พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้และจัดสร้าง–ส่งมอบเตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร สะท้อนถึงความร่วมมือแข็งขัน เพื่อสู้ภัยสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่เขตหนองจอกได้เป็นอย่างดี

ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ทีมงานเขตหนองจอก คณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขตหนองจอก (คคพ.เขตหนองจอก) คณะครู นักเรียน ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียน 37 แห่ง ชาวบ้าน...ผู้นำชุมชน

สอดคล้องกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก “PM 2.5” ที่ยังเกินค่ามาตรฐานทั่วไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลางตามจังหวัดลุ่มเจ้าพระยา กทม. ปริมณฑล

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา...หนักสุดวิกฤติระดับสีม่วงในหลายพื้นที่แบบปูพรม

รองศาสตราจารย์ ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ประธานคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขตหนองจอก (คคพ.เขตหนองจอก) บอกว่า MOU โครงการนำเตาเผาขยะไปสู่พื้นที่ มุ่งหวังเพื่อให้ชุมชนได้ตระหนักถึงปัญหา “ขยะ”

“สร้างกรอบความคิดให้รู้ถึงมลภาวะทางขยะมีผลเสียต่อครอบครัวอย่างไร และกระบวนการสุดท้ายหากต้องการเผาทำลาย ขยะทิ้งก็จะมีเตาเผาขยะลดมลภาวะที่เข้าไปสู่ชั้นบรรยากาศ”

วัตถุประสงค์หลักเป็นโครงการที่เรามุ่งหวังสร้างการตระหนักรู้และต้องการสร้างกรอบความคิดให้เด็กๆ เป็นก้าวเล็กๆก้าวแรก ที่จะนำไปสู่ก้าวใหญ่ๆ ด้วยแรงสนับสนุนของคนในชุมชน...พื้นที่ ร่วมด้วยช่วยกัน

“37 โรงเรียนเป้าหมาย มาจากคณะกรรมการขับเคลื่อนภายในเขตหนองจอก เราจึงอยากสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชุมชน มีความเชื่อว่าโครงการทุกอย่างจะยั่งยืนได้จะต้องได้รับการสนับสนุนจากชุมชน ฉะนั้นเราไม่ได้สร้างเตาเผาอย่างเดียวแล้วเราก็ไม่ได้สร้างให้ด้วย เราจะจัดการอบรมในโรงเรียน”

...

เพื่อให้ “พลังชุมชน” สร้างเอง ผ่านทีมงานคอยเป็นที่ปรึกษา ให้ความรู้ เป็นพี่เลี้ยงให้โครงการนี้เดินหน้าไปอย่างยั่งยืน

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้...ระยะสั้นวันนี้ถ้าน้องๆ เด็กๆกลับไปโรงเรียน กลับบ้านไปก็ไปบอกที่บ้านว่าผลเสียจากการมีขยะที่สร้างมลภาวะ มลพิษในบ้านเป็นยังไง ระยะสั้นก็ให้รู้ตระหนัก ส่วนระยะยาวก็คือปลูกฝังกรอบความคิดในอนาคต เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ตระหนักเรื่องมลภาวะ...มลพิษสิ่งแวดล้อม

เตาเผาสู้ฝุ่น PM 2.5 สุดทางที่ขยะกำพร้า

“วันนี้เราใช้เครื่องมือถ่ายทอดคือเตาเผาขยะผ่าน 37 โรงเรียน ภายใต้การกำกับดูแลของ กทม. จะขยายให้ครบ 46 โรงเรียน ทั่วเขตหนองจอก และคงจะมีโครงการอื่นๆที่เกี่ยวกับเรื่องมลภาวะทยอยออกไปเรื่อยๆ”

คุณสมบัติ “เตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษ” อาจารย์โกศล แสงทอง คณะทำงานถ่ายทอดองค์ความรู้และจัดสร้าง บอกว่า ชื่อชัดเจนว่าเป็นเตาเผาลดมลพิษ ให้รู้ถึงปัจจัย 3 อย่าง นั่นก็คือ...

เชื้อเพลิงคือขยะ ออกซิเจนคืออากาศ และความร้อน

ฉะนั้นแล้วหลักการสำคัญก็คือการทำให้ทั้งสามอย่างมาอยู่ในเตาเผาตัวเดียวกัน แล้วสร้างอุณหภูมิให้สูงระหว่างการเผา จะทำให้มลพิษที่ถูกปล่อยออกมาถูกเผาไปด้วย สิ่งสำคัญคือระยะเวลาการเผาที่สั้น

วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ “อาจารย์ยักษ์” เสริมว่า เรามีความเชื่อมั่นว่าโลกกำลังเดินไปสู่สภาวะที่วิกฤติทุกมิติ โดยเฉพาะมิติทางสิ่งแวดล้อม “ขยะ” เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อชีวิตมนุษย์ว่าจะดีหรือเปล่า ซึ่งขยะจะวนไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม...ลงทะเล ไปสู่ห่วงโซ่อาหาร กลับมาสู่มนุษย์

ทุกวันนี้คนเป็นมะเร็งมากมายมหาศาล ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีผลมาจากสภาพแวดล้อม แล้ว “ขยะ” ก็เป็นปัจจัยสำคัญ การเริ่มต้นจากขยะ...บริหารจัดการ แก้ปัญหา รณรงค์เบื้องต้นเริ่มจากการแยกขยะ จนเหลือแต่ “ขยะกำพร้า” ที่จะเป็นขยะไม่มีประโยชน์แล้ว... จริงๆมีเพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ขยะกำพร้ากำจัดได้ด้วยการเผาอย่างถูกวิธี จะลดมลพิษจากควันได้เป็นพันเท่า ด้วยเทคโนโลยีที่ทำกันได้ในวันนี้ ย้ำว่า...“ขยะกำพร้า” คือขยะที่ไม่สามารถคัดแยก หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ด้วยการเผาในเตาเผาขยะชีวมวล สามารถช่วยลดมลพิษในอากาศ ส่งผลดีด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการขยะ

กระนั้นแล้วข้างต้นนี้ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ขณะที่การแก้ต้นเหตุจะต้องเริ่มจากต้นน้ำ...ดิน น้ำต้องสะอาด อากาศต้องบริสุทธิ์ การจัดการขยะต้องแยกเอาไปใช้ในหลายๆ “รี”...ทั้ง รียูส รีไซเคิล ต้องช่วยกันทำให้หมด เราจะใช้เตาเผาขยะ...เป็นเครื่องมือชักชวนทุกโรงเรียน แต่ก่อนจะมีเตาต้องให้การศึกษาก่อน

“เราต้องทำอีก 20 เรื่อง โดยเตาเป็นเครื่องมือสุดท้ายที่จะลดมลพิษให้เหลือน้อยที่สุด”

โครงการ “เตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษ” เริ่มปลายปีที่แล้ว สร้างเตาเผาไปแล้ว 3 เตา อยู่ที่โรงเรียนสุเหร่าลำแขก โรงเรียนวัดพระยาปลา โรงเรียนวัดใหม่เจริญราษฎร์...ราคาค่าของ 10,000 บาท ใช้เวลาสร้าง 2 วัน ทว่า...ประเด็นสำคัญคือการสอนให้ทำเอง แล้วสามารถเอาองค์ความรู้นั้นกระจายต่อไปสู่ชุมชนได้

...

ชัดเจนว่าที่ที่ดีที่สุดคือ “โรงเรียน” เป็นศูนย์การกระจายข่าวสารเข้าสู่ชุมชนได้รวดเร็วที่สุด

ในอนาคตต่อไปที่ประชุมจะเสนอให้ความสำคัญกับเด็กเป็นพลังของแผ่นดิน วรเกียรติ สุจิวโรดม หัวหน้าคณะทำงานถ่ายทอดองค์ความรู้ และจัดสร้างเตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษ บอกว่า เราจะจัดค่ายเด็ก 3 ขุมพลัง... “พลังกาย พลังใจ พลังปัญญา” หากมี 3 เรื่องนี้แน่นแล้วจะเติมอะไรเข้าไปเด็กก็รับได้

“ค่ายเด็กจะมีการอบรม ปฏิบัติเรื่องการปลูกต้นไม้ ทำปุ๋ยปลูกผัก...อะไรที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เราจะสร้างบุคลากรและเด็กที่ดีแล้วส่งมอบให้เทคโนโลยีมหานคร ดูแลต่อยอดต่อไป”

ปัญหาฝุ่นจิ๋วพิษ “PM 2.5”...เป็นวาระแห่งชาติ สิ่งสำคัญเมื่อลงมาถึงชุมชน ครัวเรือน...ก็ต้องขึ้นอยู่กับกรอบความคิดของแต่ละคนอยู่ดี ห้ามเผาแต่ก็แอบเผาไม่มีใครสามารถบังคับใครได้ตลอดเวลา เรื่องแก้ปัญหา “ฝุ่น PM 2.5” ขึ้นอยู่กับ “จิตสำนึก” ต้องคิด (ได้)...ทำ (ได้) เพื่ออนาคตลูกหลานจริงๆ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม