เรื่องจริงในประวัติศาสตร์จีน สมัยจั้นกว๋อ กว่าสองพันปี ที่ชาวจีนจดจำ และเล่าขานสั่งสอนลูกหลานต่อๆกันมา คือเรื่อง วาจาก่วนจ้ง

ก่อนก่วนจ้ง อัครมหาเสนาบดีจะตาย เขาฝากวาจาไว้กับ ฉีหวนกง อ๋องแคว้นฉี ผู้เป็นเจ้านาย ขอให้ออกห่างจากคน 4 คน อี้หยา ซู่เตียว ฉางจืออู และ กงจื่อฉี่ฟาง

แต่ฉีหวนกง ไม่เชื่อ แย้งวาจาก่วนจ้งว่า

อี้หยาเคยฆ่าลูกชายเอาเนื้อมาทำอาหารให้เรากินตอนที่เราอยากกินเนื้อ ซู่เตียวยอมเจ็บตัวเพื่อรับใช้เรา ฉางจืออู ก็ช่วยไล่ภูติผีปิศาจ รักษาโรคภัยให้เรา

ส่วนกงจื่อฉี่ฟาง ก็ติดตามรับใช้มานานถึง 15 ปี แม้บิดาถึงแก่กรรมก็ยังไม่ลาไปงานศพ

“คนเหล่านี้ ไม่มีอะไรที่น่าสงสัยว่าจะไม่ซื่อ” ฉีหวนกงย้ำ

“ท่านอ๋อง” ก่วนจ้งเน้นอีก “ท่านคิดผิดใครบ้างไม่รักลูกในไส้ อี้หยาฆ่าได้กระทั่งลูกนับประสาอะไรกับท่าน?”

“มนุษย์ทุกคนล้วนทะนุถนอมร่างกาย ซู่เตียวยอมแม้แต่การเชือดเนื้อตัวเอง นับประสาอะไรกับท่าน”

ส่วนที่ว่ามีโรคภัยไข้เจ็บเพราะภูติปิศาจเบียดเบียน อย่าเชื่อฉางจืออูจนเกินไป ท่านควรดูแลร่างกายให้ดี มิฉะนั้น เขาจะอาศัยอำนาจอิทธิพล สร้างข่าวลือหลอกลวงคนทั้งหลาย ให้เกิดความงมงายกันไปทั่ว

ยังมีอีกใครเล่าจะไม่รักบิดา กงจื่อฉี่ฟางเพียงแต่

หวั่นเกรงเดชานุภาพของอ๋อง แม้บิดาตายก็ใจแข็งไม่กลับไปเซ่นไหว้ นับประสาอะไรกับท่าน?

เหตุผลก่วนจ้ง หนักแน่นมีเหตุผล ฉีหวนกงเชื่อ เมื่อก่วนจ้งตายก็เนรเทศคนทั้งสี่ออกนอกแคว้นฉีแต่เหตุการณ์ต่อมากลับเป็นว่า

ฉีหวนกง เสวยกระยาหารไม่ถูกปาก เมื่อขาดอี้หยาดูแลครัวใกล้ชิด ในวังก็เริ่มยุ่งเหยิงเมื่อขาดซู่เตียวหัวหน้าขันทีควบคุม โรคภัยไข้เจ็บก็รุมเร้า เมื่อขาดฉางจืออูคอยให้การรักษาพยาบาล

...

แคว้นฉีก็เริ่มวุ่นวาย เมื่อขาดกงจื่อฉี่ฟางบริหาร

ฉีหวนกงเริ่มเห็นว่าคำเตือนก่วนจ้ง สร้างความยุ่งยากให้แก่ตนมาก จึงสั่งเรียกคนทั้งสี่กลับ

ปีต่อมา ฉีหวนกงล้มป่วย ฉางจืออู รีบออกไปนอกวัง ป่าวประกาศ อ๋องใกล้สิ้นพระชนม์ ทั้งร่วมกับซู่เตียว และอี้หยาก่อกบฏ

กงจื่อฉี่ฟาง ยึดพื้นที่ส่วนหนึ่งไปมอบให้แก่แคว้นอุ้ย

ฉีหวนกง ตรวจสอบข่าวแล้วก็ถอนหายใจ “ท่านก่วนจ้ง เห็นการณ์ไกลนัก เมื่อเราตายจะมีหน้าไปพบเขาในปรภพได้อย่างไร?”

เมื่ออ๋องแคว้นฉีสิ้นชีวิต ร่างเขาเดียวดายในวัง อำนาจวาสนาในอดีตช่วยอะไรไม่ได้ ไม่มีใครเหลียวแลแม้คนเดียว คนที่เขาเคยไว้ใจที่สุด อุตลุดอยู่กับการแย่งอำนาจกันเอง

ผู้รู้ผู้บันทึกเรื่องนี้มีคำสอนต่อท้าย...

ถ้าสามารถรู้ล่วงหน้าความสุขที่ได้มาเพราะโชคช่วย เป็นรากเหง้าแห่งภัยพิบัติ หรือการรักตัวกลัวตายเป็นต้นเหตุแห่งมรณกรรมก่อนเวลา เป็นความเข้าใจในลางบอกเหตุล่วงหน้า จึงจะเป็นความปรีชาสามารถที่แท้

เรื่องหายนะของฉีหวนกงชาวจีนรู้กันดี แต่เรื่องหายนะในไทย ควรจะบอกใคร?

คุณทักษิณนั้น รู้ซึ้งถึงแก่นหัวใจมากว่า17 ปี พลาดแล้วไม่ควรพลาดอีก ส่วนคุณประวิตรนั้น...ใครล่ะ! จะกล้าเอาไปเล่า สงครามนี้ยากจะรักษาบ้านป่าไว้ได้ ตัวเองก็ไม่แน่ว่าจะรอด.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม