75 ปี ไทยรัฐ จากสื่อสิ่งพิมพ์ที่ถือกำเนิดภายใต้การนำของ “กำพล วัชรพล” ผู้ซึ่งหนังสือ “paper tiger” ของอังกฤษได้ยกย่องเมื่อ พ.ศ.2536 ว่าเป็น 1 ใน 25 คนของนักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลก

โดยเริ่มต้นเส้นทางการทำหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่ พ.ศ.2493 ผ่านอุปสรรค ปัญหา และอำนาจรัฐจนถูกสั่งปิดไปเมื่อ พ.ศ.2501 และกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งในชื่อ หนังสือพิมพ์ “เสียงอ่างทอง” และกลายเป็น หนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” ที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดในประเทศ มาจนถึงทุกวันนี้ ด้วย ปณิธานที่มั่นคงและแน่วแน่ในการยืนหยัดฟันฝ่าอุปสรรค ปัญหา ต่อสู้กับอิทธิพลมืด และอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบ เพื่อเคียงข้างประชาชน แสวงหาความยุติธรรม และความเป็นธรรมสู่สังคมไทย

ขณะที่อีกสิ่งหนึ่งที่ติดอยู่ในใจของ นายกำพล วัชรพล ตลอดมา พร้อมกับคำพูด 2 ประโยคที่ลูกหลาน คนใกล้ชิด ตลอดจนคนไทยรัฐ มักจะได้ยินจากปากของ ผอ.กำพล เสมอ

“หนังสือพิมพ์นั้นอยู่ได้ด้วยศรัทธาของประชาชน ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสก็ควรตอบแทนประชาชน” และ “ผมเรียนมาน้อย ต้องทำมาหากินตั้งแต่เด็ก พอมีฐานะขึ้นมาอย่างนี้ จึงอยากสนับสนุนการศึกษา ช่วยเด็กยากจนได้มีโอกาส”

จึงนำมาซึ่ง โครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพื่อชุมชนในชนบท โดยการสร้าง ร.ร.ไทยรัฐวิทยาแห่งแรก ที่ จ.ลพบุรี เมื่อ พ.ศ.2513 ด้วยเงินรายได้จากการขายหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีจำนวนถึง 111 โรงทั่วประเทศ และในวันที่ 27 ธันวาคม 2522 เมื่อ นายกำพล อายุครบ 60 ปี ได้ใช้เงินส่วนตัว 1 ล้านบาท เป็นทุนประเดิมก่อตั้งมูลนิธิไทยรัฐขึ้น เพื่อให้ทำหน้าที่ช่วยดูแลและสนับสนุนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ซึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้สร้างเพื่อมอบให้กับกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยการสร้างอาคารเรียนหลัก กับอาคารเรียนประกอบ ทั้งให้เงินเพิ่มค่าอาหารกลางวัน แจกเครื่องแบบนักเรียน ตลอดทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอน การจ้างครูพิเศษเพิ่ม ครูสอนภาษาอังกฤษ สอนนาฏศิลป์ รวมถึงโครงการอุปการะเกื้อหนุนการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพผู้บริหารและครูผู้สอน รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 20 โครงการในแต่ละปี พร้อมมอบเงิน 200,000 บาทให้โรงเรียน จัดตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาประจำแต่ละโรงเรียน โดยนำดอกผลมาใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง

และในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศยกย่อง นายกำพล วัชรพล อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชน ในโอกาสครบ 100 ปีชาตกาล นับเป็นคนไทยลำดับที่ 28 ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก

ถึงวันนี้นับเป็นรุ่นที่ 3 ของไทยรัฐ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการบ่มเพาะและเรียนรู้ประสบการณ์ จาก ผอ.กำพล วัชรพล ส่งต่อมายังรุ่นลูก นำโดยยิ่งลักษณ์ วัชรพล และ สราวุธ วัชรพล และมาถึงการสานต่อของรุ่นหลาน นำโดย วัชร วัชรพล จิตสุภา วัชรพล และธนวลัย วัชรพล ที่เข้ามาร่วมกันบริหาร พร้อมๆกับการขยายองค์กรด้านบทบาทความเป็นสื่อเพื่อขานรับโลกยุคใหม่ ให้มีพร้อมครบวงจรทั้งสื่อออนไลน์และทีวี ภายใต้ชื่อไทยรัฐกรุ๊ป

ที่สำคัญ คือ สานต่อ–เติมเต็มพันธกิจ ตามปณิธานของ “กำพล วัชรพล” ทั้งการยืนหยัดฟันฝ่าอุปสรรค ปัญหา ต่อสู้กับอิทธิพลมืด และอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบ เพื่อเคียงข้างประชาชน แสวงหาความยุติธรรม และความเป็นธรรมสู่สังคมไทย ตลอดจนการลดความเหลื่อมล้ำ–สร้างโอกาสการศึกษาชาติ

จิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ ในฐานะกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ กล่าวว่า ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาก็ยังคงมีอยู่ ถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ความพร้อม และปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ที่ทำให้เขาได้เล่าเรียนในโรงเรียนตามที่ควรจะเป็น ทุกครั้งที่พูดถึงปัญหาสังคม และแนวทางแก้ไข เรามักจะพบว่า หลายๆเรื่องล้วนแก้ได้ด้วยการจัดการระบบการศึกษาที่ดี มีประสิทธิภาพ ซึ่งก็คือคำว่า “ปฏิรูปการศึกษา” ที่ทุกวันนี้เราก็ยังต้องพูดคำนี้กันอยู่เลย มูลนิธิไทยรัฐจึงยังต้องดำเนินต่อไป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มากที่สุด เท่าที่เราจะมีพละกำลัง

“ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของการศึกษา ดังนั้นหากจะปฏิรูปการศึกษาจะต้องปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ นสพ.ไทยรัฐ โดย ผอ.กำพล วัชรพล จึงจัดสร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยาแห่งแรก เมื่อปี พ.ศ.2513 เป็นความตั้งใจที่ ผอ.กำพล วัชรพล ทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร เพราะหน้างานจริงๆ เป็นชีวิตจริงของคนในต่างจังหวัด คือ จนทรัพย์ จนใจ จนปัญญา คนไม่รู้จะไปเรียนหนังสืออย่างไร เพราะเขาไม่มีแม้แต่เงินจะกินข้าวมื้อถัดไป มูลนิธิไทยรัฐจึงจัดทุนการศึกษา งบอาหารกลางวัน บางโรงเรียนมีการสร้างหอให้เด็กพักในละแวกนั้น บางโรงเรียนมีรถรับส่ง และบางโรงเรียนมีครูเดินทางไปรับนักเรียน ด้วยความเชื่อที่ว่า “การศึกษาจะยกระดับ และเปลี่ยนชีวิตคนได้”

ขณะเดียวกันก็มีกัลยาณมิตร ซึ่งมีทั้งองค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลายที่มาร่วมด้วยช่วยกันร่วมบริจาคทุนทรัพย์เพื่อสนับสนุนงานของ ร.ร.ไทยรัฐวิทยา ผ่านทางมูลนิธิไทยรัฐตลอดมา โดยล่าสุดทางไทยรัฐกรุ๊ปได้จัดงาน Thairath Afternoon Gala ในการระดมทุน

โดย จิตสุภา ได้กล่าวตอนหนึ่งของการเสวนา ในงาน Thairath Afternoon Gala ว่า การทำเรื่องของการศึกษาเป็นการลงทุนให้กับอนาคตมากกว่าจะเป็นการทำเพื่อสานต่อสิ่งที่บรรพบุรุษได้เริ่มต้นสร้างขึ้นมาไว้ เพราะฉะนั้นส่วนตัวแล้ว มูลนิธิไทยรัฐยังจะต้องดำเนินต่อไปเพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อม ล้ำทางการศึกษาให้มากที่สุดเท่าที่เราจะมีพละกำลังทำไหวต่อไป วัตถุ ประสงค์ไม่มีเปลี่ยนแปลงแน่นอน แต่รูปแบบ วิธีการอาจจะปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป

“ต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกๆท่าน ที่ร่วมสนับสนุนทั้งมอบของรักของหวงมาร่วมประมูล ทั้งการช่วยร่วมประมูล เพื่อนำรายได้ไปช่วยเหลือเด็กๆ เป็นการเติมเต็มและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของประเทศ” จิตสุภา กล่าวถึงการจัดงาน Thairath Afternoon Gala

สำหรับผู้ที่สนใจร่วมสร้างอนาคตของเยาวชนอย่างยั่งยืนด้วยการสร้างวิทยาทานกับทางไทยรัฐกรุ๊ป สามารถร่วมสมทบทุนได้ที่ เลขที่ 1 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 หรือที่บัญชีเงินฝาก มูลนิธิไทยรัฐ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาวิภาวดีรังสิต กระแสรายวัน เลขที่ 196–3–061591