อุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ “ยังคงมีตัวเลขการเสียชีวิตพุ่งสูงทุกปี” โดยเฉพาะปีนี้ที่รัฐบาลเปิดแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ “ภายใต้โครงการสุขทันทีปลายปีเที่ยวไทย” ด้วยการเชิญชวนประชาชนออกมาร่วมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2568 อันจะทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มมากขึ้น
ยิ่งกว่านั้น “กิจกรรมรื่นเริงจะเกิดขึ้นหลายจุด” นำมาซึ่งดื่มการสังสรรค์ก่อเกิดคนเมาแล้วขับบนท้องถนนก็จะมากมายตามมา ขณะที่การป้องกันยังเป็นรูปแบบเดิม “ไม่มีมาตรการการบังคับใช้กฎหมายใหม่ๆ” ที่จะเข้ามาช่วยยับยั้งความสูญเสียให้ลดน้อยถอยลงได้เลย กลายเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติสูงกว่าช่วงปกติ
ด้วยเหตุจาก “รัฐบาลเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลักนำ” สิ่งใดสามารถส่งเสริมประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยได้นอกจาก “ไม่เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายจราจรแล้ว” ยังมีการกระตุ้นให้คนมาใช้เงินอีกต่างหาก
สังเกตุจาก “เคาต์ดาวน์ส่งท้ายปี 2566” รัฐบาลขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงฉลองปีใหม่ยาวถึง 6 โมงเช้า คราวนั้นก็พบว่าพื้นที่มาตรการขยายปิดผับตี 4 ใน 5 จังหวัด กรุงเทพฯ จ.ภูเก็ต จ.ชลบุรี จ.เชียงใหม่ และในท้องที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ช่วงตี 2-6 โมงเช้ามีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 9 ราย เมื่อเทียบปี 2566
ถ้าดูภาพรวมตลอดปี “อุบัติเหตุก็สูง” มีผู้บาดเจ็บเพิ่มเป็น 8 พันกว่าราย คิดเป็น 4.19% และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 25 ราย คิดเป็น 1.48% ส่วนมาตรการต้นน้ำ “คัดกรองสถานบันเทิงขยายเวลาตี 4” ในการขอความร่วมมือยังขาดระบบตรวจสอบ กำกับ ติดตามประเมินผลจากการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวชาวไทยช่วง มี.ค.-เม.ย.2567
กรณีไม่จําหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้คนเมาไม่ได้สติทำได้เพียง 43% วัดแอลกอฮอล์ลูกค้าก่อนออกจากร้านทำเพียง 16% การเรียกรถบริการมาให้ลูกค้ากรณีวัดแอลกอฮอล์เกินมีเพียง 14% และตามญาติมารับหากลูกค้าไม่ยอมให้เรียกรถบริการเพียง 24% สะท้อนให้เห็นตัวเลขเสียชีวิตเพิ่มขึ้นแต่รัฐบาลกลับไร้การป้องกันที่ดี
...
กลายเป็นได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บอกว่า เรื่องการขยายปิดผับตี 4 “จะยกเลิกคงเป็นไปได้ยาก” ด้วยรัฐบาลมีข้ออ้างกระตุ้นทางเศรษฐกิจ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือ “ต้องไม่ขยายออกไปพื้นที่อื่น” เพราะเชื่อรัฐบาลมีธงเดินหน้าการขยายเปิดสถานบริการไปทั่วประเทศ
สิ่งนี้กลายเป็นความห่วงใยมาถึง “ช่วงปีใหม่ 2568” โดยเฉพาะการเดินทางกลับภูมิลำเนาที่คาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสม 7 วันอันตรายก็น่าจะกลับมาสูงกว่า 300 รายเช่นเดิม แม้ว่าช่วงในปีใหม่ 2567 “รัฐบาลจะทำการบ้านดี” ทำให้การเสียชีวิตลดลงเหลือ 284 คน เมื่อเทียบกับปีใหม่ 2566 มีผู้เสียชีวิต 7 วันอันตราย 317 ราย
ทว่าการเสียชีวิตที่สูงนี้ “ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะใน 7 วันอันตราย” ตามที่เก็บสถิติ 5 ปีมานี้สังเกตเห็นว่าประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาเร็วตั้งแต่ 25 ธ.ค. ทำให้มีอุบัติเหตุผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตสูงก่อนถึงช่วง 7 วันอันตราย
ตัวอย่างปี 2566 วันที่ 26 ธ.ค. ก็มีการเสียชีวิตกว่า 53 ราย และวันที่ 27 ธ.ค.มีผู้เสียชีวิต 56 ราย “ตัวเลขนี้มิได้ถูกนับรวมในช่วง 7 วันอันตราย” ทั้งบางคนเกิดอุบัติเหตุเจ็บสาหัสแล้วเสียชีวิตภายหลังก็มี ตามข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขติดตามครบ 30 วัน พบการเสียชีวิตจริงที่ 374 ราย เป็นตัวเลขหายไป 90 ราย ไม่ถูก รายงานเช่นกัน
สิ่งนี้ทำให้เห็น “จำนวนการเสียชีวิตลดลง” ดังนั้นการรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสม 7 วันอันตรายจึงคลาดเคลื่อนทุกปี “เรื่องนี้จำเป็นต้องรายงานให้ครบกว่านี้” โดยเฉพาะจังหวัดขาประจำมักไม่รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตให้ครบใน 7 วันอันตราย เพราะกลัวถูกตีตราเป็นจังหวัดเกิดอุบัติเหตุสูงสุด กลัวมีผลต่อผู้ว่าฯตามมานั้น
ประเด็นมีต่อว่า “ผู้เสียชีวิต 2 ใน 3 เกิดช่วงเฉลิมฉลอง” จากประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาเร็วเลยเริ่มดื่มสังสรรค์กันเร็วตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. ขณะที่ตำรวจยังคงดูแลการจราจรเร่งระบายรถอยู่บนถนน “เป็นช่องโหว่การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวดเต็มที่” แล้วอุบัติเหตุก็มักเกิดใกล้บ้าน และเสียชีวิตมากกว่าครึ่งอยู่ในรัศมี 5 กม.
ซึ่งส่วนใหญ่ “1 ใน 5 เกิดจากมอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อก” เพราะคิดว่าใกล้บ้านเดินทางระยะใกล้ไม่ใส่ดีกว่า สาเหตุหนึ่งเพราะการจัดงานรื่นเริงทั้งอำเภอ และจังหวัด “ไม่กำหนดเงื่อนไขการดูแลคนเมาห้ามขับขี่รถ” ดังนั้นผู้อนุญาตจัดงานรื่นเริงจำเป็นต้องกำหนดให้มีมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุตั้งแต่ต้นทาง
มิใช่คิดว่า “การป้องกันคนเมาขับขี่รถเป็นหน้าที่ตำรวจ” เพราะงานรื่นเริงเฉลิมฉลองปีใหม่นั้นให้ตำรวจฝ่ายเดียวดูแลไม่สามารถรับมือได้ทั่วถึง ดังนั้น จึงอยากเห็นผู้อนุญาตจัดงานทุกแห่งอันเป็นต้นทางมีความรับผิดชอบ “ไม่ปล่อยให้คนเมาขับขี่รถ” เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงเกิดขึ้นทั้งในงาน และการออกมาบนถนน
“ความจริงในช่วงการเคาต์ดาวน์นั้นการสวดมนต์ข้ามปีสามารถเป็นตัวช่วยสำหรับการลดการตายจากอุบัติเหตุลงได้อย่างดี เพราะที่ผ่านมามีหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่หันมาสนใจร่วมกิจกรรมนี้ค่อนข้างมากเพียงแต่ไม่ถูกกระตุ้นจากหน่วยงานรัฐ ดังนั้น จึงอยากเห็นกิจกรรมดีๆ แบบนี้ถูกส่งเสริมกลับมาบูมใหม่กันอีกครั้ง” นพ.ธนะพงศ์ ว่า
...
ย้อนกลับมาความห่วงใยสุดท้าย “หลังสิ้นสุดเฉลิมฉลองปีใหม่” ถ้าดูตามวันหยุดจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.2567-1 ม.ค.2568 “เปิดทำงานวันที่ 2 ม.ค.2568” ทำให้ประชาชนบางคนเฉลิมฉลองคืนเคาต์ดาวน์แล้วต้องเร่งรีบกลับเข้ากรุงเทพฯ สิ่งนี้จะกลายเป็นความเสี่ยงให้การเดินทางวันที่ 1 ม.ค.2568 มีอุบัติเหตุค่อนข้างสูง
สาเหตุมาจาก “การหลับใน และการเร่งรีบจนขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด” เพราะตามข้อมูลศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่วันที่ 1 ม.ค.2567 “มีผู้เสียชีวิต 66 ราย” ถ้าหากมาดูตัวเลขกระทรวงสาธารณสุขกลับมียอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 77 ราย อันเป็นตัวเลขค่อนข้างแตกต่างกันพอสมควร
หากมาดู “รถโดยสารประจำทาง” สำหรับภาพรวมรถโดยสารในระบบ “ไม่ค่อยมีปัญหา” แต่ห่วงใยกรณีประชาชนรวมกลุ่มกันเช่าเหมารถใช้ในการเดินทาง “กลุ่มรถพวกนี้ใช้คนขับคนเดียว” ยิ่งกว่านั้นมักไม่ถูกกำกับชั่วโมงการทำงาน และถูกกำกับความเร็ว ทำให้มีความเสี่ยงคนขับรถหลับในที่ก่อเกิดอุบัติเหตุรุนแรงขึ้นทุกปี
...
ฉะนั้นปีใหม่ 2568 “ภาครัฐ” ไม่ควรโฟกัสอุบัติเหตุเฉพาะ 7 วันอันตรายเท่านั้น แต่ต้องเพิ่มมาตรการเข้มงวดตั้งแต่วันคริสต์มาส ช่วงวันเฉลิมฉลองดื่มสังสรรค์ และหลังสิ้นสุดเทศกาลไปแล้วด้วย...
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม