10 วันอันตรายช่วงปีใหม่ เข้าสู่วันที่ 9 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 393 ศพ โดยจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ขณะที่กรุงเทพมหานคร

วันที่ 5 ม.ค. 68 เวลา 10.30 น. ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ย้ำจังหวัดจัดจุดพักรถและจุดบริการประชาชน รองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชนให้สามารถเดินทางถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย พร้อมจัดรถโดยสารสาธารณะบริการรับ-ส่งประชาชน โดยยังคงกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 4 มกราคม 2568 เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันหยุดวันสุดท้ายก่อนเปิดทำงานในวันจันทร์ ประชาชนที่หยุดยาวต่อเนื่องและนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ต่าง ๆ จึงเดินทางกลับในวันนี้ ทำให้จำนวนรถบนท้องถนนกลับมามีปริมาณหนาแน่นอีกครั้ง ศปถ. จึงประสานให้จังหวัดเพิ่มการจัดจุดพักรถและจุดบริการประชาชน เพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อลดความเสี่ยงจากความเหนื่อยล้าของร่างกายและการหลับในของผู้ขับขี่ ตรวจสอบประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ยังคงติดค้างในสถานีขนส่งและจัดเตรียมรถโดยสารสาธารณะให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ให้ทุกคนสามารถเดินทางถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยและทันเวลา โดยไม่ทิ้งการกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนนและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยหากพบผู้ขับขี่มีพฤติกรรมเสี่ยงให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที นอกจากนี้ ยังขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในประเด็นเกี่ยวกับมาตรการหรือข้อควรปฏิบัติในการขับขี่ยานพาหนะ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการขับขี่อย่างปลอดภัยและมีวินัยในการเดินทาง

...

“ศปถ. ขอให้จังหวัดดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในการเดินทางอย่างต่อเนื่องและเต็มความสามารถตามมาตรการเน้นย้ำในวันนี้ โดยขอให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบถึงแนวทางการขับขี่อย่างปลอดภัยในพื้นที่ที่มีทัศนวิสัยต่ำจากหมอกลงจัด สภาพอากาศที่มีความชื้นสูง และควันไฟ เนื่องจากช่วงนี้หลายพื้นที่มีอุณหภูมิลดลงและมีหมอกปกคลุมในช่วงเช้า และมีการเผาไร่ข้างทาง ซึ่งอาจส่งผลต่อทัศนวิสัยในการขับขี่ได้ และขอให้เน้นการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตในกลุ่มเด็กและเยาวชน เช่น การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับ การตัดหน้ากระชั้นชิด การไม่สวมหมวกนิรภัย และจะต้องมีใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว” นายดนุชา กล่าว

ด้านนายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 กล่าวว่า “ในปีนี้ ศปถ. กำหนดช่วงควบคุมเข้มข้นการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 67 - วันที่ 5 ม.ค. 68 โดยถึงแม้จะพ้นช่วงการเฉลิมฉลองปีใหม่ที่ทำให้ปัจจัยเสี่ยงเรื่องการดื่มแล้วขับลดลง แต่สิ่งที่ยังคงต้องระมัดระวังคือการใช้ความเร็วในการขับรถและระยะทางยาวในการขับขี่อาจทำให้ผู้ขับขี่อ่อนเพลียและเกิดการหลับในได้

ศปถ. มีความห่วงใยในทุกระยะของช่วงควบคุมเข้มข้น จึงขอกำชับให้จังหวัดปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 และมาตรการเน้นย้ำเพิ่มเติมอย่างเคร่งครัด เนื่องจากในวันนี้ (5 ม.ค. 68) เป็นวันสุดท้ายของการควบคุมเข้มข้น ศปถ. ขอให้จังหวัดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ติดตามและตรวจสอบข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและเสียชีวิตให้มีความถูกต้อง เพื่อเตรียมสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 และถอดบทเรียนจากการทำงานเพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาวอื่น ๆ ในปี พ.ศ. 2568 ต่อไป สำหรับประชาชนที่อยู่ในระหว่างการเดินทางกลับมายังกรุงเทพมหานครและพื้นที่เศรษฐกิจอื่น ๆ

ศปถ. ขอให้ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะการขับรถเร็ว การตัดหน้ากระชั้นชิด การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และการไม่สวมหมวกกันน็อค หากมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลียจากการขับขี่ยานพาหนะเป็นเวลานาน ขอให้แวะพักยังจุดพักรถหรือจุดบริการประชาชนที่ทางราชการจัดเตรียมไว้ ไม่จอดบริเวณไหล่ทาง เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ สำหรับประชาชนที่พบเห็นหรือประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทาง สามารถแจ้งเหตุได้ที่สายด่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สายด่วนนิรภัย 1784 หรือแจ้งผ่านทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อนผ่าน Line@1784DDPM เพื่อประสานการให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป”

สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 4 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันที่เก้าของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 มกราคม 2568 เกิดอุบัติเหตุ 169 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 164 คน ผู้เสียชีวิต 23 ราย

...

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 37.28 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 23.67 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 17.75 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.3 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 84.43 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 45.56 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.18 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01-17.00 น. ร้อยละ 9.47 เวลา 15.01-16.00 น. ร้อยละ 7.69 เวลา 08.01-09.00 น. เวลา 14.01-15.00 น. เวลา 17.01-18.00 น. และเวลา 18.01-19.00 น. ร้อยละ 7.10 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 17.65 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,768 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,114 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ตรัง (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ตรัง (11 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ตรัง นครปฐม นราธิวาส และอุตรดิตถ์ (จังหวัดละ 2 ราย)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 9 วันของการรณรงค์ (27 ธันวาคม 2567 – 4 มกราคม 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,251 คน ผู้เสียชีวิตรวม 393 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (86 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (95 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (24 ราย).