ในปี 2568 สภาพภูมิอากาศของโลกยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย ภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง พายุรุนแรง กลายเป็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมในทุกมิติ
ภาพรวมสภาพภูมิอากาศสุดขั้วในประเทศไทย...แนวโน้ม “อุทกภัยรุนแรง” ด้วยว่าฤดูฝนของปี 2568 ถูกขับเคลื่อนโดยปรากฏการณ์ลานีญาที่ส่งผลให้ฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เกิดน้ำท่วมฉับพลันในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ หลายจังหวัดต้องเผชิญกับการอพยพประชาชน ความเสียหายในมิติต่างๆ
ถัดมา...“ภัยแล้งในฤดูร้อน” ฤดูร้อนกลับทวีความรุนแรงขึ้น อุณหภูมิพุ่งสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสในหลายพื้นที่ ส่งผลให้แหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอด ชาวนา...เกษตรกรประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการเพาะปลูก ต่อเนื่องไปถึง...“พายุรุนแรง”
ในช่วงปลายปีพายุโซนร้อนและไต้ฝุ่นจากทะเลจีนใต้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยถี่ขึ้นพายุที่มาพร้อมลมแรงและฝนตกหนัก ก่อให้เกิดดินถล่ม...น้ำท่วมหนักในพื้นที่ภูเขา
อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมบอกว่า ปี 2568 ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในประเทศไทยจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว...และมาตรการของ EU
...
ประเด็นแรก...สภาพภูมิอากาศสุดขั้วจะเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยปี 2568 ประเทศไทยอาจได้รับภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นโดยในปี 2567 อุณหภูมิสูงสุดของประเทศไทยได้ทะลุสูงสุดไปแล้วอยู่ที่ 44.5 องศาเซลเซียส เมื่อช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่จังหวัดลำปาง แม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก
“เนื่องจากมีป่าไม้ปกคลุมน้อยและเป็นพื้นที่แอ่งกระทะและแดดจัดมากจึงประสบภาวะแห้งแล้งแต่ในปี 2568 หลังจากเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป จากการคาดการณ์พบว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะเอลนีโญซึ่งคาดการณ์ว่าประมาณปลายเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมจะมีอุณหภูมิสูงสุดทะลุถึง 45 องศาเซลเซียส”
...ถือว่าร้อนที่สุดตั้งแต่เคยมีมาจะเกิดความแห้งแล้ง จะขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรกรรม ฤดูฝนจะมาช้าซึ่งในช่วงฤดูฝนอาจจะมีพายุฤดูร้อนเข้ามาในประเทศไทยหลายลูกตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2568 ฝนจะตกหนักลักษณะเป็นแห่งๆ อาจเกิดภาวะน้ำท่วมได้
ขณะที่น้ำทะเลในอ่าวไทยและมหาสมุทรอันดามันมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 3.0 องศาเซลเซียส จากก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยมีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยเกิน 30 องศาเซลเซียสไปแล้ว
“น้ำทะเลจะมีภาวะเป็นกรดมากขึ้นเนื่องจากก๊าซ C02 ถูกดูดซับลงไปและหินปูนในทะเลคายก๊าซ C02 ออกมา ความเป็นกรดจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว หญ้าทะเลจะตายเป็นวงกว้าง ทำให้ปลาพะยูนซึ่งเป็นสัตว์สงวนหายากตายลงมากขึ้นด้วย”
ประเด็นที่สอง...กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในหกของเมืองของโลกที่อยู่ในภาวะเสี่ยง คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) พื้นที่ 40% ของ กทม.จะถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งจากฝนตกหนัก น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นรวมทั้งน้ำหนักจากตึกระฟ้า ส่งผลให้ กทม.จะต้องจมน้ำในอัตรา 0.8 นิ้วต่อปีด้วย
ในปี พ.ศ.2568 (ค.ศ.2025) นโยบายของประเทศสหรัฐอเมริกาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจจะมีความไม่แน่นอน เพราะประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาใหม่คือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศว่า...
ปัญหาโลกร้อนไม่มีอยู่จริงและจะยังสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลแถมยังขู่จะถอนตัวออกจาก COP หรือข้อตกลงปารีส หมายถึงจะไม่ให้ความร่วมมือกับนานาชาติในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจะไม่สนับสนุนเงินทุนในการป้องกันภัยพิบัติให้กับประเทศกำลังพัฒนาด้วย...โลกถึงการสะเทือนอีกครั้งหนึ่ง
ประเด็นสำคัญมีอีกว่า...“ประเทศไทย” เป็นอันดับที่ 13 ใน 180 ประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติมากที่สุดทั้งๆที่ปล่อยก๊าซ เรือนกระจกน้อยกว่า 1% ของโลก...ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดมากกว่า 35 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูร้อนวันที่อากาศร้อนจัดจะเกิดบ่อยครั้ง
“ฤดูร้อนยาวนานขึ้นส่วนฤดูหนาวจะสั้นลง...หนาวน้อยลง และเมื่อเกิดพายุหรือฝนตกจะตกหนักมาก ลมพัดรุนแรงขึ้นในแต่ละครั้ง แต่จำนวนวันที่ฝนตกหนักจะเกิดลดลงและจะเกิดภัยแล้งเพิ่มมากขึ้น”
อาจารย์สนธิ บอกอีกว่า นโยบาย CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เป็นมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนกำหนดโดยสหภาพยุโรป (EU) โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง (carbon intensive products) มีผลบังคับใช้แล้ว
ขณะนี้อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน เริ่มเก็บค่า CBAM certification หรือเอกสารรับรองการจ่ายค่าธรรมเนียมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตจากผู้นำเข้าสินค้าตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป
...
ดังนั้น “ผู้ผลิต” จึงต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิต เพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน EU เพื่อให้สินค้ามีราคาที่แข่งขันในตลาด EU ได้ โดยสินค้า 6 ประเภทแรกที่มีผลบังคับใช้คือ 1)ซีเมนต์ 2)พลังงานไฟฟ้า 3)ปุ๋ย 4)ไฮโดรเจน 5) เหล็กและเหล็กกล้า 6)อะลูมิเนียม
...ในปี พ.ศ.2578 (ค.ศ. 2035) เป็นต้นไป EU จะบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบ (full implementation) โดยจะยกเลิกสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนแบบให้เปล่า (free allowances) ของทุกภาคอุตสาหกรรม...
“ทุกประเทศที่จะส่งสินค้าทุกประเภทเข้า EU จะต้องปล่อยคาร์บอนให้ได้ตามมาตรฐาน EU เท่านั้น...ไม่อย่างนั้นขายเข้า EU ไม่ได้...ทำบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศไทยเริ่มต้นไปปลูกป่าเพื่อให้ดูดซับคาร์บอนทดแทนการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิด เพื่อให้ได้มาตรฐานของ EU...มิเช่นนั้นค้าขายไม่ได้”
สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว “ภัยพิบัติ” จากสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นไม่มีใครห้ามได้...หากไม่เร่งแก้ไขและปรับตัว สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงในปีต่อๆไป...เป็นภาระที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม