ขยายเวลาเป็น 10 วันอันตราย พบ "ซิ่ง-ตัดหน้า-เมาขับ" ปัจจัยหลักการเกิดอุบัติเหตุ เดินทางช่วง "ปีใหม่" เปิดโทษที่ต้องรู้ มีทั้งปรับ และจำคุก
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า ในเทศกาลปีใหม่ 2568 นี้ รัฐบาลได้ประกาศให้มีวันหยุดยาวติดต่อกัน 10 วัน คือตั้งแต่ 27 ธ.ค.67 - 5 ม.ค.68 ซึ่งหลายหน่วยงานได้มีมาตรการเข้มเพื่อควบคุมกำกับอย่างเข้มข้น ทั้งการบังคับใช้กฎหมายเน้น "เร็ว เมา หมวก" การอำนวยความสะดวกด้านการจราจร จึงขอคนเดินทางให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎระเบียบ หากมีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ตามจุดตรวจต่างๆ ก็ควรให้ความร่วมมือ หากปฏิเสธเท่ากับคน ๆ นั้น ส่งเสริมให้บนถนนมีแต่ความเสี่ยง
และก่อนเทศกาลปีใหม่ 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.ชุมพร สะพานไทย-ญี่ปุ่น กทม. ศรีสะเกษ และกำแพงเพชร ทุกเคสล้วนมีพฤติกรรมการดื่มเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงหวังว่าจะนำมาเป็นบทเรียน เป็นเครื่องมือในการวางแผนทำงานและหาทางป้องกันไม่ให้เข้าไปอยู่ในความเสี่ยง
นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า จากข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนเทศกาลปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2565 เกิดอุบัติเหตุ 2,707 ครั้ง บาดเจ็บ 2,672 คน เสียชีวิต 333 ราย ปี 2566 เกิดอุบัติเหตุ 2,440 ครั้ง บาดเจ็บ 2,437 คน เสียชีวิต 317 ราย และในปี 2567 ที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุ 2,288 ครั้ง บาดเจ็บ 2,307 คน เสียชีวิต 284 ราย
สาเหตุอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 40.6 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 23.31 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 14.29 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 87.01 นอกจากนี้ อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากการดื่มแล้วขับและขับเร็ว ส่งผลกระทบและสร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล เจ็บ ตายและพิการ ขาดรายได้ หยุดงาน
...
ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงบนเส้นทางและช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เพราะอุบัติเหตุในประเทศไทยมีความรุนแรง โดยเฉพาะที่มาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วไปขับรถ เพราะการดื่มส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขับขี่ 1. มองไม่เห็นคนข้ามถนน แอลกอฮอล์ส่งผลต่อการโฟกัสของดวงตา 2. สมองสั่งเบรกไม่ทัน แอลกอฮอล์ทำให้การส่งต่อข้อมูลจากสมองสู่อวัยวะส่วนอื่นช้าลง 3. ตัดสินใจผิดพลาด แอลกอฮอล์ส่งผลต่อความสามารถในการตัดสินใจเมื่อเจอเหตุการณ์เฉพาะหน้า 4. ง่วงซึม หลับใน แอลกอฮอล์ทำให้ประสาทเฉื่อยชา
เปิดโทษเมาแล้วขับ
- เมาขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ โทษจำคุก 1 - 5 ปีปรับ 20,000 - 100,000 บาท พักใช้ใบขับขี่ ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ เพิกถอนอาจมีโทษอื่น ๆ ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลในแต่ละกรณี (ข้อมูลจาก : พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522)
- เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส โทษจำคุก 2 - 6 ปีปรับ 40,000 - 120,000 บาทพักใช้ใบขับขี่ ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือ เพิกถอนอาจมีโทษอื่นๆ ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลในแต่ละกรณี
- เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษจำคุก 3 - 10 ปี ปรับ 60,000 - 200,000 บาท เพิกถอนใบขับขี่อาจมีโทษอื่น ๆ ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลในแต่ละกรณี (ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 )
- และในปัจจุบันได้มีปรับปรุงกฎหมายจราจรฉบับใหม่ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2565 เพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำ ข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา ทำผิดครั้งแรก มีอัตราโทษ จำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 ถึง 20,000 บาท หากทำผิดซ้ำข้อหา "เมาแล้วขับ" ภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000 ถึง100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ ถูกพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่