เร่งสแกนชายแดนแม่สอด จ.ตาก ค้นหา “หยาง เจ๋อฉี” นายแบบหนุ่มหล่อชาวจีน หายตัวปริศนา 20 วัน หลังเข้าเมืองไทยเพื่อ แคสต์งานแสดง แต่ไม่มีใครติดต่อได้ คาดตกเป็นเหยื่อ แก๊งคอลเซ็นเตอร์จีนเทาในเมืองเมียวดี ฝั่งพม่าซ้ำรอย “ซิงซิง” นักแสดงซีรีส์จีน ขณะที่ทหาร ฉก. ราชมนูช่วย 2 หนุ่มจีน ก่อนถูกหลอกไปตกนรกเมียนมาเช่นกัน ด้านแม่เหยื่อหนุ่มตกตึกปอยเปตวอนผู้มีอำนาจเร่งแก้ปัญหาและให้ความเป็นธรรมกับลูกชาย เชื่อโดนล่อลวงไป ขณะที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ เปิดโครงการ “ดีเอ็นเอ โปรคิดส์” เก็บสาร พันธุกรรมพ่อแม่ช่วยตามหาเด็กหาย

ปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบ “จีนหลอกจีน” ของขบวนการมิจฉาชีพแดนมังกร ออกอุบายลวงเพื่อนร่วมชาติให้เดินทางมาไทย เพื่อข้ามไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ในประเทศที่ 3 กลายเป็นปัญหาใหญ่ให้ฝ่ายไทยต้องแก้ไขรายวัน ก่อนหน้านี้มีข่าวครึกโครม กรณีนายหวัง ซิง หรือซิงซิง นักแสดงซีรีส์จีน ถูกหลอกมาแคสต์งานในเมืองไทย และถูกส่งตัวให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองชเวโก๊กโก่ จับโกนผมเกลี้ยงศีรษะและกักขังไว้ ฝึกให้เป็นทีมสแกมเมอร์ หลอกลวงชาวจีนด้วยกัน กระทั่งฝ่ายไทยประสานชนกลุ่มน้อยช่วยชีวิตออกมาได้สำเร็จ ล่าสุดเกิดเหตุกับนายแบบหนุ่มจีนอีกราย ได้รับการชักชวนให้มาแคสต์ งานในไทยแล้วหายตัวปริศนาแถวชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก นานกว่า 20 วันแล้ว

เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 10 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีข้อมูลเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลระบุว่ามีนายแบบชาวจีนชื่อ นายหยาง เจ๋อฉี (Yang Zeqi) ออกเดินทางจากประเทศจีน เที่ยวบิน VZ3719 จากสนามบินปักกิ่ง ต้าชิง เวลา 01.56 น. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.67 ตามเวลาปักกิ่ง มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย เวลา 06.16 น. ตามเวลาท้องถิ่น จากนั้นนั่งรถออกจากสนามบินและเปลี่ยนไปขึ้นรถคันที่สองที่ทีมงานจัดเตรียมไว้ให้ มุ่งหน้าสู่ชายแดนไทย-เมียนมา แต่ยังระบุไม่ได้ว่าจะเป็นพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก หรือจังหวัดไหน ญาติไม่สามารถติดต่อได้

...

ข้อมูลระบุต่อว่า หลังหายตัวปริศนากว่า 1 สัปดาห์ ต่อมาวันที่ 29 ธ.ค. นายแบบจีนได้วิดีโอคอล คุยกับมารดาแจ้งว่าปลอดภัยแล้ว ในวิดีโอ “หยางเจ๋อฉี” สวมชุดสีดำนั่งบนเก้าอี้ วางมือบนโต๊ะ มีอาการบาดเจ็บที่หางตาเห็นได้ชัด ดูเหมือนสภาพร่างกายและจิตใจไม่ปกติ จากนั้นโทรศัพท์ถูกปิดอีกครั้งและขาดการติดต่อไป ญาติหยาง เจ๋อฉี ให้ข้อมูลกับสื่อจีนอีกว่า ขอให้บล็อกเกอร์และสื่อที่มีอิทธิพลบนอินเตอร์เน็ต ช่วยโพสต์ปั่นกระแส แสดงความคิดเห็นและสร้างกระแส ให้กระแสหยาง เจ๋อฉี ดังเหมือนกรณีของ “หวัง ซิง” เพื่อให้ได้รับความสนใจแบบเดียวกัน

ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร) ได้สั่งการให้ตำรวจในพื้นที่ จ.ตาก และจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดนไทย-เมียนมา สืบสวนสอบสวนกรณีสื่อต่างชาติเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับนายหยาง เจ๋อฉี นายแบบชาวจีน ที่หายตัวไปบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ขณะที่ตำรวจ ภ.จ.ตาก และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ได้สั่งให้ชุดสืบสวน ลงพื้นที่เร่งตรวจสอบข้อมูลนายแบบชาวจีนรายนี้แล้ว

ก่อนหน้านั้นช่วงค่ำวันที่ 9 ม.ค. พ.อ.ณัฐกร เรือนติ๊บ ผบ.ฉก.ราชมนู กกล.นเรศวร จัดกำลัง ร้อย.ร.421 ลาดตระเวนพื้นที่บ้านเงาไผ่ หมู่ 11 ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก เพื่อสกัดกั้นและป้องกันการลักลอบกระทำผิดกฎหมาย ต่อมาพบชายสัญชาติจีน 2 คนคือนายอู๋ ซางฉิง อายุ 27 ปี และนายจู เซา อายุ 36 ปี มาขอความช่วยเหลือ ทั้ง 2 คนให้ข้อมูลว่าเดินทางเข้าไทยผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อตี 5 วันที่ 9 ม.ค. เข้าพักโรงแรมใกล้สนามบิน จากนั้นเวลา 10.00 น. เช่าเหมารถยนต์ราคา 2 พันบาท ให้พาเดินทางไป จ.เชียงใหม่ เพื่อท่องเที่ยว กระทั่งเวลา 18.00 น. คนขับนำพวกตนมาส่งในพื้นที่ อ.พบพระ จ.ตาก อ้างว่าจะมีรถอีกคันมารับไปเชียงใหม่ ต่อมาเวลา 18.20 น. ทหาร ฉก.ราชมนู ลาดตระเวนมาพบและสอบถามก่อนให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากคาดว่าน่าจะถูกขบวนการค้ามนุษย์หลอกลวง

ส่วนกรณีนายอลงกรณ์ หรือปั๊ม ดียิ่ง อายุ 31 ปี อยู่หมู่ 11 ต.หนองปลาไหล อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี ถูกหลอกไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลุ่มจีนเทาในเมืองปอยเปต จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา แต่ทำยอดไม่ได้ตามเป้าและถูกข่มขู่กดดันจนตัดสินใจจบชีวิตด้วยการกระโดดจากชั้น 14 อาคารกาสิโน 18 ชั้น ในเมืองปอยเปต ลงมาเสียชีวิตเมื่อค่ำวันที่ 8 ม.ค. ต่อมาครอบครัวผู้ตายได้ขอให้ทางการกัมพูชาช่วยเผาศพและส่งอัฐิกลับบ้านเกิดทางไปรษณีย์ เนื่องจากมารดาชราภาพแล้ว เป็นที่น่าสลดใจและสะเทือนใจนั้น

สายวันเดียวกัน นางจันทร์จิรา พัฒนศิริ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกาญจนบุรี เดินทางมาที่ชุมชนตลาดสดค่ายสุรสีห์ ต.ลาดหญ้า อ.เมืองกาญจนบุรี เพื่อให้กำลังใจ แนะนำสิทธิและสวัสดิการ พร้อมมอบเงินสงเคราะห์ผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน จำนวน 3,000 บาท ให้กับนางปิ่นนภา ดียิ่ง อายุ 64 ปี มารดาของนายอลงกรณ์

นางปิ่นนภากล่าวว่า จนถึงตอนนี้ยังคงทำใจไม่ได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่ที่ไม่ได้เดินทางไปรับศพลูกชายที่ จ.สระแก้ว เนื่องจากไม่มีเงินต้องขอให้เผาศพแล้วส่งกระดูกกลับมาที่บ้านแทน ส่วนตัวไม่เชื่อว่าลูกสมัครใจไปทำงาน น่าจะถูกหลอกไปมากกว่า อยากวิงวอนไปถึงผู้มีความสามารถช่วยสืบหาความจริงและให้ความเป็นธรรมกับลูกชายด้วย รวมถึงอยากให้ภาครัฐหาวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องของคนที่ถูกหลอกไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ปอยเปต ไม่อยากให้เกิดกรณีอย่างลูกของตนขึ้นอีก

ที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ จัดแถลงข่าวสถานการณ์เด็กหาย และการใช้นิติวิทยาศาสตร์ตามหาเด็กหาย (ดีเอ็นเอ โปรคิดส์) มี พล.ต.ต.สุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ ผบก.สถาบันนิติเวชวิทยา พ.ต.อ.หทัยชนก บุญญฤทธิ์ หน.กลุ่มงานตรวจเลือด ชีวเคมีและเขม่าดินปืน และนายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หน.ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา

...

นายเอกลักษณ์เผยว่า สถิติรับแจ้งเด็กหายของมูลนิธิกระจกเงา ปี 2567 รวม 314 ราย ถือว่าเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 6 ปี สูงกว่าปี 2566 ถึงร้อยละ 6 สาเหตุหลักกว่าร้อยละ 72 หรือ 227 คน คือเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน เด็กที่หนีออกจากบ้านอายุน้อยที่สุดเพียง 7 ขวบ รองลงมาคือกลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการช้า พิการทางสติปัญญา หรือป่วยจิตเวช สูญหายกว่าร้อยละ 9 หรือ 29 คน และมีเด็กถูกลักพาตัว 5 คน ในปีที่ผ่านมา อายุเฉลี่ยเด็กที่หายออกจากบ้านมากที่สุดคือ อายุ 11-15 ปี 171 คน รองลงมา อายุ 16-18 ปี 103 คน และช่วงแรกเกิดถึง 10 ขวบ 40 คน

“ปลายปี 2566-2567 มีเด็กและเยาวชนถูกชักชวน หลงเชื่อ และถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในพื้นที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้านกว่า 11 คน อายุน้อยสุดเพียง 14 ปี ลักษณะของการล่อลวงชักชวนไปทำงาน ส่วนใหญ่จะหลงเชื่อคำเชิญชวนในโลกออนไลน์ ลักษณะประกาศรับสมัครงานแอดมิน เว็บไซต์ รายได้ดี ภายหลังพบว่าถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ บางรายติดต่อให้ครอบครัวส่งเงินเพื่อไถ่ตัวกลับบ้านอีกด้วย” นายเอกลักษณ์กล่าว

พล.ต.ต.สุพิไชยกล่าวว่า สถาบันนิติเวชวิทยา เป็นศูนย์ตรวจสารพันธุกรรมเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ในเด็ก ช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ในเด็กให้กลับคืนสู่ครอบครัวที่แท้จริง โครงการดีเอ็นเอ โปรคิดส์ เป็นโครงการระหว่างประเทศเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ การเก็บสารพันธุกรรมของพ่อแม่เด็กที่อาจถูกลักพาตัวหรือล่อลวงไป เมื่อพ่อแม่แจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่าบุตรหาย ถ้าพนักงานสอบสวนทำหนังสือส่งตัวมาจะตรวจสารพันธุกรรมของพ่อแม่แล้วเก็บข้อมูลไว้ในระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอ สถาบันนิติเวชวิทยา เมื่อพบเด็กที่ไม่อาจระบุตัวบุคคลได้ สงสัยว่าถูกลักพาตัวหรือถูกล่อลวงไป จะตรวจสารพันธุกรรมของเด็ก และจะบันทึกข้อมูลสารพันธุกรรมลงในระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอเช่นกัน โปรแกรมตรวจสอบจะประมวลผลว่าตรงกับสารพันธุกรรมของพ่อแม่เด็กที่เก็บไว้ในระบบหรือไม่ หากพบจะรายงานผลว่าเป็นสายสัมพันธ์ผู้ใด หากยังไม่พบจะยังเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลรอให้ตรวจสอบเปรียบเทียบต่อไป

...

“การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของพ่อแม่จะเป็นประโยชน์ต่อการตามหาเด็กหาย หรือเด็กที่อาจตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ เป็นอีกความหวังที่จะช่วยเหลือเด็กที่สูญหายออกจากบ้าน พ่อแม่ที่ลูกหายให้ติดต่อหน่วยงานภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิกระจกเงา ประสานพนักงานสอบสวน ทำเรื่องส่งตัวพ่อแม่เด็กมาตรวจดีเอ็นเอ ที่สถาบันนิติเวชวิทยา เพื่อมาเก็บข้อมูลสารพันธุกรรมไว้ในระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอ สถาบันนิติเวชต่อไป” ผบก.สถาบันนิติเวชวิทยากล่าว

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่