โครงการจราจรขนส่งที่จะเปิดใช้ในปี 2568 นี้ ที่น่าสนใจที่สุด ไม่ใช่โครงการในเมืองหลวง ไม่ใช่โครงการการเชื่อมระหว่างเมือง แถมยังไม่ใช่โครงการบนพื้นที่ดิน แต่ก่อสร้างเป็นสะพานยกระดับ

ที่เชื่อมระหว่างป่าในจังหวัดระยองกับจังหวัดจันทบุรี....

โครงการสะพานเชื่อมระบบนิเวศบนถนนสาย รย.4060 จ.ระยอง-จ.จันทบุรี

ย้อนตำนานอุโมงค์เชื่อมทับลาน

สะพานเชื่อมระบบนิเวศบนถนนสาย รย.4060 จ.ระยอง และ จ.จันทบุรีนี้ ไม่ใช่งานก่อสร้างด้านจราจรขนส่งเพื่อการเดินทางในป่าแห่งแรกในประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้ 1 กรมทางหลวง ได้ก่อสร้างอุโมงค์–ทางยกระดับเชื่อมป่าทับลาน โดยขยายทางหลวงหมายเลย 304 สาย อ.กบินทร์บุรี-อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา จาก 2 เลนเป็น 4 เลน ด้วยการระเบิดภูเขาบางส่วน ปรับเป็นถนนพื้นราบแล้วก่อสร้างสะพานยกระดับสำหรับรถยนต์ไปกลับ แล้วปรับพื้นที่ด้านล่างให้สัตว์เดินไปมาระหว่างอุทยานทับลาน กับอุทยานเขาใหญ่ พร้อมกับใช้คอนกรีตครึ่งวงกลมติดตั้งบนพื้น เป็นช่องทางรถยนต์แล้วใช้ดินกลบหลังคาอุโมงค์ด้านบน ยกเว้นจุดเข้าออก และปรับสภาพเป็นพื้นป่าให้สัตว์ป่าสัญจรเช่นกัน โดยโครงการเปิดใช้ไปเมื่อปี 61–62

...

สะพานเชื่อมป่า 2 อุทยาน

ขณะที่สะพานเชื่อมระบบนิเวศบนถนนสาย รย.4060 จ.ระยอง และ จ.จันทบุรี ดำเนินการโดยกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม วัตถุประสงค์เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างยั่งยืน เพิ่มความปลอดภัยในการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า เพิ่มศักยภาพสำหรับการเดินทางให้แก่ประชาชน โดยได้ก่อสร้างสะพาน จำนวน 2 แห่ง บริเวณ กม.ที่ 4+525 ถึง กม.ที่ 5+155 และบริเวณ กม.ที่ 9+517.25 ถึง กม.ที่ 9+937.25 บนถนนทางหลวงชนบทสาย รย.4060 อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง, แก่งหางแมว จันทบุรี

เพื่อเชื่อมต่อระบบนิเวศระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง จากเดิมที่เป็นถนนคั่นกลางมาเป็นสะพานยกระดับ เพื่อให้รถยนต์สามารถสัญจรผ่านได้ รวมทั้งได้มีการรื้อถนนเดิมบางส่วน เพื่อให้สัตว์ป่าสามารถ เดินลอดใต้สะพานได้อย่างสะดวกปลอดภัย

มีจุดส่องสัตว์–รับนักท่องเที่ยว

ในส่วนของลักษณะการก่อสร้างสะพานทั้งสองแห่งนี้มีความกว้างเท่ากัน คือ 11 เมตร รองรับการจราจร 2 ช่องทาง (ไป-กลับ) โดยสะพานแห่งที่ 1 มีความยาวรวม 630 เมตร และสะพานแห่งที่ 2 มีความยาวรวม 420 เมตรนอกจากนี้ทั้งสองสะพานยังมีที่จอดรถบนสะพาน มีความยาวด้านละ 30 เมตร ทั้งสองด้านของสะพาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ประชาชนผู้ที่สนใจสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ป่าที่เดินผ่านหรืออาศัยอยู่ในบริเวณสะพาน ซึ่งเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในประเทศได้อีกทางหนึ่ง โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 587.516 ล้านบาท

โครงการนี้นับเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพรรณพืช ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน โดย ทช.ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการเข้าใช้ประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว

รถวิ่งด้านบน–ช้างเดินด้านล่าง

มนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า การก่อสร้างสะพานเพื่อเชื่อมต่อระบบนิเวศระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา–เขาวง จากเดิมที่มีถนนคั่นกลางมาเป็นสะพาน เพื่อให้รถยนต์สามารถสัญจรผ่านได้ และให้ ช้างป่าสามารถเดินลอดใต้สะพานได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 79 (รายงานเมื่อวันที่ 16 พ.ย.67) คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2568

...

วัสดุเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

โครงการนี้ก่อสร้างในรูปแบบผสมผสาน ระหว่างโครงสร้างเหล็กและคอนกรีต โดยได้นำนวัตกรรมที่สำคัญมาใช้ในการก่อสร้าง ได้แก่ 1.เหล็กต้านทานการกัดกร่อน (Weathering Streel) เป็นเหล็กกล้าคาร์บอนที่ถูกปรับปรุงส่วนผสมทางเคมี เพื่อเพิ่มความต้านทานต่อการถูกกัดกร่อนจากสภาวะในบรรยากาศ ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น พร้อมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

2. คอนกรีตสมรรถนะสูงพิเศษ (Ultra-High Performance Concrete ; UHPC) ซึ่งเป็นคอนกรีตที่ได้รับการพัฒนาส่วนผสมจนทำให้มีคุณลักษณะและความสามารถทำงานที่ดีเยี่ยม สามารถนำมาใช้กับโครงสร้างที่มีลักษณะ พิเศษในการรับน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.แผ่นพื้นสำเร็จรูปชนิดเต็มความลึก (Full-Depth Precast Deck Panel) เป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดขั้นตอนในการทำงาน ทำให้การดำเนินการก่อสร้างเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถควบคุมคุณภาพได้เป็นอย่างดี รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงจากการร่วงหล่นของเศษวัสดุ ซึ่งจะช่วยอำนวยความปลอดภัยในการทำงานอีกด้วย

แก้จราจรชานกรุง 2 โครงการ

...

นอกจากเมกะโปรเจกต์ในป่าแล้ว ปี 2568 กรมทางหลวงชนบท ยังมีโครงแก้ปัญหา จราจรในเขตปริมณฑล เปิดใช้ 2 โครงการด้วย โครงการแรก คือ สะพาน ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ถนนราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี ล่าสุดงานเดินหน้าไปแล้วร้อยละ70 คงเหลืองานพื้นสะพาน งานติดตั้งโครงสร้างสะพานเหล็ก คาดแล้วเสร็จ เดือนพฤษภาคม 68ทั้งนี้ ถนนราช พฤกษ์ช่วงเชื่อมต่อถนนเพชรเกษม-ถนนรัตนาธิเบศร์ มีปริมาณการจราจรต่อวันมากถึง 120,000 คัน แต่รองรับการจราจรได้เพียง 60,000 คันต่อวัน จึงทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวมีข้อจำกัดในด้านเขตทาง ไม่สามารถก่อสร้างทางขนานเพิ่มเติมได้

ทช.จึงก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ถนนราชพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี คร่อมสะพานเดิมขนาด 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,181.515 ล้านบาท

ขยายถนนชัยพฤกษ์ 6 กม.

โครงการที่สอง กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ขยายถนนชัยพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี ระยะทาง 6.892 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 86 คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2568 โดยใช้งบประมาณรวม 902,000,000 บาท

...

ถนนชัยพฤกษ์เป็นถนนสายหลักในแนวตะวันออก-ตะวันตก พื้นที่ฝั่งเหนือของกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมโยงกับพื้นที่ย่านธุรกิจ และศูนย์ราชการตามแนวถนนแจ้งวัฒนะ มีปริมาณจราจรกว่า 40,000 คันต่อวัน เนื่องจากการเจริญเติบโตของการใช้ที่ดินในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ ถนนชัยพฤกษ์มีสภาพการจราจรที่ไม่คล่องตัว และมีแนวโน้มที่จะติดขัดมากขึ้นเรื่อยๆ

ทช.จึงก่อสร้างถนนคู่ขนานระดับดิน ขนาด 2 ช่องจราจร กว้างช่องจราจรละ 3.25- 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2 เมตรต่อทิศทางจากเชิงลาดสะพานพระราม 4 ถึงทางแยกต่างระดับถนนราชพฤกษ์ และงานปรับปรุงขยายผิวจราจรช่วงจากทางแยกต่างระดับถนนราชพฤกษ์ถึงถนนบางกรวย- ไทรน้อย ทั้งนี้ เมื่อแล้วเสร็จ จะทำให้ประชาชนเดินทางสัญจรไป-มาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ปัญหาจราจรได้รับการแก้ไข ทั้งปัญหาที่เกิดในเมือง และในป่า.

ฝ่ายข่าว กทม.-จราจร