มีสิทธิ์ มีเกียรติ มีแรงดันจีดีพีประเทศ กฎหมายชาติพันธุ์ในมือเพื่อไทย

 ประเทศไทย มีชาติพันธุ์มากกว่า 60 กลุ่ม

มีจำนวนราว 10 ล้านคน คิดเป็น 13.93% หรือ 1 ใน 7  ของจำนวนประชากรไทยทั้งประเทศ

‘ชาติพันธุ์’ หมายถึง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มเดียวกันหรือหลายกลุ่ม ซึ่งมีถิ่นฐานในประเทศไทย และมีประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์และการสั่งสมทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความเชื่อตามจารีตประเพณีร่วมกัน  เช่น ปกาเกอะญอ คะฉิ่น มานิ อูรักลาโวยจ มอแกน มอแกลน ลาหู่ ม้ง ดาราอาง มอญ ไทดำ ไทลื้อ และอีกมากมาย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา ‘ชาติพันธุ์’ ในไทย เผชิญปัญหาที่หลากหลายและซับซ้อน ทั้งอคติของสังคม ที่แปะป้ายพวกเขาว่า ‘ตัดไม่ทำลายป่า’ ‘เผาป่า’ ‘ล้าหลัง’ ถูกลดทอนและด้อยค่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรม  ไปจนปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งการขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ไร้สัญชาติ และเข้าถึงไม่สิทธิ์ขั้นพื้นฐานต่างๆ ทำให้ของคนบางกลุ่มต้องวนเวียนอยู่กับความยากจนไร้โอกาส และกลายเป็น ‘คนอื่น’ ที่ไม่ใช่ ‘พวกเรา’ ในสังคมไทย 

ทว่าหากไปดูในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2560 จะพบว่า ในมาตรา 70 ระบุไว้ดังนี้  

“รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย” 

การที่คำว่า ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ปรากฏในกฎหมายสูงสุดของประเทศ นั่นหมายความว่า รัฐบาลมีหน้าที่ดำเนินการให้มี ‘กฎหมายเฉพาะ’ ที่จะนำมาสู่การกำหนดแนวทางและกลไกในการปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 

ก่อนหน้านี้ ‘กฎหมายชาติพันธุ์’ ถูกผลักดันสู่สภาจากความร่วมมือของหลายฝ่าย ทั้งภาคประชาชน ภาคการเมือง และภาควิชาการ รวม 5 ฉบับ นำมาสู่การตั้งให้มีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีสัดส่วนของผู้แทนจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เข้ามาร่วมกันพิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวให้มีความครอบคลุม สอดคล้องกับความต้องการของทุกกลุ่ม

ปัจจุบัน ร่างกฎหมายนี้เดินทางมาสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร วาระ 2 และเผชิญกับข้อถกเถียงหลายประการ ทั้งการใส่นิยามคำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ (Indigenous People) ที่ สส. หลายคนมองว่ากระทบด้านความมั่นคงจนถูกตัดออกไปจากร่าง  ไปจนถึงเรื่องมาตรา 27 ของร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ที่ใส่เนื้อหาให้ ‘ยกเว้นการบังคับใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอยู่อาศัยและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์’ และถูกมองว่าอาจกระทบกับทรัพยากรและผืนป่าของประเทศ ส่งผลให้การพิจารณาถูกเลื่อนออกไป โดยจะมีการถกเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 5 ก.พ. 2568 นี้ 

ไทยรัฐออนไลน์ ได้สนทนากับ ‘โฮม’  ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส. เชียงราย เขต 2 พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ.... เพื่ออัพเดทความคืบหน้าของร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่ดูจะลุ่มๆ ดอนๆ จากเสียงคัดค้านของ สส. จำนวนหนึ่งในพรรคเดียวกัน และเพื่อทำความความเข้าใจว่า เหตุใดประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับนี้ 

ปิยะรัฐชย์ ย้ำหลายครั้งว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อให้อภิสิทธิ์กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่หัวใจสำคัญคือ การออกแบบกฎหมายเพื่อ ‘คุ้มครองให้เกิดการเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน’ จากปัญหาที่ชาติพันธุ์เผชิญข้อจำกัดมายาวนาน และส่งเสริมให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้แสดงศักยภาพผ่านต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ และสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรมของประเทศไทยในอนาคต

จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณสนใจปัญหาชาติพันธุ์

โฮมเป็น สส. เชียงราย เขต 2 ซึ่งเขตนี้รวมถึงพื้นที่ของชาติพันธุ์ด้วย จริงๆ โฮมสนใจเรื่องนี้มานานแล้ว ตั้งแต่เด็กๆ ที่คุณพ่อคุณแม่พาลงพื้นที่ เราก็จะพบกับปัญหาของพี่น้องชาติพันธุ์ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะสวัสดิการ สาธารณสุข การศึกษา สัญชาติ ที่ดินทำกิน เราจะฟังและได้ซึมซับมาตลอด 

อย่างเช่น ‘ปัญหาเรื่องสัญชาติ’ ที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปีและยังไม่ได้รับการแก้ไข บางคนขอสัญชาติมาทั้งชีวิตจนเสียชีวิตไปแล้วก็ยังไม่ได้ ดังนั้น เราอยากมาขับเคลื่อนให้เสียงของชาติพันธุ์ทั่วประเทศดังขึ้น ให้คนในสังคมรับรู้ว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ในแผ่นดินไทย 

ในเชิงสถิติ ประเทศไทยมีชาติพันธุ์ทั้งหมดกี่กลุ่ม จำนวนเท่าไหร่ 

ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ชาติพันธุ์ในไทยมีทั้งหมด 60 กลุ่ม ประชากรประมาณ 10 ล้านคน (ราว 13.93% หรือ 1 ใน 7 ของประชากรทั้งหมด)

หากดูอัตราเกิด (birth rate) ของชาติพันธุ์ เทียบกับอัตราการเกิดโดยรวมของประเทศ เราพบว่า อัตราการเกิดของชาติพันธุ์สูงมาก แต่อัตราการเกิดในภาพรวมของประชาชนอยู่ในระดับที่ต่ำ ดังนั้น จำนวนประชากรของพี่น้องชาติพันธุ์ถือว่าเติบโตอย่างก้าวกระโดด โฮมมองว่านี่คือข้อดี เพราะถือเป็นกลุ่มประชากรที่มีศักยภาพและเป็นพลังสำคัญของประเทศ เราจึงอยากให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้เข้าถึงสิทธิต่างๆ ในฐานะพลเมือง เพื่อให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีฐานะเป็นคนไทยคนหนึ่งได้อยู่อย่างมีเกียรติเสมอภาคกับคนไทยทุกคน และมีคุณภาพชีวิต รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวมด้วย 

เรามองว่า พี่น้องชาติพันธุ์ราว 10 ล้านคน เป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพและทรงคุณค่า มีศักยภาพ มีทักษะที่สูง ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้ประเทศได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพร้อมๆ กับการโอบรับคนทุกกลุ่มเพื่อให้สังคมไทยเป็นพหุวัฒนธรรมจริงๆ 

ทำไมไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายชาติพันธุ์ ในเมื่อรัฐธรรมนูญก็รับรองสิทธิพลเมืองเท่าเทียมกัน

โฮมพูดกับกรรมมาธิการฯ ทุกท่านตั้งแต่แรกว่า เราไม่อยากให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำให้คนในสังคมคิดว่าเราให้อภิสิทธิ์กับพี่น้องชาติพันธุ์ แต่โจทย์คือเราจะออกแบบกฎหมายที่ 'คุ้มครอง' และ 'ส่งเสริม' ชาติพันธุ์ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเรื่องการเข้าถึงสิทธิ์ แน่นอนว่าทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน แต่การเข้าถึงสิทธิ์ของพี่น้องชาติพันธุ์นั้นมีข้อจำกัดมากกว่าคนทั่วไป

โฮมไม่แน่ใจนะว่า คนในสังคมพอจะมองเห็นไหมว่าการเข้าถึงสิทธิ์ของชาติพันธุ์ค่อนข้างเผชิญข้อจำกัด ดังนั้น เราต้องการให้ร่างกฎหมายนี้ทำหน้าที่คุ้มครองให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงสิทธิ์ได้อย่างเท่าเทียมกัน 

ส่วนการส่งเสริม ไม่ว่าจะด้านประเพณี วัฒนธรรม ภาษา การใช้ชีวิต หรือส่งเสริมให้มีการแสดงศักยภาพ ได้โชว์ให้คนคนทั่วไปเห็นว่า พี่น้องชาติพันธุ์มีศักยภาพที่ดูแลผืนแผ่นดินและทรัพยากรธรรมชาติที่เข้าอาศัยอยู่ได้อย่างไร 

หลักการสำคัญในร่างกฎหมายฉบับนี้ 

ร่างกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมชาติพันธุ์ทุกกลุ่มทั่วประเทศ มีหลักการสำคัญ 3 เรื่อง คือ

1. การจัดทำข้อมูล เราจะช่วยกระทรวงมหาดไทยในการจัดทำข้อมูล โดยกำหนดให้มีการสำรวจข้อมูลให้ชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการกระบวนการกำหนดสถานะบุคคล ที่จะทำให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เข้าถึงสิทธิต่างๆ อย่างเสมอภาค 

2. จะมีการตั้งสภาของชาติพันธุ์ทั่วประเทศทั้งหมด 300 คน ตัวแทนจากชาติพันธุ์ 60 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คน เพื่อขับเคลื่อนความต้องการของชาติพันธุ์ นอกจากนี้ เรายังมีคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ 

3. เราจะมีเวทีให้ชาติพันธุ์ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ ในเรื่องพื้นที่ที่เราต้องการจัดทำเป็นพื้นที่คุ้มครองฯ เพื่อที่เราจะสามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกับหน่วยงานหรือรัฐบาลไว้ ซึ่งในพื้นที่คุ้มครองนี้ พี่น้องจะสามารถแสดงศักยภาพของชาติพันธุ์ว่า เราดูแลพื้นที่ป่าของเราได้ และมีแผนบริหารจัดการที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน 

จากการลงพื้นที่ คุณโฮมไปเห็นศักยภาพและทักษะของชาติพันธุ์ ที่สามารถต่อยอดในเชิงเศรษฐกิจชุมชนและท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอะไรบ้าง

โฮมได้ลงพื้นที่กับท่านรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม (สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล) ที่หมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เราพบว่า ชุมชนได้ปรับตัวและมีการบริหารจัดการพื้นที่ดีมาก เช่น การทำโฮมสเตย์เพื่อดึงการท่องเที่ยวมาในชุมชน โดยการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพในการรองรับของพื้นที่ และเพื่อไม่ให้เกิดการทำลายธรรมชาติจากการท่องเที่ยวที่มากเกินไป ในพื้นที่ยังมีการจัดการด้านเกษตรกรรม สร้างกองทุนเพื่อพัฒนาต่อยอดและบริหารจัดการในชุมชนของตัวเอง และยังสามารถดำรงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของตัวเองได้อีกด้วย

หากร่างกฎหมายชาติพันธุ์ผ่านสภาและบังคับใช้ ประเทศไทยและสังคมหมู่มากจะได้ประโยชน์อะไร 

เมื่อพี่น้องชาติพันธุ์ได้รับการคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิ์และส่งเสริมวิถีชีวิตอย่างเสมอภาค เมื่อนั้น เราจะเห็นถึงความสำคัญและความหลากหลายทางวัฒนธรรม สังคมไทยจะโอบรับทุกวัฒนธรรมอย่างมีศักดิ์ศรีเสมอกัน เราอาจจะพูดได้ว่า นี่คือ Soft power ที่เรายังไม่ได้ค้นพบและเจียระไน โฮมคิดว่าหากกฎหมายชาติพันธุ์ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ศักยภาพของพี่น้องชาติพันธุ์จะถูกแสดงออกมาสู่สายตาของสังคมไทยและสังคมโลก และเป็นหนึ่งในจุดหมายที่ทำให้นักท่องเที่ยวอยากเข้ามาซึมซับประเพณีและวัฒนธรรมที่หลากหลายในประเทศไทย 

โฮมเชื่อว่า จีดีพี (Gross domestic product) ของประเทศจะสามารถเติบโตได้จากพหุวัฒนธรรมนี้ 

กรณีศึกษาที่ทำให้เห็นว่า การยอมรับ คุ้มครอง และส่งเสริมชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

อย่างที่ญี่ปุ่น มีชนเผ่าที่ชื่อว่า 'ไอนุ' ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากเดินทางไปเรียนรู้

(ชาวไอนุมีถิ่นอาศัยที่เกาะฮอกไกโด และหมู่เกาะอื่นๆ ใกล้เคียง มีวัฒนธรรมของตัวเองที่มีเอกลักษณ์ เช่น ภาษาไอนุ ความเชื่อด้านจิตวิญญาณ การร่ายรำ ศิลปหัตถกรรม อาหาร ซึ่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 - ปลายทศวรรษที่ 20 รัฐบาลกลางญี่ปุ่นมีนโยบายชาตินิยมดูดกลืนทางวัฒนธรรม โดยให้ชาวไอนุปฏิบัติตนให้คล้ายคลึงชาวญี่ปุ่น ห้ามพูดภาษาไอนุ ถูกปฏิเสธอัตลักษณ์ สูญเสียที่ดินทำกิน และไม่ได้รับการยอมรับจากญี่ปุ่นอย่างเท่าเทียม

ปี 2008 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้การยอมรับชนเผ่าไอนุว่าเป็น ‘ชนพื้นเมืองที่มีภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง’ และมีนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรม พัฒนาหมู่บ้านของชาวไอนุให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาวิถีชีวิตของชาวไอนุและการท่องเที่ยวของเกาะฮอกไกโด)

'ชาวไอนุ' ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนเกาะฮอกไกโดและเกาะใกล้เคียง ประเทศญี่ปุ่น

ส่วนของประเทศไทยเอง เรามีหมู่บ้านทับตะวัน ของชาวมอแกลน ที่จังหวัดพังงา หนึ่งในกรรมาธิการของร่างกฎหมายชาติพันธุ์ก็เป็นคนจากหมู่บ้านทับตะวันด้วย ที่แห่งนี้ ชาวมอแกลนได้ช่วยกันฟื้นฟูวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวเล และผลักดันจนกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พวกเขาออกแบบเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวและการเรียนรู้ของตนเอง ทำธุรกิจวิสาหกิจของเขาเอง เลี้ยงตัวเองได้ สร้างเครือข่ายการแปรรูปอาหารทะเล จนเป็นหนึ่งในหมุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติเช่นกัน และโฮมเชื่อว่านักท่องเที่ยวที่ได้ไปบ้านทับตะวัน ประทับใจทุกคน

ตัวอย่างเรื่องชาติพันธุ์ชาวเลที่หมู่บ้านทับตะวัน เขาผ่านประสบการณ์อันเจ็บปวดมายาวนาน และแปลงความเจ็บปวดนั้นมาเป็นศักยภาพและทุนทางวัฒนธรรม โฮมพบว่า เสียงของพวกเขาดังขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนก็ได้เข้ามาช่วยสนับสนุน ทำให้ชาวทับตะวันได้ต่อยอดและพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนพร้อมๆ กับรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมให้คงอยู่ได้

หมู่บ้านของชาติพันธุ์ชาวเลมอแกลน บ้านทับตะวัน จังหวัดพังงา / ภาพ: สถาบันการเรียนรู้พังงาแห่งความสุข

ตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งอยู่ในวาระสอง ถูกเลื่อนพิจารณาวาระสองไปวันที่ 5 ก.พ. 2568 เผชิญอุปสรรคจากหลายฝ่ายที่มองต่าง ในฐานะประธานกรรมมาธิการฯ คุณมองว่าอะไรที่ทำให้ฝ่ายที่คัดค้านรู้สึกกังวลในเนื้อหาของร่างกฎหมายนี้

ส่วนใหญ่ก็เป็นความกังวลในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ โฮมคิดว่า มันมีแนวคิดที่ สส. หลายคนยังไม่เข้าใจตรงกับเรา ดังนั้น นี่คือหน้าที่ของพวกเราในการทำความเข้าใจกับหลายๆ ภาคส่วนที่ติดประเด็นนั้นประเด็นนี้ ซึ่งวันที่ 22 มกราคา 2568 นี้ โฮมได้เชิญทุกฝ่ายเข้าร่วมประชุม เพื่ออธิบายให้เข้าใจว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อให้อภิสิทธิ์กับกลุ่มชาติพันธุ์  เพราะเป้าหมายของเราคือ ‘การคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิ’ ของพวกเขา เพื่อให้เสียงของเขาดังเทียบเท่ากับคนอื่นในสังคมเท่านั้นเอง 

นี่คืองานหินของพวกเรา ที่ต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายและทุกคนในสังคมจริงๆ ซึ่งโฮมมองว่านี่คือจุดเริ่มต้นเท่านั้น ระยะทางต่อจากนี้ไปเรายังต้องทำความเข้าใจกับคนอื่นๆ ในสังคมที่ยังมีมายาคติเรื่องชาติพันธุ์ โฮมคิดว่ามันคืองานยาก แต่โฮมจะทำให้เต็มที่ 

ประเมิน Worst-case scenario ไว้บ้างไหม หากร่างนี้ถูกตีตกไปในที่สุด จะทำอย่างไรต่อไป

โฮมไม่อยากให้ถูกตีตก จุดหมายเดียวของเราคือกฎหมายนี้ต้องผ่าน เราต้องผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ผ่านให้ได้ ซึ่งตอนนี้มันอาจเจออุปสรรคจากมายาคติ และแนวคิดบางอย่างที่เราต้องเข้าไปทำความเข้าใจ โฮมคิดว่า ช่วงเวลาที่เราขอเลื่อนการพิจารณา จะเป็นช่วงเวลาที่ดีให้เราเข้าไปทำความเข้าใจกับหลายๆ คน แล้วเราก็จะดึงแนวทางที่ดีที่สุดมาประกอบให้กฎหมายฉบับนี้แข็งแรงและเป็นก้าวที่มั่นคงของพี่น้องชาติพันธุ์

ที่ผ่านมา โฮมพยายามรับฟังทุกฝ่ายจริงๆ ไม่ว่าจะประชาชนและภาครัฐเอง ในส่วนของคณะกรรมมาธิการฯ เอง โฮมยืนยันว่าเราฟังทุกฝ่ายจริงๆ และเอาสิ่งที่ดีที่สุดมาเป็นออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาติพันธุ์ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ 

ในฐานะ สส. รุ่นใหม่ การผลักดันกฎหมายเรื่องชาติพันธุ์ถือว่าเป็นงานหินมากๆ คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างจากงานนี้

เราใช้วิธีฟังทุกฝ่ายและหาจุดร่วมให้ได้ นี่คือความยาก เพราะต่างคงต่างความคิด เราจะทำอย่างไรที่จะดึงจุดที่ดีที่สุดของแต่ละฝ่ายออกมาเพื่อหาจุดกึ่งกลางให้ได้ 

มันก็เหมือนฟุตบอล มันมีทั้งเชิงรุกเชิงรับ แต่เราจะหาจุดร่วมแบบไหนที่จะทำให้พึงพอใจทั้งสองฝ่าย ไม่มีกฎหมายไหนที่ทำให้คนทั้งประเทศพอใจ 100 เปอร์เซ็นต์ มันมีคนทั้งชอบ ไม่ชอบ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้มันกลมกล่อมที่สุด 

ตั้งแต่ทำงานเรื่องกฎหมายชาติพันธุ์มา โฮมได้ไปเจอพี่น้องชาติพันธุ์เยอะมาก ทุกคนมีความหวัง ให้กำลังใจเรา ฝากความหวังไว้กับเรา ถึงแม้มันจะไม่ราบรื่นจนเราต้องถอนร่างมาแก้ไขไปแล้วรอบหนึ่ง ทุกคนก็เข้าใจและให้กำลังใจ 

โฮมถึงรู้สึกว่า โฮมปล่อยให้ร่างนี้ถูกตีตกไม่ได้ โฮมต้องสู้ต่อ และหากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทำคลอดออกมาได้ จะเป็นกฎหมายชาติพันธุ์ที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชาติพันธุ์ฉบับแรกของประเทศไทย และอาจพูดได้ว่าเป็นฉบับแรกของอาเซียนเลยด้วยซ้ำ 


สร้างสรรค์โดย
ทีมข่าวเฉพาะกิจ

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

Share

เราใช้คุ้กกี้ 

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookie Policy)

รับทราบ