ศปถ.ปิดฉาก 10 วันอันตรายปีใหม่ 2568 ตายทะลุไป 436 ศพ “กรุงเทพฯ” ครองแชมป์ตายสะสม ตามติดด้วย “สุราษฎร์ธานี” ขณะที่ 3 จังหวัดสุดเหนียว “ตราด-ยะลา-สมุทรสงคราม” ยอดตายเป็นศูนย์ ส่วนยอดรวมการเกิดอุบัติเหตุ 2,467 ครั้ง ลดลงเมื่อเทียบกับสถิติ ปีใหม่ย้อนหลัง 3 ปี สาเหตุหลักจาก “ขับรถเร็ว-ตัดหน้ากระชั้นชิด” ด้านกรมคุมประพฤติเผยยอดคดีคุมประพฤติรวม 7,654 คดี ติด EM 44 ราย โดยคดีเมาแล้วขับนำโด่งถึง 7,306 คดี “กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-นนทบุรี” ทำสถิติยอดสะสมสูงสุด
ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงหาดไทย เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วง (ศปถ.) เทศกาลปีใหม่ ปี 2568 โดยนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย เป็นประธานแถลงผลประชุม ศปถ. วันที่สิบของการณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค.2567-5 ม.ค.2568ว่า จากสถิติพบว่าปีนี้มีอุบัติเหตุลดลง จากแผนบูรณาการและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ 68 ได้กำหนดให้มีตัวชี้วัดในการดำเนินการ เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติปีใหม่ย้อนหลัง 3 ปี มีค่าเป้าหมายตัวชี้วัดลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ทั้งสถิติการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ และพฤติกรรมเสี่ยงหลักในการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดนั้น มีสถิติลดลง ส่วนจำนวนอุบัติเหตุครั้งใหญ่มีสถิติเพิ่มขึ้น โดยจะนำผลเสนอรายงานไปยังศูนย์ความปลอดภัยทางถนน และรายงานไปยังนายกรัฐมนตรีต่อไป
นายทรงศักดิ์กล่าวด้วยว่า ศปถ.ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับส่วนกลางและพื้นที่ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อให้สามารถลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ และลดอัตราผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตได้จริง และเน้นย้ำให้จังหวัดบูรณาการทุกภาคส่วนทำงานอย่างเต็มกำลังและต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และวันหยุดเท่านั้น ซึ่งต้องเน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ และชาวต่างชาติ ทั้งที่เข้ามาท่องเที่ยวและเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมของผู้ขับขี่ อาทิ การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับ การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย การไม่สวมหมวกนิรภัย การตัดหน้ากระชั้นชิด และการขับรถย้อนศร
...
สำหรับข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ เมื่อวันที่ 5 ม.ค.เกิดอุบัติเหตุ 139 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 29 ราย ผู้บาดเจ็บ 128 คน สาเหตุของอุบัติเหตุมากที่สุด มีมูลเหตุสันนิษฐานจากการขับรถเร็ว ตัดหน้ากระชั้นชิด ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ รถจักรยานยนต์ ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 19.01-20.00 น. ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50-59 ปี ส่วนจำนวนอุบัติเหตุสะสมรวม 10 วัน มีจำนวนอุบัติเหตุสะสม 2,467 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 436 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,376 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 89 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ ตรัง 78 ครั้ง ภูเก็ต 74 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 26 ราย ตามด้วยสุราษฎร์ธานี 24 ราย และฉะเชิงเทรา 13 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุดได้แก่ สุราษฎร์ธานี 100 คน ตามด้วยตรัง 78 คน และลำปาง 72 คน ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 3 จังหวัด ได้แก่ ตราด ยะลา และ สมุทรสงคราม
ด้านพันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยสถิติคดีคุมประพฤติช่วงปีใหม่ 2568 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2568 มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติรวมทั้งสิ้น 7 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 5 คดี และคดีขับเสพ 2 คดี เนื่องจากเป็นวันที่ศาลปิดทำการ ขณะที่สรุปยอดสะสม 10 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2567-5 มกราคม 2568 มีคดีคุมประพฤติรวม 7,654 คดี ยอดติดอุปกรณ์ EM สะสม 44 ราย ดังนี้ คดีขับรถขณะเมาสุรา 7,306 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.45 ติดอุปกรณ์ EM 41 ราย คดีขับเสพ 342 คดี คิดเป็นร้อยละ 4.47 ติด EM 3 ราย คดีขับรถประมาท 4 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.05 คดีขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด 2 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.03 จังหวัดที่มียอดสะสมคดีขับรถขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 605 คดี เชียงใหม่ 441 คดี และนนทบุรี 395 คดี
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่