หัวข้อที่ 40 เรื่องทรามๆ ใน “นิพิทนัยศัพท์อักษร” (สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ พ.ศ.2568) วันนี้ผมขอรวบรัดตัดถึงตอน ที่อาจารย์ปรัชญา ปานเกตุ ยก “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน” อธิบาย ความหมายสมัยปัจจุบัน คำว่า “ทราม”

“ทราม” หนึ่ง หมายถึงเลว เช่น ใจทราม ต่ำทราม มารยาททราม ใช้ซ้อนกับ“เลว” เป็น “เลวทราม” ก็มี

“ทราม” หนึ่ง หมายถึงเสื่อม เช่น ปัญญาทราม ใช้ซ้อนกับ “เสื่อม” เป็น “เสื่อมทราม” ก็มี

“ทราม” ถูกอธิบายให้เข้าใจความหมายเช่นนี้

เมื่ออาจารย์ปรัชญาใช้เป็น “มุก” ตอนท้าย...“ทรามเชย”

ที่สัพยอกยั่วกันว่า ทั้งทราม (เลว) ทั้งเชย และ “ทรามวัย” กับ “ไอ้ตูบ” นั้น จะต้องหันมาเปลี่ยนความคิด “มุกนี้” ก็ไม่เป็นมุก

เพราะทรามที่ใช่หยอกยั่วกันนั้น ถูกต้องตามยุคสมัย (ใหม่)

แต่มุกของอาจารย์ปรัชญาจะให้รอยยิ้ม ก็ต่อเมื่อย้อนไปตั้งใจอ่าน ความหมายคำ “ทราม” “คำเก่า”

ทรามโบราณ หมายถึงพอประมาณ ปานกลาง พอเหมาะ พอดี

เช่น ในไตรภูมิพระร่วง... ลางอันมีพรรณอันแดง ลางอันเขียว ลางอันทราม ลางอันแดงก่ำ

หรือในลิลิตพระลอ “ปู่เลือกไก่ตัวงาม ทรงทรามวัยทรามแรง”

ในบทละคร เรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตอนต้น...“ทรงแต่งชั้นต้นเป็นประถม ยังทรามยังพอดีอยู่”

มีตัวอย่างแพร่หลายทั่วไปในวรรณคดี “ทรามชม” หมายถึง เด็กหรือหญิงคนรัก เช่น ในบทละครนอกเรื่องพิกุลทอง “รับเอาลูกน้อยทรามชม ให้เจ้าเสวยนมแล้วร้องไห้ วันนี้ลูกยาเจ้าคลาไคล ไปเที่ยวถึงไหนนะลูกอา”

...

“ทรามเชย” หมายถึงหญิงงามหรือหญิงผู้เป็นคนรัก เช่นในกนกนคร...อมรสิงห์นิ่งนึกตรึกซ้ำ ถ้อยคำที่เขากล่าวเผย หวนนึกนงรามทรามเชย จักเลยไร้คู่อยู่เดียว

“ทรามสงวน” หรือ “ทรามสวาท” หมายถึงหญิงงามน่ารัก นางงามผู้เป็นที่รัก เช่น ในบทละครนอก สังข์ทอง...

พระจึงตั้งสัตย์อธิษฐาน แม้บุญญาธิการเคยสมสอง ขอให้ทรามสงวนนวลน้องเห็นรูปพี่เป็นทองต้องใจรัก

และ ในจันทโครบ...สอดประคองสองถันสุวรรณมาศ  ทรามสวาทเจ้าอย่าสูญสโมสร นางเบือนพักตร์ผลักหัตถ์สลัดกร ชำเลืองค้อนต้องเนตรกษัตรา

รองศาสตราจารย์ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สันนิษฐานว่า “ทราม”  กับ  “ราม”  น่าจะความหมายเดียวกัน

ภาษาล้านนา ออกเสียง “ราม” ว่า “ฮาม” เช่น “ขนาดมอกฮาม” หมายถึง ขนาดปานกลาง กำลังพอดี ไม่เล็กหรือใหญ่ กำลังได้ที่ ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป

ภาษาถิ่นใต้ว่า “ทราม” หมายถึงพอเหมาะ พอควร  เช่น “ขี้พร้าทรามแกง” หมายถึงฟักเขียวพอเหมาะที่จะใช้แกง สำนวน “ทรามหมาเงย” หมายถึงสาวรุ่น

“สัพะ พะจะนะพาสาไท (2347) ของพระสังฆราชปาเลอกัว ว่า “ทราม” มี 2 ความหมาย คือ สวย น่ารัก และยังไม่สุก เช่น “มะพร้าวทราม”

“ทราม” ในความหมายเก่านี้ มีนัยคล้าย “พาล” คือ

แปลว่า “อ่อน” ถ้าอ่อนความคิด หมายถึงคนพาล อ่อนวัย

หมายถึงเด็กหนุ่ม เด็กสาว เช่น ยุพาพาล หมายถึงสาวงาม

ความรู้ใหม่ ที่ได้จากอาจารย์ปรัชญา...ทั้ง “ทราม” และ “พาล” คนรุ่นใหม่ใช้ในทางไม่ดี แต่คนรุ่นเก่าใช้ไปในทางดี ออกไปน่ารักน่าชัง จะว่าไปก็เป็นเช่นบางบ้านเมืองที่วุ่นวาย คนรุ่นเก่าเลือกไปทาง คนรุ่นใหม่เลือกไปอีกทาง.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม