ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ ปีใหม่นี้ขอให้ผู้อ่านทุกท่า น มีแต่ความสุข สมปรารถนา มั่งคั่งตลอดปีครับ วันนี้ “วันตรุษจีน” วันขึ้นปีใหม่ จีน ตามประเพณีจีนให้พูดแต่เรื่องดีๆเพื่อเป็นสิริมงคล วันนี้ผมขอนำเรื่องดีๆ “เคล็ดลับการสร้างธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืน 100 ปี” มาเล่าสู่กันฟัง เป็นบทความจาก Family Business Society ใน วารสารการเงินธนาคาร เดือนมกราคม เขียนโดย คุณนวพล วิริยะกุลกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัวในหัวข้อ “100 ปีไม่ได้ใช้แค่ใจ เคล็ดลับความสำเร็จอย่างยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว” เป็นการแหกกฎคำกล่าวโบราณว่า “ความร่ำรวยไม่เกินสามรุ่น” คนรุ่นแรก สร้าง คนรุ่นสองสืบทอดและขยาย และสูญเสียในมือคนรุ่นที่สาม คำกล่าวนี้ในตำราตะวันตกก็มีเช่นเดียวกัน
แต่สองนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญธุรกิจครอบครัว Dennis T. Jaffe และ William T. O’Hara ไม่เชื่อตามนั้น พวกเขาได้สำรวจธุรกิจครอบครัวที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญในการรักษา “มรดกตกทอด” และความสามารถในการ “ปรับตัว” เพื่อทำให้ ธุรกิจครอบครัวสามารถยืนหยัดข้ามศตวรรษได้ ผมจะสรุปงานวิจัยของทั้งสองท่าน “ปัจจัยแห่งความสำเร็จอย่างยั่งยืน 3 ประการ” มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ลูกหลานใช้เป็นแนวทางในการสืบทอดมรดกธุรกิจครอบครัวต่อไปอย่างยั่งยืนให้ได้ 100 ปี 200 ปี 300 ปี
ข้อแรก–นวัตกรรมและความสามารถในการปรับตัว ผู้วิจัยทั้งสองท่านเห็นพ้องต้องกันว่า การต่อต้านการเปลี่ยนแปลง คือ หนทางสู่ความล้มเหลวของธุรกิจครอบครัว ความสามารถในการปรับตัวไม่ใช่แค่ข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน แต่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการอยู่รอด
...
ข้อสอง–ระบบธรรมาภิบาลในธุรกิจครอบครัว เดนนิส เจฟฟี ชูแนวคิดเรื่อง ธรรมาภิบาลในธุรกิจครอบครัว เป็นปัจจัยความสำเร็จในระยะยาว เพื่อจัดการกับ “ความซับซ้อนทางธุรกิจ” และ “ครอบครัว” เครื่องมือในการสร้างธรรมาภิบาลธุรกิจครอบครัว ประกอบด้วย “ธรรมนูญครอบครัว (Family Constitution)” ที่ผูกพันกับสมาชิกครอบครัว มีหลักเกณฑ์ในการเป็นผู้นำและผู้ตาม การอยู่ร่วมกันและกฎกติกา
ในการถือครองหุ้นและอื่นๆ นอกจากนี้ยังมี “สภาครอบครัว (Family Council)” เป็นพื้นที่สื่อสารสำหรับสมาชิกในครอบครัว การแก้ไขข้อขัดแย้ง และเตรียมความพร้อมให้กับผู้นำรุ่นถัดไป และ “คณะกรรมการอิสระ (Independent Board Members)” โดยการเชิญผู้บริหารมืออาชีพ หรือที่ปรึกษาที่ไม่ใช่สมาชิกครอบครัว เข้ามาช่วยเสริมมุมมองที่เป็นกลาง
กระบวนการทั้งหมดนี้ คนในครอบครัวต้องเห็นพ้องร่วมกัน เพื่อสืบทอดธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืนอย่างมั่นคง
หัวใจสำคัญของธุรกิจครอบครัวอีกอย่างหนึ่งก็คือ “ค่านิยมร่วมกัน” ซึ่ง “ค่านิยมร่วมกัน” จะทำหน้าที่เป็น เสาหลักในการช่วยกำหนดทิศทางของการตัดสินใจ และเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานร่วมกันของคนในครอบครัวและองค์กร เช่น ซัมซุง กรุ๊ป ของเกาหลีใต้ ซึ่งก่อตั้งโดยครอบครัวตระกูล Lee มีค่านิยมของธุรกิจครอบครัวร่วมกันว่า “มุ่งมั่นในคุณภาพและนวัตกรรม” เป็นแก่นสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ค่านิยมของซัมซุงยังช่วยสร้างความมั่นคงในช่วงเวลาที่เผชิญกับวิกฤติ เช่น ช่วงที่บริษัทเผชิญกับปัญหาผลิตภัณฑ์ Samsung Galaxy Note 7 ครอบครัวลีตัดสินใจเรียกคืนสินค้าและยกระดับมาตรฐานการผลิต ส่งผลให้บริษัทสามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากลูกค้าได้
ผมก็สรุปย่อมาให้อ่านกันครับ บทความจริงยาวกว่านี้
บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ล้วนเป็น “ธุรกิจครอบครัว” ทั้งสิ้น Tesla, SpaceX ก็เป็นของ อีลอน มัสก์, Facebook ก็เป็นของ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก, Microsoft ก็เป็นของ บิล เกตส์ ของไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ก็เป็นของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์, เครือไทยเบฟ ก็เป็นของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี, เครือเซ็นทรัล ก็เป็นของตระกูล จิราธิวัฒน์ ฯลฯ ธุรกิจที่ไม่มีครอบครัวเป็นเจ้าของมักจะรอดยากครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม