ย้อนวันวานยุคสมัยหนึ่งมีการกล่าวถึง “การปฏิรูปการศึกษา ลดเหลื่อมล้ำเด็ก...เยาวชนไทย” พุ่งเป้าว่าเราควร... “ยกเครื่องการศึกษาไทย” หรือ...“เปลี่ยนเครื่องการศึกษาไทย”

ข้างต้นนี้เป็นมุมคิดของพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้อำนวยการใหญ่ ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้

เมื่อดูผลการปฏิรูปการศึกษาในช่วงนับสิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กำหนดไว้ในมาตรา 81 ที่ว่า...“รัฐต้องจัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม”

อันส่งผลให้เกิดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับปรับปรุง พ.ศ.2545 และ พ.ศ.2553 ที่กล่าวไว้ในมาตรา 15 ถึงระบบการศึกษามี 3 ระบบ ได้แก่ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

ปฏิรูปการศึกษา โอกาสคือโจทย์ใหญ่

มาตรา 22 ที่กล่าวว่า “การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญมากที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ”

ที่สำคัญในรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2550 ในมาตรา 49 ยังกล่าวถึงการศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ

ปัญหาสำคัญมีว่า นโยบาย...เป้าหมายถูกปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามความคิดและความตั้งใจของผู้ที่เข้ามารับผิดชอบกระทรวงศึกษาธิการในแต่ละสมัยที่ผ่านมา

รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ก็ขาดการทำงานอย่างบูรณาการและสอดคล้องไปในเป้าหมายเดียวกัน...การวิพากษ์วิจารณ์คุณภาพของการศึกษาโดยเฉพาะคุณภาพเด็กไทย ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในทางปฏิบัติ

ปฏิรูปการศึกษา โอกาสคือโจทย์ใหญ่

กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เวทีไทยรัฐฟอรัม “Empowering Through Education” สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการศึกษา ในโอกาสที่มูลนิธิไทยรัฐและโรงเรียนไทยรัฐวิทยาได้ก่อตั้งมาครบ 54 ปี

สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา ปัญหาจริงของคนในต่างจังหวัด คือ... “จนทรัพย์ จนใจ จนปัญญา” เด็กไม่รู้จะไปเรียนหนังสืออย่างไร เพราะแค่เงินจะกินข้าวมื้อเย็นยังไม่มี

“จนทรัพย์ยังไม่เท่าจนใจ ซึ่งอันตรายที่สุด เพราะจะกลายเป็นคนไม่มีแรง ไม่มีฝัน ใช้ชีวิตเพียงแค่ให้อยู่รอด แล้วจะหาคุณภาพจากการศึกษาได้อย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่จำกัดเฉพาะกับเด็กนักเรียน แต่รวมถึงคุณครูด้วย ซึ่งต้องอยู่ในวัยที่ยังสามารถทุ่มเทสุดชีวิตเพื่อเด็กและการศึกษา”

ปฏิรูปการศึกษา โอกาสคือโจทย์ใหญ่

บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ย้ำว่า อยากให้มองในเรื่องของ “คุณภาพและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา” อย่างที่มูลนิธิไทยรัฐทำสนับสนุนคนรากหญ้าให้มีโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำและเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม...โจทย์ใหญ่ที่หยั่งรากลึกใน “การปฏิรูปการศึกษา” คือ “โอกาส”

โดยเฉพาะตามชนบทและในพื้นที่ห่างไกล เด็กไม่ได้มีทางเลือกมากนัก นอกจากการเข้าถึงการเรียนได้ยากแล้ว คุณภาพชีวิตก็มีส่วนไม่น้อย เช่น การเงิน สุขภาพ ครอบครัว ต่อให้การศึกษาเข้าถึงแค่ไหน หากคุณภาพชีวิตไม่ขยับตามก็ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่หายต่อไป

“เรื่องนี้ไม่ใช่มีผลแค่ตัวนักเรียนเพียงอย่างเดียว ครู...เป็นอีกหนึ่งชีวิตที่ต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพเช่นกัน เพราะหากคุณภาพชีวิตครูที่อยู่ในพื้นที่ หรือครูที่เข้าไปช่วยเหลือนั้นไม่ดีตามแรงใจ ความฝัน ความตั้งใจที่จะทำงานก็ไม่มีตามไปด้วย คุณภาพต่างๆก็จะลดลง”

ปฏิรูปการศึกษา โอกาสคือโจทย์ใหญ่

บัณฑูร ย้ำทิ้งท้ายว่า จนทรัพย์ยังไม่วาย แต่หากจนใจแล้วนี่สิอันตรายที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กๆ และคุณครูกลายเป็นคนไม่มีแรง ไม่มีความฝัน ใช้ชีวิตเพียงแค่ประคองตัวเองให้อยู่รอดเท่านั้น และจะหาคุณภาพจากการศึกษาได้อย่างไร

“ปฏิรูปการศึกษา” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในเด็กและเยาวชนไทยยังเป็นอีกหัวข้อสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของประเทศ การลดช่องว่างทางการศึกษาไม่เพียงแต่เพิ่มโอกาสให้เด็กทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ แต่ยังสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคมอีกด้วย

ปฏิรูปการศึกษา โอกาสคือโจทย์ใหญ่

ตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จ “ฟินแลนด์”... ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ใช้หลักการกระจายทรัพยากรและสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา

ถัดมา “อินเดีย”...โครงการ “Mid–Day Meal” เพื่อจัดอาหารกลางวันฟรีในโรงเรียนของรัฐ ลดความเหลื่อมล้ำด้านโภชนาการและเพิ่มอัตราการเข้าเรียน

ปฏิรูปการศึกษา โอกาสคือโจทย์ใหญ่

งานครบรอบ 75 ปี ไทยรัฐ วันที่ 27 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00-14.00 น. ณ อาคาร 1 เปิดให้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ “นายกำพล วัชรพล” และนิทรรศการต่างๆ ในรูปแบบโอเพ่นเฮาส์ เพื่อให้แขกผู้มีเกียรติทุกคนได้ร่วมเดินทางไปกับการดำเนินธุรกิจสื่อสารมวลชนของไทยรัฐกรุ๊ป...กัลยาณมิตรทั้งหลาย คงไม่ลืม

วันที่ 27 ธันวาคม...เป็นวันคล้ายวันเกิด “กำพล วัชรพล” อดีตผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐอันเป็นรากฐานของ “สื่อ” ต่างๆ ในเครือไทยรัฐกรุ๊ป

คนในชายคาที่ใช้ชื่อไทยรัฐ ไม่เพียงเป็น “คนหนังสือพิมพ์” ยังเป็น “คนไทยรัฐออนไลน์” และ “คนไทยรัฐทีวี”

“มูลนิธิไทยรัฐ” ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมสนับสนุน ช่วยเหลือกิจกรรมด้านการศึกษาพุ่งเป้าพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าที่สุดเหนือทรัพยากรอื่นใดของประเทศชาติ ...“โอกาส” ที่เท่าเทียมและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำคือตัวแปรสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม