นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดงาน ลดโซเดียม ลดเสี่ยง NCDs ว่า สถานการณ์การบริโภคอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร และความรอบรู้ด้านอาหารของประชากรไทย ปี 2567 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. พบเด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี กินขนมกรุบกรอบรสเค็มมากที่สุด 84.1% กินเฉลี่ย 1.35 ซองต่อวัน รองลงมาเป็นกลุ่มเด็กเล็ก อายุ 1-5 ปี 76.5% กินเฉลี่ย 1.23 ซองต่อวัน ที่สำคัญยังพบคนไทยเติมเครื่องปรุงรสเค็มเพิ่มในอาหารประมาณ 30% เฉลี่ย 0.86 ช้อนชาต่อวัน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กมีการเติมเครื่องปรุงรสเค็มปริมาณมากที่สุด เฉลี่ย 0.89 ช้อนชาต่อวัน ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับกรมควบคุมโรค เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม รณรงค์ขับเคลื่อนสังคมด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม และนโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ โดยเฉพาะลดการบริโภคเค็ม ผ่านแคมเปญ “ลดเค็ม ลดโรค” ผลประเมินพบว่า ประชาชนเกิดความตระหนัก 92% และกระตุ้นการปรับพฤติกรรมลดการบริโภคเค็ม 85.1% ล่าสุด สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรมเครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหาร (Salt Meter) เตรียมขยายผลนำไปใช้ปรับพฤติกรรมลดเค็มทั่วประเทศ

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า น่าห่วงกลุ่มเด็กอายุ 10-19 ปี พบมีภาวะความดันโลหิตสูง 10% ซึ่งจะสูงต่อเนื่องเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ สาเหตุส่วนหนึ่งจากการบริโภคอาหารและขนมโซเดียมสูง

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่