ชุดความรู้จากหนังสือ แกะรอยตัวพิมพ์ไทย (ประชา สุวีรานนท์ เขียน ฟ้าเดียวกันพิมพ์ ม.ค.2567)

พ.ศ.2387-2388 นพ.หมอบรัดเล ผู้ก่อตั้งโรงพิมพ์หนังสือตัวพิมพ์ภาษาไทย พิมพ์หนังสือบางกอกรีคอร์เดอร์ เสนอข่าวต่างประเทศ และนำวิธีการรายงานข่าว การเขียนความเรียง และการวิพากษ์วิจารณ์

นี่เป็นของใหม่ วงการหนังสือพิมพ์ไทยถือกันว่าบางกอกรีคอร์เดอร์ เป็นหนังสือพิมพ์เล่มแรก

พร้อมๆกับชุดความรู้นี้ มีภาพ โรงพิมพ์หมอบรัดเล (บ้านตึกครึ่งไม้สองชั้น) ปากคลองบางกอกใหญ่ มาให้เห็นคนไกลคงมโนปากคลองบางหลวง ที่ตั้งโรงพิมพ์เป็นที่ใดสักแห่ง

จะเป็นที่อื่นไม่ได้เพราะฝั่งตรงข้ามคือวัดกัลยาณมิตร ทหารเรือในกองทัพเรือรู้ มีอยู่ในพื้นที่กระหยิบมือ บริเวณของป้อมวิชัยประสิทธิ์

ปี พ.ศ.2494 เกิดกบฏแมนฮัตตัน ทหารเรือจับจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีเป็นตัวประกันใน ร.ล.ศรีอยุธยา รัฐบาลใช้เหตุผล ชีวิตนายกสำคัญน้อยกว่าชาติ สั่งทหารอากาศเอาเครื่องบินรบทิ้งระเบิด

ร.ล.ศรีอยุธยาจมเจ้าพระยา หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ ผมเดาเอาโรงพิมพ์หมอบรัดเล ซึ่งแหม่มหลิน ลูกสาวหมอบรัดเลยังเป็นเจ้าของ ถูกเวนคืนมารื้อสร้างที่พักให้ทหารเรือญี่ปุ่น ชุดกู้ ร.ล.ศรีอยุธยา

ระหว่างปี พ.ศ.2509-2511 ทหารหมวดเรืออุทกศาสตร์ รุ่นผมเป็นทหารเกณฑ์ ยังใช้โรงเรือนนี้นอนอยู่

ตัดภาพจากโรงพิมพ์หมอบรัดเล โรงพิมพ์ต้นแบบ มาถึงโรงพิมพ์ใหญ่ทันสมัยล่าสุด ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แท่นพิมพ์พิมพ์ครบทุกหน้า ก็จะวนไปจนตึกชั้นแปด วกลงมาชั้นล่าง ส่งรถรับหนังสือพิมพ์

วันวาณนี้ หนังสือพิมพ์พิมพ์น้อยลง ผมยังใช้โม้ปลอบใจตัวเอง ต้นฉบับในกระเป๋า...จะถูกเอาไปพิมพ์ในกระดาษ...ที่ขึ้นไปถึงตึกชั้นแปด สูงถึงปานนั้น นั่นเทียว

แต่ประวัติความยิ่งใหญ่ของหนังสือพิมพ์รายวัน ที่เคยขายถึงวันล้านฉบับ...ไม่ได้มาจากข้อเขียนของใคร แต่ได้จากมหกรรมข่าว...ที่ “ไทยรัฐ” สื่อมาต่อเนื่องยาวนาน 75 ปี

...

ฟื้นความหลังจากหนังสือเล่มเดียวกัน หน้า 279 หัวข้อและพาดหัวของ “ไทยรัฐ” เป็นตัวตนของหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุด (สถิติล้าน เริ่มจากข่าว 14ตุลาฯ 2516) และถูกใช้อย่างเต็มที่ ในปี 2529

ไทยรัฐ พาดหัวข่าวใหญ่ว่า “สั่งปลด...อาทิตย์”

สร้างประวัติศาสตร์การพาดหัวข่าว ด้วยการใช้ตัวพิมพ์ ขนาดที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีกันมา และเมื่อเป็นเครือข่ายสื่อดิจิทัล มีทั้งเว็บไซต์สถานีโทรทัศน์ ตัวพิมพ์นี้ยังถูกใช้เป็นอัตลักษณ์

มีเสียงซุบซิบ หัวหน้าข่าว (หน้า 1) คนไหน? ปี พ.ศ.2529 นั้น รุ่นใหญ่ยังครบ พี่วิ พี่วิทูรย์ พี่โฆษณ์ พี่โรจน์ คนที่กล้าใช้สี่คำ ตัวยักษ์เบิ้มๆ บาดใจ...ในจำนวนคนที่รู้จริง ผมเป็นคนหนึ่ง

คืนทั้งคืนก่อนถึงเช้านั้น ผมเข้าเวรรีไรท์ ก็สงสัย...ทำไม “อ้อยกรรณนิการ์” ข่าวการเมือง เดินวนไปวนมาใกล้โต๊ะข่าว ถึงเวลาจึงรู้ว่า ผู้ใหญ่มีข่าว “วงใน” สั่งค้นข้อมูลประกอบข่าวใหญ่ ไว้ล่วงหน้า

ตอนนั้น เราปิดข่าวกรอบแรก 07.45 น. พี่โฆษณ์ หัวหน้าข่าวหน้า 1 เขียนคำพาดหัว...สองแถว แถวละ 10-12 คำ เหมือนที่เคย ผอ.กำพล บังเอิญเดินมายืนข้างหลัง ส่ายหน้า “ไม่ใช่ๆ”

พี่โฆษณ์เหลียวมองเชิงถาม ผอ.หลุดคำ สั่งปลดอาทิตย์

ใครที่เคยนินทา ผอ.กำพล ขายข่าวเป็น แต่เขียนข่าวไม่เป็น จึงได้รู้กัน “ผอ.พาดหัวเป็น” และเป็นพาดหัวประวัติศาสตร์ ที่ถูกจารึกไว้ในแวดวงสื่อหนังสือพิมพ์

พรุ่งนี้ (27 ธ.ค.2567) วันไทยรัฐของชาวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐครับ มีการ์ดเชิญ คนรักๆกัน มาร่วมงานครบรอบ 75 ปีไทยรัฐ เวลา 09.00 น. ถึง 14.00 น. ที่อาคาร 1 ชมพิพิธภัณฑ์นายกำพล วัชรพล และนิทรรศการ ฯลฯ

ใครๆรวมถึงผมก็อยากรู้ ตัวตน กำพล วัชรพล เป็นไง? อยากดูให้เห็นกับตาหนึ่งปีมีครั้งเดียว.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม