การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม “ในประเทศไทย” ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายสำหรับการเร่งแก้ปัญหาที่กำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐจะพยายามบังคับใช้กฎหมาย และมีมาตรการที่เข้มงวดเพียงใดก็ตาม
แต่ก็ยังมีช่องว่างให้ “การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอยู่เสมอ” ตามข้อมูลมูลนิธิบูรณะนิเวศ ที่ติดตามผลกระทบมลพิษจากกากอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ปี 2541 “อันเป็นปัญหาคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนในพื้นที่อย่างมาก” ไม่ว่าจะเป็นการคุกคาม ข่มขู่ ทำร้าย หรือสังหารผู้นำชุมชนที่ต่อต้านคัดค้านในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
สิ่งนี้มีต้นกำเนิดมาจาก “รัฐบาล” พยายามเร่งรัดการเติบโตทางเศรษฐกิจในการส่งเสริมผลักดันการลงทุนให้ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ปี 2530 ทำให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาเบ่งบานสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาลแต่เรากลับไม่มีศูนย์กลางการกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม ทำให้เห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมชัดเจนเรื่อยๆ

กระทั่งนักการเมืองบางคนเล็งเห็น “ผลประโยชน์จากกากอุตสาหกรรม” จึงปรากฏการกำจัดกากของเสียมักมาควบคู่กับ “การทุจริตคอร์รัปชัน” อันมีความพยายามในการแก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 สุดท้ายก็นำมาสู่การเปิดเสรีโรงงานกำจัดกากของเสียอันตรายในปี 2544-2545
...
ด้วยการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมหลักเกณฑ์อนุญาตโรงงานลำดับ 105 โรงงานคัดแยกและฝังกลบและลำดับที่ 106 โรงงานรีไซเคิลและรับกำจัดของเสียสะท้อนจาก “เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง” ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ผ่านเวทีราชดำเนินเสวนาวิกฤติขยะพิษกับชีวิตประชาชน จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่า
จริงๆแล้วจุดเปลี่ยนสำคัญคือ “คำสั่ง คสช.ที่ 4/2559” เรื่องยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจกรรมบางประเภทในพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่เกษตร ทำให้โรงงาน 105 โรงงาน 106 กระจายตัวเพิ่มขึ้นหลายร้อยโรงงานใน จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร
แล้วถ้าย้อนดู “กฎหมาย” อย่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับปี 2541 “อันเป็นพื้นฐานสำคัญการควบคุมการกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม” แต่ก็มีคนบางกลุ่มเห็นผลประโยชน์เลยแก้ไขประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับปี 2547 เพื่อให้สอดคล้องการเปิดเสรีการขยายตัวของโรงงานกำจัดบำบัดกากอุตสาหกรรมนั้น

ทำให้ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้ “กากของเสียอุตสาหกรรมเลยล้นโรงงาน” เมื่อเป็นเช่นนี้จึงแก้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฯ “เพื่อให้ฝังกลบกากของเสียภายในโรงงานได้” กลายเป็นการเปิดช่องให้โรงงาน 105 และโรงงาน 106 สามารถอยู่ในเขตพื้นที่เดียวกันเป็นจำนวนมากส่งผลให้เกิดการตัดราคากันเองขึ้น
ยิ่งกว่านั้น “นโยบายรัฐบาล” กลับอนุญาตให้นำกากอุตสาหกรรมทั้งขยะอันตรายและไม่อันตรายมารีไซเคิลได้ “สุดท้ายขยะอันตรายก็เพิ่มขึ้นจนรับมือไม่ทัน” ก่อเกิดปัญหาลักลอบทิ้ง หรือฝั่งกลบตามพื้นที่สาธารณะนำมาสู่การปนเปื้อนสารพิษกระจายไปทั่ว อันเกิดจากความผิดพลาดเชิงนโยบายและกฎหมายที่มีอยู่
แล้วนับแต่ “จีนปิดประตูตายห้ามนำเข้าขยะต่างประเทศ” ขณะที่ประเทศไทยเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนโรงงาน 105 โรงงาน 106 ตั้งแต่ปี 2561 “โรงงานรีไซเคิลและขยะเคยไปจีนก็ไหลมาในไทย” ทำให้ยังจะมีสุสานสารพิษอีกหลายแห่งที่เชื่อว่าอนาคต 10 ปีข้างหน้าก็ไม่อาจจะจัดการได้ เป็นมรดกมลพิษตกทอดมาสู่คนรุ่นหลัง
“ดังนั้นหากประเทศไทยมีมาตรการล้อมรั้วไม่ดี ย่อมมีผลให้มลพิษในประเทศย่ำแย่ จนส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับปัญหามลพิษรุนแรงจากรัฐบาลคำนึงถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ได้คิดถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม เหตุนี้จึงต้องเร่งรีบแก้ปัญหาปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงานฯ ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์” เพ็ญโฉม ว่า
ประเด็นข้อนำเสนอคือ “กฎหมาย PRTR เปิดเผยข้อมูลการปล่อยเคลื่อนย้ายสารมลพิษ” ที่ยูเอ็นดำริให้ทุกประเทศพัฒนากลไกนี้ภายในปี 2568 เพื่อการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมและสารอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม

...
นอกจากนี้ OECD “ยังบังคับให้ประเทศที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีกฎหมาย PRTR ด้วย” ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหามลพิษทุกรูปแบบ “แต่ไทยไม่มีเพราะร่างกฎหมายโดยภาคประชาชนกำลังนำเข้าสู่สภาฯ” เช่นนี้ทำให้มีช่องโหว่ไม่อาจตั้งต้น “แก้ปัญหาถูกจุด” แถมไม่มีความชัดเจนคลุมเครือด้านงบประมาณอีก
สุดท้ายนี้ “อยากเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรม” ระงับ ยับยั้งบริษัทตัวแทนเปิดขอจดทะเบียน ร.ง. 4 ดำเนินกิจการโรงงาน 105 และ 106 เพราะบริษัทนายหน้าขอใบอนุญาตแล้วก็ปล่อยให้คนจีนมาขอเช่าทำกิจการ
หากเมื่อมีความผิด “มักปิดกิจการหนีจนกฎหมายไม่อาจดำเนินคดีได้” เพราะเป็นเพียงผู้เช่าพื้นที่ประกอบกิจการเท่านั้น เรื่องนี้ทำผิดเกิดขึ้นหลายพื้นที่ในการฝังกากอุตสาหกรรมลงใต้ดินทิ้งปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ แถมมีข่าวลือว่ากระบวนการนี้มีความสัมพันธ์ผูกโยงกับผลประโยชน์กับนักการเมืองท้องถิ่นจำเป็นต้องยับยั้งเร่งด่วน

นอกจากนี้ควรมีมาตรฐาน “การควบคุมการปล่อยมลพิษสู่อากาศ” เพราะประเทศไทยอยู่ในยุคสมัยเปิดเสรีการรีไซเคิลของเสียอันจะถูกระบายออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ “เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง” ฉะนั้นหากคิดว่าการมีโรงงานรีไซเคิลสามารถสร้างมูลค่าก็จำเป็นต้องมีมาตรฐานควบคุมมลพิษให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย
...
ขณะที่ ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษา รมว.อุตสาหกรรม บอกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมยุคใหม่ต่างให้ความใส่ใจกับ “ประเด็นสิ่งแวดล้อม” เรามีนโยบายในการปรับปรุงระเบียบหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะนำเสนอ “ร่าง พ.ร.บ จัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ. ...” ให้ ครม.พิจารณาโดยเนื้อหามีกฎระเบียบเข้มงวดมากขึ้นกับโรงงาน 105 และ 106 อยู่ภายใต้การกำกับดูแลพ.ร.บ.ฉบับนี้
ทั้งยังมีเรื่องการจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืน “เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม” โดยใช้เงินตั้งต้นจากกองทุน SME ประชารัฐ 2 หมื่นล้านบาท “ลดภาระทางการคลัง” คาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ และมั่นใจว่ากฎหมายจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญเพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมที่สะอาดมากยิ่งขึ้น

...
ฉะนั้นหากต้องการให้ “ประเทศก้าวไปข้างหน้า” จำเป็นต้องดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย เพราะสิ่งนี้เป็นตัวชี้วัดสำคัญบ่งบอกการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพอันจะสะท้อนถึงประเทศพัฒนาแล้ว.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม