วันเสาร์สบายๆวันนี้ผมมีเรื่องราวน่ายินดีของ 2 กวีไทยที่ได้รับรางวัลกวีนิพนธ์ระดับนานาชาติมาเล่าสู่กันฟัง เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการจัดงานเทศกาลกวีนิพนธ์นานาชาติโป๋อ๋าว ครั้งที่ 7 ที่โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุรวงศ์ กรุงเทพฯ มีคณะกรรมการจัดงานของประเทศจีน ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาบทกวี “หวงหย้าโจว” และสมาคมวิญญูชนไทย-จีน เป็นเจ้าภาพ วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและสนับสนุนงานด้านวรรณกรรมของนานาประเทศ โดยมีตัวแทนด้านวรรณกรรมจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมงานคับคั่ง เรียกได้ว่าเป็นงานชุมนุมกวีระดับอินเตอร์
งานเทศกาลกวีโป๋อ๋าวจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2562 ที่มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน จัดมาแล้ว 6 ครั้ง ประสบความสำเร็จอย่างมาก สำหรับงานครั้งที่ 7 ในปีนี้เป็นครั้งแรกที่ออกมาจัดนอกประเทศจีน ประเทศไทยไม่เพียงได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าของสถานที่จัดงาน ที่น่ายินดีที่สุดคือเป็นครั้งแรกที่ “กวีไทย” ได้รับรางวัลโป๋อ๋าว ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดของงานถึง 2 ประเภท
โดยประเภท “กวีดีเด่นเกียรติยศ” (The Outstanding Achievement Award) ได้แก่ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” จากประเทศไทย และ “Les Wicks” จากประเทศออสเตรเลีย
ขณะที่ประเภท “กวีดีเด่นแห่งปี” (Poet of The Year) ได้แก่ “เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร” เจ้าของนามปากกา “นายทิวา” จากประเทศไทย Tao Jie, A Fei และ Xie Shengmei จากจีน และ Alexander Selimov จากสหรัฐอเมริกา รวม 5 คน
การคัดเลือกกวีที่ได้รับรางวัลโป๋อ๋าว มีการเสนอชื่อมาจากประเทศต่างๆ ทั้งจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา จากนั้นคณะกรรมการจะพิจารณาจากผลงานการสร้างสรรค์ของกวีแต่ละคนที่ได้รับการเผยแพร่ต่อนานาชาติ แล้วลงคะแนนเสียงเพื่อคัดเลือกรางวัลในแต่ละประเภท
...
ชื่อเสียงของอาจารย์เนาวรัตน์นั้นเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ท่านเป็นทั้งศิลปินแห่งชาติ กวีซีไรต์ มีผลงานเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติ ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ รวมถึงยังเป็นอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ปัจจุบันในวัย 84 ปีก็ยังคงเป็น หนึ่งในเสาหลักด้านวรรณกรรม เป็นแรงบันดาลใจการสร้างสรรค์งานกวีนิพนธ์ให้แก่เหล่ากวีรุ่นใหม่จำนวนมาก
สำหรับ “นายทิวา” ถือเป็นกวีรุ่นใหม่ เริ่มต้นจากการเป็นสื่อมวลชน ผ่านงานสื่อทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ส่วนงานด้านกวีนิพนธ์ก็ได้สร้างสรรค์ผลงานมาต่อเนื่อง มีรางวัลการันตีมากมาย อาทิ ผลงานรวมบทกวี “ในความไหวนิ่งงัน” เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ “โคลงบ้านโคลงเมือง” ได้รางวัลหนังสือดีเด่นของ สพฐ. “เงาไม่มีเงา” และ “บังฟ้าเบิกอบาย” ได้รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ผลงานบทกวีแปล 3 ภาษา (เนปาล-อังกฤษ-ไทย) ชื่อ “พระอาทิตย์เล่นน้ำ” เป็นบทกวีภาษาเนปาลที่แปลเป็นภาษาไทยเล่มแรก และยังเป็นกวีรางวัลมติชนอวอร์ดคนแรก รางวัลแสงสรรค์วรรณศิลป์คนแรก เคยเป็นตัวแทนประเทศไทยเดินทางไปยังบังกลาเทศและเนปาล ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนกับกวีนานาชาติ รวมถึง มีบทกวีแปลเป็นภาษาต่างประเทศร่วมตีพิมพ์เผยแพร่ในหลายประเทศ
นอกจากมอบรางวัลให้กวีแล้ว การจัดงานครั้งนี้ยังได้ก่อตั้ง Poets International Pen Club พร้อมแต่งตั้งอาจารย์เนาวรัตน์และนายทิวาเป็นคณะกรรมการร่วมขับเคลื่อนงานวรรณกรรมและบทกวีนานาชาติ
ในบ้านเรางานด้านวรรณกรรมสัมพันธ์ขับเคลื่อนโดย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้สร้างสรรค์กิจกรรมวรรณกรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ โดยมีจุดเริ่มต้นสำคัญเมื่อปี 2546 สมัยคุณประภัสสร เสวิกุล เป็นนายกสมาคมฯ จัดพิมพ์หนังสือ “ร้อยมาลัยร้อยใจไร้พรมแดน” ต่อมาร่วมกับมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี และสมาคมนักเขียนกว่างซี พิมพ์หนังสือ “ดอกไม้สองแผ่นดิน” ในสมัยคุณชมัยภร บางคมบาง เป็นนายกสมาคมฯ และยังขับเคลื่อนงานด้านนี้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่มีคุณนรีภพ จิระโพธิรัตน์ เป็นนายกสมาคมฯ จึงนับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้จัดงานกวีโป๋อ๋าวเลือกมาจัดงานในประเทศไทย และมีกวีไทยได้รับรางวัลเป็นครั้งแรก
พลังของศิลปะและวรรณกรรม นอกจากช่วยขัดเกลาให้จิตใจอ่อนโยนแล้ว ยังเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญทำให้ประชากรโลกได้เรียนรู้และเข้าใจกันมากขึ้น.
ลมกรด
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม