พื้นความรู้กะริบกะร่อย...หลังยุคเสียกรุงฯ เราเคยมีหัวหน้าก๊กใหญ่ก๊กหนึ่ง เป็นพระประวัติศาสตร์เขียนว่าห่มจีวรสีแดง เรียกกันว่า หลวงพ่อพระฝาง

มาถึงสมัยนี้ ยังพอมีคนทันเห็น...พระ เอ๊ย! ท่านให้เรียกสมณะ หลวงพ่อโพธิรักษ์ สันติอโศก ห่มจีวรสีดำ

ส่วน “ท่านยันตระ” คนที่ยังนับถือท่านก็ทันเห็นห่มจีวรสีเขียว

แต่สำหรับพระโดยทั่วๆไป ที่ตอนนี้เรามีสองนิกาย มหานิกาย กับธรรมยุติกนิกาย ห่มจีวรคนละแบบแต่สีคล้ายๆกัน แต่เมื่อสังเกตกันจริงๆก็ยังสีเหลื่อมหลายๆสี

ในหนังสือ 108 ซองคำถาม เล่ม 12 (สำนักพิมพ์สารคดี) มีคำถามจีวรพระหลายสี สีบอกความอะไรหรือเปล่า?

คำตอบ...เรื่องสีจีวรบอกความหมาย ไม่มีหลักฐานชัดเจน เพียงบอกชนิดของวัสดุที่นำมาย้อมเท่านั้น

ในพระไตรปิฎกเล่ม 5 บรรทัดที่ 4.475-4.523 หน้าที่ 183-185 บันทึกว่า

แต่เดิมนั้นพระสงฆ์นุ่งจีวรต่างกัน เช่น ผ้าคากรอง ผ้าเปลือกไม้กรอง ผ้าผลไม้กรอง ผ้าทำด้วยผมคน ทำด้วยขนสัตว์ ปีกนกเค้า หนังเสือ ก้านดอกรัก เปลือกปอ ฯลฯ ซึ่งวัสดุบางอย่าง ไม่เหมาะสม

พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติให้ย้อมสีจีวรด้วยน้ำย้อมจากราก

หรือเหง้าไม้ ต้นไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ ดอกไม้ และผลไม้ เท่านั้น สีที่ได้จะออกสีกรัก เหลืองหม่นหรือเหลืองเจือแดงเข้ม

ขึ้นอยู่กับว่าใช้น้ำย้อมจากส่วนใดของพืชประเภทใด หรือผสมสีมากน้อยต่างกันอย่างไร

สีจีวรแต่ละผืนแม้จะออกมา ไม่สม่ำเสมอ แต่ที่เหมือนกัน คือจะไม่ฉูดฉาด

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีพระรูปหนึ่ง ชื่อพระฉัพภัคคีย์ ทรงจีวรสีครามล้วน เหลืองล้วน แดงล้วน บานเย็นล้วน ดำล้วน แสดล้วน ชมพูล้วน

นอกจากทรงจีวรเจ็ดสี จีวรบางผืน บ้างไม่ตัดชาย บ้างชายยาว ชายเป็นลายดอกไม้ ชายเป็นแผ่น สวมเสื้อ สวมหมวก โพกผ้า ประชาชนเห็นเข้าก็พากันติเตียน

...

เรื่องเข้าถึงพระกรรณพระพุทธเจ้า ตรัสห้ามไม่ให้นุ่งห่มจีวรเจ็ดสีนั้น รวมถึงห้ามนุ่งห่มจีวรลักษณะต่างๆ แบบพระฉัพภัคคีย์ รูปใดฝืนบัญญัตินี้ ถือว่าอาบัติ

มาถึงยุคปัจจุบันพุทธศาสนามีหลายนิกาย นุ่งห่มจีวรด้วย

สีต่างๆไปตามคติ และวินัยของนิกายนั้นๆ

สำหรับพระไทยนิยมใช้สี่สี คือ เหลืองเจือแดงพระราชนิยม

(ออกเหลืองหม่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสว่า มองแล้วสบายตาไม่ใช่สีส้มหรือดำมืดเกินไป)

กรักเขียวแก่นขนุนและกรักแดง

บางครั้ง สีจีวรแต่ละรูปที่พระนุ่งห่ม ก็สืบความนิยมตามกันมา จากพระอาจารย์ที่ตนเคารพ หรือธรรมเนียมจากวัดที่บวชเพื่อความเป็นระเบียบเท่านั้น

ก่อนจะจบเรื่องนี้ก็มีข่าว ดูเหมือนจะมาจากละครดังช่อง 3 ชื่อทำนอง “น้องเป็นห่านไม่ใช่หงส์” พระสมัยรัชกาลที่ 3 ตอนนั้นพระธรรมยุตยังไม่มี ท่านนิยมห่มจีวรลายดอกพิกุล

ผมจึงนึกขึ้นได้ คนเล่นพระพุทธรูปเก่า รู้จักศิลปะเชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยา...พอถึง  “รัตนโกสินทร์” มีคำสร้อยต่อว่า “จีวรดอก” ก็เนื่องมาจากพระสงฆ์ท่าน นิยมห่มจีวรลายดอกพิกุลนี่เอง

พอถึงรัชกาลที่ 4 ทรงคงเห็นว่า จีวรดอกเข้าทางพระฉัพภัคคีย์ จีวรเจ็ดสี โปรดให้เลิกไปเสียก่อน

คนรุ่นผมก็ได้แต่เสียดาย เกิดมาไม่ทันเห็นพระห่มจีวร

ลายดอกพิกุล สวยแค่ไหน? แล้วสมมติว่าถ้าพระท่านยังห่มกันอยู่ ผมพยายามคิดว่าสื่อจะค่อนขอดพระท่านอย่างไร?

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม