โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Commu nicable Diseases) หรือ “NCDs” ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคปอดเรื้อรัง ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ...ครองสัดส่วนการเสียชีวิตกว่า 75% ของการเสียชีวิตทั้งหมดของคนไทย
สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม รวมถึงสภาพแวดล้อมและปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการดูแลสุขภาพ โดยมีปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งคือ...พฤติกรรมการบริโภค
“คนไทย...มีการบริโภคโซเดียมและน้ำตาลสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกถึง 2-4 เท่า ทำให้เกิดปัญหาโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน”
ถัดมา...วิถีชีวิตเนือยนิ่ง เยาวชน 90% มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ขณะที่การออกกำลังกายของประชากรทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำ และการสูบบุหรี่...ดื่มแอลกอฮอล์ สาเหตุสำคัญที่กระตุ้นการเกิดโรคมะเร็งและโรคหัวใจ
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขชี้ว่า อัตราการเกิด NCDs มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม “วัยทำงาน” และ “ผู้สูงอายุ” ส่งผลต่อทั้งคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานของประชากรไทย
...
น่าสนใจว่า...คนไทยป่วยด้วยโรคกลุ่มนี้รวมกว่า 33 ล้านคน...เสียชีวิตจากโรค NCDs ปีละ 400,000 คน
ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละปี...พบผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่เพิ่มปีละ 300,000 คน โรคมะเร็งปีละ 140,000 คน ผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตกว่า 1 แสนคน ที่น่าตกใจคือ “ผู้ป่วยโรคไต” มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ
ภาพรวมมีการใช้งบประมาณจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท ในการรักษาพยาบาล ไม่น้อยกว่า 62,138 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเกือบร้อยละ 50 ของงบประมาณในแต่ละปี
อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายแฝงจากค่าอาหาร ที่พัก ค่าเดินทาง การลางาน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้กับประเทศปีละ 1.6 ล้านล้านบาท
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ...แน่นอนว่าต้นทุนการรักษาพยาบาลที่สูงและการสูญเสียแรงงานในวัยทำงานส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ต่อเนื่องไปถึงการเพิ่มภาระในระบบสาธารณสุขที่ต้องรับภาระเพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องการการดูแลระยะยาว
สุดท้าย...เลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและครอบครัว...ผู้ป่วย NCDs และครอบครัวต้องเผชิญกับภาระทางจิตใจและการเงินในการดูแลระยะยาว
ข้อมูลข้างต้นนี้สอดคล้องกับข้อมูลเมื่อช่วงปีที่ผ่านมาที่ว่า...ในแต่ละปี “คนไทย” เสียชีวิตจาก “โรค NCDs” ประมาณ 400,000 คน หรือเฉลี่ย 37 คนต่อชั่วโมง...และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง โดยเฉพาะในระยะที่โรคแสดงอาการ แทรกซ้อน ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต
“สังคมสูงวัย”...ในประเทศไทยเป็นอนาคตและความท้าทาย นับเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้อัตราการเกิด NCDs สูงขึ้น “การป้องกัน” และ “ควบคุมโรค” จึงต้องได้รับการบูรณาการอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยลดความสูญเสียด้านสุขภาพและเศรษฐกิจที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกปี
“NCDs” จึงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายมิติ ทั้งด้านพฤติกรรมสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจ ในปี 2568 ความสำคัญอยู่ที่การ “ป้องกัน” และ “ลดปัจจัยเสี่ยง” ผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐ ภาคเอกชน และชุมชน....“การ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนจะเป็นกุญแจสำคัญในการลดภาระโรคและผลกระทบที่ตามมาในระยะยาว”
...
เริ่มง่ายๆด้วยตัวเอง ลดละเลิกพฤติกรรมเสี่ยง...การบริโภคอาหารที่มีโซเดียม น้ำตาล และไขมันสูง, การขาดกิจกรรมทางกายหรือการออกกำลังกาย, การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์, การเข้าถึงอาหารสุขภาพที่จำกัดในบางพื้นที่, วัฒนธรรมการบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ดและการใช้ชีวิตเร่งรีบ...เลี่ยงได้เลี่ยงหลีกได้หลีก
ขีดวงการป้องกันและควบคุม...สร้างพฤติกรรมสุขภาพดี รับประทานอาหารสุขภาพ เน้นผักผลไม้ ลดการบริโภคเกลือและน้ำตาล...ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน...งดสูบบุหรี่...เลี่ยงแอลกอฮอล์
ยึดหลักแนวทางสุขภาพ “5 อ.” ได้แก่ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย อนามัย อดิเรก
ที่สำคัญ...อย่าลืม ตรวจสุขภาพเป็นประจำ เช็กความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และค่ามะเร็งเบื้องต้น ช่วยให้สามารถรักษาได้ในระยะเริ่มต้น
โอกาสและแนวทางการแก้ปัญหา จำเป็นต้องเริ่มที่ การส่งเสริมการป้องกันเชิงรุก...สนับสนุนให้ประชากรตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจพบโรคในระยะแรกเริ่ม จัดกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกายและรณรงค์ลดการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
...
เชื่อมโยงไปถึง การสร้างระบบสนับสนุนในชุมชน...จัดตั้งคลินิกเฉพาะทางสำหรับโรค NCDs ในชุมชนเพื่อช่วยผู้ป่วยในการจัดการโรค การเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ...ให้ความรู้ผ่านโครงการและสื่อสารสาธารณะ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงของ NCDs
และสุดท้าย...การบังคับใช้กฎหมายและมาตรการควบคุม
“ควบคุม...การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบให้เข้มงวดยิ่งขึ้น...สนับสนุนกฎหมายที่จำกัดการใช้ไขมันทรานส์และน้ำตาลในอาหาร”
โรค NCDs...กำลังเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงในประเทศไทย ถือเป็น “ภัยเงียบ” ที่ไม่แสดงอาการในระยะแรก แต่ส่งผลกระทบมหาศาลต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม กุญแจสำคัญ “คนไทย” ต้องตระหนักรู้...เร่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด่วนจี๋.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม