“ช่วงที่ผมรักษาการ ผบ.ตร. ผมรับไม่ได้ที่คนทั่วไปเปรียบเทียบเราว่า “ตำรวจคือโจร” ผมรับไม่ได้ น้ำตาตกใน ชีวิตรับราชการตำรวจมาถึงบัดนี้ แต่ถูกเปรียบเทียบเช่นนั้น มันรู้สึกสะเทือนเข้าไปข้างในแล้วมันรับไม่ได้ สิ่งอะไรที่มันเกิดขึ้นแล้วทำให้เราเสื่อมเสียจะต้องเปลี่ยนแปลงนับจากนี้เป็นต้นไป”

“จะทำให้ดูว่า ตำรวจทำดีมีรางวัล คําว่ารางวัลนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเป็นทอง แต่มันจะต้องมีนัยความหมายมากมายที่ท่านอาจจะต้องคิดไปเหมือนผมแล้วทำไม่ดีมีโทษคืออะไรจะทำให้ท่านดู แต่ไม่มีแกล้งใคร ไม่มีอคติ ร่วมกันทำเพื่อองค์กร” สะท้อนให้เห็นความรู้สึกอึดอัดในใจของ “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. สมัยที่เข้ามา “สวมบท” รรท.ผบ.ตร.ประคับประคองสถานการณ์แตกหักภายในองค์กรตำรวจ

ความขัดแย้งรุนแรงภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นปี 2567 กับศึก “บิ๊กตำรวจชนตำรวจ” ส่อเค้าบานปลาย นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่มีทางเลือกมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เข้ามาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

คาดหวังลดอุณหภูมิร้อนแรงลงมา แต่กลับยิ่งกลายเป็นยิ่งโหมแรงไฟลุกโชนหนักขึ้น

ตามมาด้วยการเปิดโปง “ธุรกิจสีเทา” คดีความที่มีนายตำรวจทั้งสองฝ่ายพัวพันเกี่ยวข้อง ต่างฝ่ายต่างฟ้องร้องกันไปมา พูดจาป้ายสี เปิดประเด็นทำลายฝ่ายตรงข้าม โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบหน่วยงานตำรวจ

ภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในสภาพเสียหายยับเยินหนัก

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.อาวุโส ลำดับ 1 ถูกวางตัวเป็น รรท.ผบ.ตร. กับภาระหนักอึ้ง เป็นตัวเลือกที่รัฐบาลมาประสานร้อยร้าวลึกในวงการสีกากี ด้วยบุคลิก “อ่อนนอก–แข็งใน” เข้าอกเข้าใจตำรวจ

...

ใช้ความความเด็ดขาดประคองสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานวงการสีกากีไม่ให้บานปลาย

ก่อนได้รับการสนับสนุน ก.ตร.เป็นเอกฉันท์ลงคะแนนเสนอชื่อเป็น ผบ.ตร.

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ คือ ความคาดหวังเหล่าตำรวจเข้ามาสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาคืนมา

“บิ๊กต่าย” นำหลักคิดของผู้นำมาใช้กับตำรวจ ใช้ความเป็นพี่เป็นน้องตำรวจ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” การให้เกียรติความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน และ “สร้างและมอบโอกาส” เปิดให้ตำรวจแสดงความสามารถ

นำตำรวจทุกหน่วยทำงานด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ตอบข้อสงสัยสังคมให้ได้ทุกเรื่อง

 ดูแล ช่วยเหลือ สนับสนุน ให้กำลังใจ ยกย่อง เชิดชู “ตำรวจน้ำดี” พยายามทำในทุกวิถีทางที่ทำได้ และลงโทษหนักเด็ด ขาด “ตำรวจนอกแถว” ทำความเสื่อมเสียขององค์กร ทำความเดือดร้อนประชาชน

ผลักดันทุกหน่วยเร่งรัดคดีสำคัญ ช่วยเหลือเหยื่อถูกหลอก ผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อน แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ ผบ.ตร.ทุ่มเทลงพื้นที่ร่วมรับฟังปัญหา ข้อจำกัด สนับสนุนช่วยเหลือสิ่งที่ขาดแคลน ร่วมคลี่คลายทุกสถานการณ์ ทำให้ตำรวจได้เห็นเป็น “แบบอย่าง” เป็นบทบาทหนักของผู้นำสูงสุดสมควรยกย่องเป็น “สีกากีแห่งปี”

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร.ย้ำทิศทางตำรวจว่า “หลักการทำงานของผมใช้การปรับ mindset ตำรวจ ทำงานเป็นพี่เป็นน้องแต่อยู่ในกรอบของกฎหมาย ระเบียบ วินัย ตำรวจทำดีมีรางวัล แต่ถ้าทำไม่ดีมีโทษ ใช้การบริหารงานพื้นฐานแบบ 4 M และหลักธรรมาภิบาล ยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ตำรวจจะต้องไม่รีรอให้ประชาชนเข้ามาหา มาเรียกร้อง ในทางกลับกันจะต้องเดินเข้าหาประชาชน ไปพูดคุย ไปสอบถาม และทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ทำให้สุดทางทุกๆด้าน ทำงานแบบตรงไปตรงมา ไม่ได้ทำตามกระแสสังคม จะต้องใช้หลักกฎหมายนำ แล้วใช้การบริหารจัดการเข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

“อยากบอกถึงตำรวจทุกนายตั้งแต่ผู้ปฏิบัติงานจนถึงระดับบริหารให้เราหันกลับมามองตัวเองว่าเราเป็นข้าราชการของแผ่นดิน เรามีหน้าที่การงานอะไร เราเป็นข้าราชการตำรวจที่ได้รับพระราชทานยศและตำแหน่ง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ อยากให้พึงระลึก เราต้องยืนอยู่บนสายกลางและน้อมนําพระบรมราโชวาท (ธรรมนาวา วัง) เป็นหลักปฏิบัติในการดำรงชีวิตและหน้าที่ราชการอย่างจริงจัง ขอให้ตำรวจทุกนายร่วมมือกันนำความเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังคำว่าสิ้นหวังประชาชนให้ละลายหายไป แล้วทำให้ประชาชนอ้าแขนและโอบกอดเราด้วยความรัก ความเชื่อใจ ความมั่นใจ ในการที่ “บำบัดทุกข์-บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย” แนวคิดของ ผบ.ตร. ให้ตำรวจยึดไว้ใช้ในการทำงาน

...

 “ถ้าทุกคนร่วมมือกัน ช่วยกันเหมือนไม้เส้นเล็กๆที่เรามารวมกัน แล้วมันจะเกิดความแข็งแกร่ง อยากให้เป็นแบบนั้น ขอให้ทุกคนหันมาช่วยกันทำงาน ช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อยากให้ทุกคนเชื่อในตัว ผบ.ตร.คนนี้ว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”

ความคาดหวังของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ บทบาท “ผู้นำตำรวจ” ที่กำลังจมดิ่งให้กลับขึ้นมายืนอยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนคนไทย ด้วยเกียรติยศและศักดิ์ศรี ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงตำรวจทั้งประเทศ

กลับมายืนหยัดทำหน้าที่ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” และ “ตำรวจอาชีพ”.

ทีมข่าวอาชญากรรม

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่