บทที่ 9 หนังสือพระเจ้าตากสิน มหาราชแห่งชาติไทย (ส.พลายน้อย เขียน พิมพ์คำ พิมพ์ พ.ศ.2553) เรื่อง สถาปนากรุงธนบุรี ยก...พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ตอนโปรดให้ทำกำแพงป้อมค่าย ปี พ.ศ.2314 ดังต่อไปนี้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า กรุงธนบุรียังไม่มีกำแพงเป็นที่มั่นจะป้องกันราชศัตรูหมู่ปัจจามิตร ยังหาเป็นภูมิราชธานีไม่ จึงทรงพระกรุณาให้เกณฑ์ฝ่ายทหารพลเรือนทั้งปวง ตั้งค่ายด้วยไม้ทองหลางทั้งต้น ล้อมพระนครทั้งสองฟากแม่น้ำ
และให้เกณฑ์ไพร่พลในกรุงแลหัวเมืองมาระดมกันทำค่าย ฝ่ายฟากตะวันตกตั้งแต่มุมกำแพงเก่าไปจนจดวัดบางหว้าน้อย วกลงไปริมแม่น้ำใหญ่ (เจ้าพระยา) ตลอดลงมาจนถึงกำแพงเมืองเก่า ที่ตั้งเป็นพระราชวัง
แล้วให้ขุดคลองคูข้างหลังเมือง ตั้งแต่คลองบางกอกน้อยมาออกคลองบางกอกใหญ่ (บางตอน คลองบ้านขมิ้น คลองบ้านช่างหล่อ คลองบ้านหม้อ คลองวัดท้ายตลาด) เอามูลดินที่ขุดขึ้นถมเป็นเชิงเทินข้างในทั้งสามด้าน เว้นแต่ด้านริมแม่น้ำ และฟากตะวันออกก็ให้ตั้งค่ายรอบเหมือนกัน
ให้ขุดคลองเป็นคูข้างหลังเมือง ตั้งแต่กำแพงเก่าท้ายป้อมวิไชยเยนทร์ วนขึ้นไปถึงศาลเทพารักษ์หัวโขด ออกแม่น้ำทั้งสองข้าง (คลองคูเมืองเดิม) เอามูลดินขึ้นถมเป็นเชิงเทินทั้งสามด้าน เว้นแต่ด้านริมแม่น้ำ ดุจกัน...
ให้เกณฑ์คนไปรื้อเอาอิฐกำแพงเก่า ณ เมืองพระประแดง (ฝั่งแม่น้ำข้างตะวันออก) และกำแพงค่ายพม่า ณ โพธิ์สามต้น กับสีกุก บางไทร ทั้งสามค่าย ขนบรรทุกเรือมาก่อกำแพงและป้อมตามที่ถมเชิงเทินสามด้านทั้งสองฟาก
เอาแม่น้ำ (เจ้าพระยา) ไว้หว่างกลางเหมือนอย่างพิษณุโลก
ส.พลายน้อยอธิบาย กำแพงที่ว่าคือกำแพงเก่าท้ายป้อมวิไชยเยนทร์ ป้อมที่นายทหารช่างฝรั่งเศส ชื่อ เดอลามาร์ ควบคุมก่อสร้างแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ ป้อมนี้อยู่ระหว่างปากคลองตลาดกับวัดพระเชตุพนฯ
...
ส่วนฝั่งตะวันตก คือที่ตั้งกรุงธนบุรีมีอีกป้อมหนึ่ง เรียกป้อมวิไชยเยนทร์เหมือนกัน ครั้นถึงแผ่นดินพระเจ้าตากสิน โปรดให้เปลี่ยนชื่อป้อมฝั่งตะวันตกเสียใหม่...เป็น ป้อมวิไชยประสิทธิ์
ความจริงป้อมวิไชยเยนทร์ ถูกทำลายแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่สิ้นซาก ครั้นถึงรัชกาลที่ 1 เมื่อจะสร้างกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2326 โปรดให้รื้อป้อมวิไชยเยนทร์และกำแพงเมืองธนบุรีฟากตะวันออกเสียจนหมด
นักอ่านบางคนอาจเหมา สมัยรัชกาลที่ 1 นี้ล่ะกระมัง รื้ออิฐเก่าจากอยุธยามาสร้างกรุงเทพฯ ส.พลายน้อย บอกว่า แม้สมัยพระเจ้าตากสินสถาปนากรุงธนบุรีฯ ท่านไม่ได้รื้ออิฐจากอยุธยามาใช้เลย
ทั้งสองพระองค์ยังคงปล่อยอิฐกำแพงอยุธยาไว้ ในรัชกาลที่ 1 สุนทรภู่ ผ่านอยุธยาก็ยังเห็นยังดูด้วยความเพลิดเพลิน ดังที่ได้แต่งไว้ในนิราศพระบาทว่า
“แต่ปู่ย่ายายเราท่านเล่ามา เมื่อแรกศรีอยุธยายังเจริญ กษัตริย์สืบสุริยวงศ์ดำรงโลก ระงับโศกสุขสุดจะสรรเสริญ เราเห็นยับยังแต่รอยก็พลอยเพลิน เสียดายเกิดมาเมื่อเกินน่าน้อยใจ กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก ไม่น่าศึกอ้ายพม่าจะมาได้ ยังให้มันข้ามเข้าเอาเวียงชัย โอ้อย่างไรเหมือนบุรีไม่มีชาย
มีคำถาม ทำไมพระเจ้าตากสิน ไม่สร้างกรุงธนบุรีให้โอ่อ่าสง่างามสมเป็นราชธานี ส.พลายน้อย บอกว่า เป็นขณะเพิ่งตั้งตัว ผู้คนยังยากจน ชีวิตคนสำคัญกว่าปราสาทราชวัง
ที่สำคัญไทยต้องสะสมอาวุธไว้รบกับพม่า เวลานั้นไทยขาดทองแดงและเหล็กเอามาหล่อปืนใหญ่
จะซื้อจากจีนจีนก็ไม่ยอมขาย ต้องเลี่ยงไปขอซื้อกระทะเหล็กแทน
วันนี้ 28 ธ.ค. กองทัพเรือ เปิดพระราชวังเดิมให้คนเข้าเยี่ยมชมวันสุดท้าย ใครที่ไปเห็นกรุงธนบุรีกับตา คงรู้ว่ากรุงธนบุรีไม่ได้สร้างเป็นมหานคร แต่สร้างเป็นเมืองพร้อมรบ คนไทยอยู่ยั้งยืนยงมั่นคงถึงวันนี้ ก็เพราะเมืองพร้อมรบเมืองเล็กๆเมืองนี้.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม