ปกหนังสือ “วิสุทธ์นิพนธ์” (โอเดียนสโตร์ พิมพ์ พ.ศ.2520) ขาด กระดาษเก่ากรอบรุ่ยส่งกลิ่น
แต่เรื่องที่อาจารย์วิสุทธ์ บุษยกุล เขียนปี 2505 เก่ากว่า ยังไม่เท่ากับเรื่อง ของ อีสป นักเล่านิทาน ที่โสคราตีส เล่า เพลโต เขียน และอริสโตเติล อาจารย์พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เอาไปขยายต่อ เมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว
ในเนื้อหาทั้งหมด 13 หน้า ผมเลือกรวบรัดมาเล่าต่อสักหนึ่งหน้า
อีสปเป็นทาสชาวกรีก ซึ่งนายคงไม่รักนัก เห็นได้จากถูกขายเปลี่ยนมือหลายครั้ง นายคนสุดท้ายเป็นชาวเกาะซาโมส ชื่อ ยัด โมน รักอีสปมาก ปล่อยเขาเป็นไทแก่ตัว
นิทานที่อีสปเล่ามีคติธรรมสำคัญแทรก เขาใช้นิทาน ช่วยผู้ครองนครกรีกอย่างน้อยสองครั้ง
ครั้งแรกนิทานเรื่อง กบเลือกนาย อีสป เล่าขณะเปซิตราตุส ผู้ครองนครเอเธนส์ เจอการต่อต้านจากชาวเมือง
เนื้อหาเรื่อง กบเลือกนาย ยับยั้งม็อบมวลมหาประชาชนให้คลี่คลาย เปซิตราตุส รักษาเก้าอี้ผู้ครองนครเอเธนส์ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง
เด็กรุ่นผมครูสอนให้หัดอ่าน นิทานเรื่องกบเลือกนาย ตอนยังเรียนอยู่ชั้น ป.เตรียม (รุ่นผม พ.ศ.2496 เรียน ป.เตรียม 1 ปี จึงได้เรียน ป.1) อ่านแล้วก็สนุกประสาเด็ก
โตเป็นนักข่าว เคยฟังรัฐมนตรีบ่น เด็กสมัยนี้ล้าสมัย ยังอ่านนิทานอีสปกันอยู่ ก็ยังงงๆ จนแก่วิชาจึงพอรู้ว่า อีสป เป็นนิทานการเมืองระดับอมตะมหาอมตะนิรันดร์กาล
นิทานเรื่องที่สอง “เหลือบฝูงใหม่” อ่านกันแล้วหลายสำนวน แต่ไม่กระจ่างเท่ากับ สำนวน “วิสุทธ์นิพนธ์”
ครั้งหนึ่ง หมาป่าที่ตกน้ำ โดนน้ำซัดไปติดซอกหิน เหลือบฝูงหนึ่งบินหึ่งมารุมตอมกัดหมาป่าตัวนี้เต็มตัว
เม่นตัวหนึ่งผ่านมา หลุดปากอาสาช่วยปัดเหลือบฝูงนี้ให้ “อย่าเลย” หมาป่าปฏิเสธ
...
มันมีเหตุผล ถ้าเหลือบฝูงเก่ากินเลือดอิ่มแล้วเกาะอยู่เฉยๆนั้น โดนไล่ไปเสีย เหลือบฝูงใหม่ซึ่งยังหิวอยู่ก็จะมาสูบเลือดซ้ำ อาการของหมาป่าจะยิ่งร้ายกว่าเก่า
อีสปเล่านิทานเรื่องนี้ ตอนเป็นทนายแก้ต่าง ให้ผู้ครองนครซาโมส เจ้านายซึ่งเป็นจำเลย ข้อหาใช้ตำแหน่งหน้าที่กอบโกยผลประโยชน์ให้ตนเองในศาล
“ประชากรชาวซาโมสทั้งหลาย เหลือบฝูงเก่าก็เหมือนเจ้านายข้าพเจ้า ตอนนี้ฐานะเขาดีแล้ว เงินทองของเขาก็มีมากพอแล้ว ไม่เป็นอันตรายต่อพวกท่านต่อไป
หากตัดสินให้ประหารชีวิตเขาไป คนอื่นที่เข้ามารับหน้าที่ต่อ เหมือนเหลือบฝูงใหม่ ในไม่ช้าท้องพระคลังของซาโมส ก็จะถูกกวาดเกลี้ยง” อีสปสรุป
อิทธิพลของนิทานเรื่องนี้ มีผลให้คำตัดสินของศาลซาโมสเปลี่ยน อีสปช่วยเจ้านายของเขาได้
เชื่อกันว่า อีสปเล่านิทานไว้ 240 เรื่อง (80 เรื่องมีคนจำได้ว่ามาจากอินเดีย) ชื่อเสียงของอีสปก็ยิ่งเลื่องลือระบือไกล ชีวิตปั้นปลาย เป็นคนสนิทของ ครีซุส กษัตริย์นครซาเดีย
เรื่องของอีสปยังมีให้เถียงกัน อีสปเป็นทาสอัปลักษณ์ เตี้ยค่อม จริงหรือไม่ หรือแท้จริง เป็นชายหนุ่มหล่อ เป็นหนึ่งในอนุสาวรีย์เจ็ดปราชญ์เอเธนส์ ที่ถูกเลือกว่าสง่างามที่สุดของยุคนั้น
จากชีวิตทาส รุ่งเรืองเฟื่องฟู จนขึ้นระดับนักการเมืองดัง ฉากจบชีวิตอีสปเหมือนนักการเมืองทั่วไป เล่ากันว่าอีสปเผลอใช้ปากแขวะนักบวช จึงถูกวางแผนยัดข้อหาขโมย ถูกจับโยนลงจากหน้าผาตายที่เมืองเดลเฟีย
แต่จนบัดนี้อีสปตายไปกว่า สองพันห้าร้อยปี นิทานเรื่อง เหลือบฝูงใหม่ ผู้คนทั้งโลกก็ยังเล่ากันอยู่
บางบ้านเมืองใกล้ๆ ผมได้ข่าวมีคนพยายามปลุกกระแสไล่เหลือบฝูงเก่า ผมไม่กล้าทักว่าเหลือบฝูงใหม่น่ากลัวกว่า ใครๆก็รู้ว่า เหลือบกี่ฝูงๆที่ชอบบินมา นับวันก็ดูจะยิ่งดูดเลือดเก่งกว่าเดิม.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม