“ดีเอสไอ” หอบสำนวน 9 แฟ้ม จำนวน 3,000 แผ่น พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง “บอสพอล-วรัตน์พล วรัทย์วรกุล” เจ้าของบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” พร้อมมารดา “วิลาวัลย์ พุทธสัมฤทธิ์” กระทำผิดฐานสมคบกันฟอกเงินให้ “อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ” พิจารณายื่นฟ้องต่อศาลอาญา หลังพบว่านำเงินจากการฉ้อโกงประชาชนไปเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน เป็นความผิดมูลฐานฟอกเงิน
กรณีพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษมีคำสั่งฟ้องคดีที่บริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด โดย “บอสพอล” นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล กับพวกรวม 17 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญาในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกัน ประกอบธุรกิจขายตรงลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนฯ, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต มูลค่าความเสียหายรวม 649,912,290 บาท อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง “บอสแซม” นายยุรนันท์ ภมรมนตรี และ “บอสมิน” น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี เนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอให้รับฟังว่าร่วมกระทำความผิด ในชั้นศาลจำเลยที่ 1-17 ในการปฏิเสธ ศาลอาญานัดตรวจพยานหลักฐาน 10 ก.พ.นี้
ความคืบหน้าคดีแชร์ลูกโซ่ “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า หลังจาก พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้กองคดีการฟอกเงินทางอาญา ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้บริหารและเครือข่ายของบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด ที่มีพฤติการณ์ฟอกเงิน โดยนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดจากการร่วมกันฉ้อโกงประชาชนไปทำการโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน อันเป็นความผิดมูลฐานการฟอกเงิน เป็นคดีพิเศษที่ 115/2567
...
ล่าสุด พ.ต.ต.ยุทธนามอบหมายให้ ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยนายระวี อักษรศิริ ผอ.กองคดีการฟอกเงินทางอาญา เลขานุการคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 9 แฟ้ม รวมกว่า 3,000 แผ่น พร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา 4 ราย ได้แก่ บริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด, นายวรัตน์พล หรือบอสพอล วรัทย์วรกุล, นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และนางวิลาวัลย์ พุทธสัมฤทธิ์ มารดานายสามารถข้อหากระทำความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน ตามพระราช บัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไปส่งมอบให้นางเยาวลักษณ์ นนทแก้ว อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เพื่อให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษพิจารณามีคำสั่งยื่นฟ้องต่อศาลอาญาต่อไป
สำหรับกรณีการโอนและรับโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด และผู้ต้องหาอีก 18 ราย ในคดีความผิดมูลฐานไปยังบุคคลอื่นๆ อาจมีพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงินนั้น พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีข้อสั่งการให้แยกสำนวนการสอบสวนเพื่อดำเนินการอีกส่วนหนึ่งด้วย
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่