดีออนไลน์ลดลงโดยเร็ว

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังร่างแก้ไข พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้คือ 1.การควบคุมดูแล ไม่ให้มีการโอนเงินที่ได้จากการหลอกลวงออนไลน์ไปแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะทำให้การติดตามคืนเงินเป็นไปได้ยาก และเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน การหยุดยั้งนี้จะช่วยทำให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามอายัดเงินในบัญชีธนาคารได้มากขึ้น

ผลที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ 2.การที่หน่วยงานของรัฐจะสามารถสร้างระบบการคืนเงิน ที่ค้างอยู่ในบัญชีธนาคารที่ยึดไว้หรือที่ระงับการโอนไว้ โดยไม่ต้องรอการดำเนินคดีหรือคำสั่งศาล ซึ่งจะทำให้คืนเงินแก่ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลประการที่ 3.มาตรการที่จะส่งผลให้ธนาคาร ผู้ประกอบการโทรคมนาคม และผู้ประกอบการอื่นใดที่เกี่ยวข้องต้องยกระดับความร่วมมือในการป้องกัน ในระดับของผู้ประกอบวิชาชีพ หากไม่ดำเนินการจะต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายด้วย

...

ยกตัวอย่าง เช่น ธนาคารต้องรายงานบัญชีแบงก์ต้องสงสัยให้กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รับทราบ ส่วนฝั่งผู้ให้บริการมือถือ ต้องกำหนดให้ผู้ส่งเอสเอ็มเอสต้องมีชื่อ ตัวตนชัดเจน หากพบว่าในที่สุดมีเหยื่อผู้เสียหายจากการละเลยสิ่งที่ต้องกระทำ ทั้งธนาคารและผู้ให้บริการมือถือต้องร่วมชดใช้ค่าเสียหาย

เช่นเดียวกับสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากปล่อยให้มีโฆษณาหลอกลวงลงทุน พนันออนไลน์บนแพลตฟอร์ม จะมีความผิดภายใต้ร่างปรับปรุงแก้ไข พ.ร.ก.ใหม่ด้วย

โดยหลัง พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้ จะต้องมีการนัดหารือ สร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการทั้งหมดด้วย

มีแนวทางแก้ปัญหาระยะต่อไปอย่างไร

โมเดล 3 ตัดจะถูกขับเคลื่อนมายังฝั่งชายแดนกัมพูชาต่อไป โดยขณะนี้ กสทช.ได้เริ่มตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตล่วงหน้าไปแล้วในหลายจุดฝั่งชายแดนกัมพูชา รวมทั้งชายแดนลาวในอนาคต

ผมมีเป้าหมายอยากเห็นการหลอกลวงออนไลน์ ภัยไซเบอร์ลดลงอย่างชัดเจน คงไม่กล้าตั้งเป้าว่าให้มันหมดไป แต่ต้องลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่ภายในวาระรัฐบาล ซึ่งยังเหลือเวลาอีกประมาณ 2 ปีครึ่ง แต่ต้องภายใน 1 ปี

ในส่วนความรับผิดชอบของกระทรวงดีอี เห็นว่าร่าง พ.ร.ก.ฉบับปรับปรุงแก้ไข น่าจะช่วยลดปัญหาที่ประสบอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม อาชญากรจะยังคงปรับเปลี่ยนแนวทางในการก่ออาชญากรรมต่อไป แนวคิดที่จะทำให้เราสามารถก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อตรวจสอบข้อมูล หาสาเหตุและรูปแบบการก่ออาชญากรรม เพื่อกำหนดวิธีการป้องกันและปราบปราม

นอกจากนั้น การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ยังจะเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับการจัดการด้วยเช่นกัน เพราะคดีทางด้านเทคโนโลยีมักจะอาศัยช่องว่างของอำนาจอธิปไตยในการกระทำผิด

ยกตัวอย่างเรื่องสัญญาณมือถือ หลังจากกวาดล้างเสาบริเวณชายแดน ที่อาจส่งสัญญาณเข้าไปประเทศเพื่อนบ้านและถูกใช้โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็เริ่มมีการส่งสัญญาณผ่านเทคโนโลยีดาวเทียมขนาดเล็กแทน

...

ทำให้ต้องเร่งกวาดล้างจานรับสัญญาณดาวเทียมดังกล่าวด้วย และในไทยยังไม่อนุญาตให้เปิดบริการ

ที่ต้องฝากอีกประการน่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะไม่ว่าจะมีกฎหมายรัดกุมเพียงใด แต่การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มแข็ง ก็ถือว่าสูญเปล่า

รวมทั้งยังจะเร่งสร้าง ความตระหนักรู้ ภูมิคุ้มกันให้กับคนไทยให้มากขึ้นไปอีก สิ่งนี้ยังต้องทำต่อไป.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม