เศรษฐกิจไทยหลัง “โดนัลด์ ทรัมป์รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ” ที่อาจต้องเผชิญกับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงนโยบายทาง การค้าที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ยังจะเป็นโอกาสสำหรับดึงการลงทุนจาก “บริษัทต่างชาติ” ที่ต้องการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศได้เพิ่มขึ้น

เนื่องมาจาก “สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน” จะส่งผลให้นักลงทุนประเทศต่างๆ จะเพิ่มการลงทุนในประเทศที่เป็นกลาง “อันเป็นมิตรกับทุกฝ่าย” สิ่งนี้จะกลายเป็นโอกาสทองให้ไทยได้รับอานิสงส์สามารถดึงดูดการลงทุนเข้าในประเทศได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์อันเป็นฐานผลิตสำคัญในอาเซียน

ไม่เท่านั้น “อุตสาหกรรมอาหาร และเกษตรแปรรูป” ยังมีมาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก แม้แต่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีซัพพลายเชนแข็งแกร่งเช่นนี้ “ประเทศไทย” จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการเตรียมรับมือกับโอกาสที่กำลังจะมานี้โดย รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย มองว่า

บรรษัทข้ามชาติเจ้าของเทคโนโลยี และธุรกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต “มุ่งการลงทุนตั้งศูนย์กลางของภูมิภาค” ไปยังประเทศมีทักษะแรงงาน ทรัพยากรมนุษย์ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เพียงพอต่อความต้องการ “คุณภาพของทรัพยากรมนุษย์” สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้จากแรงงานมันสมองคุณภาพสูงเหล่านี้

...

นอกจากนี้การมีภาครัฐปลอดทุจริตคอร์รัปชันมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย ล้วนเป็นปัจจัยดึงดูดโครงการลงทุนระยะยาวได้เรื่องนี้ ประเทศไทย ต้องพิจารณาเรามีความแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร

เพราะการลงทุนจะมุ่งไปประเทศที่ดีที่สุด โดยเฉพาะโครงการใหญ่มักไปประเทศพร้อมที่สุด “เป็นฐานส่งออกบริการ” ใช้ประโยชน์จากการเป็นตลาดเดียวกัน และการบูรณาการเศรษฐกิจประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ทว่าการพัฒนาผลิตภาพแรงงาน และผลิตภาพทุนสูงขึ้นมีความสำคัญ “มาตรการแจกเงิน” จะแย่งเม็ดเงินในการลงทุนเพิ่มผลิตภาพของสังคมได้ “การเพิ่มผลิตภาพ” จะทำให้นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ก่อปัญหาต้นทุนธุรกิจและภาคการผลิต แต่ค่าแรงปรับขึ้นเป็นแนวโน้มสำคัญหนึ่งของตลาดแรงงานไทย-แรงงานในเอเชียเท่านั้น

ด้วยปัจจัยยังมีแนวโน้มอื่นอีก เช่นการใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์หรือสมองกลอัจฉริยะแทนแรงงานมนุษย์ ดังนั้นธุรกิจอุตสาหกรรมต้องปรับตัวต่อแนวโน้มต่างๆ “รัฐ” ต้องมีมาตรการเหมาะสมตอบสนอง “มิเช่นนั้นจะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจ” ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

ซึ่งตัวช่วยอธิบายว่า “ค่าจ้างในไทยแพงหรือไม่” ดูจากผลิตภาพแรงงานไทยในอนาคตเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันเติบโตระดับหนึ่งดีกว่า “ลาว เขมร เมียนมา” แต่ไม่สูงเท่าจีน เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย ฉะนั้นการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานมีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เหตุเพราะเป็นตัวบ่งชี้ “ประสิทธิภาพการผลิตด้านแรงงาน” มักใช้เปรียบเทียบผลงานเศรษฐกิจ โดยวัดจากอัตราส่วนผลผลิตกับจำนวนแรงงานในระบบเศรษฐกิจ แล้วผลิตภาพแรงงานในระยะหลัง “ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นนัก” ด้วยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะไม่อาจพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มศักยภาพการผลิตได้

ขณะเดียวกัน “ระบบการศึกษา” ก็มีปัญหาทางด้านคุณภาพในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ป้อนเข้าสู่ระบบการผลิต และประชากรวัยทำงานก็ลดลงเรื่อยๆ ในทศวรรษนี้จะเพิ่มเพียง 0.2% ขณะที่ทศวรรษที่แล้วเพิ่มแค่ 1% ส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานทำงานนอกระบบ “เกือบครึ่งของแรงงานไม่ใช่ลูกจ้างระยะยาว” ที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน

...

เช่นนี้ขอสนับสนุนแนวคิดฟื้นฟู “นโยบาย 1 อำเภอ 1 ทุนศึกษา” เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาแล้วขอเสนอต่อว่าโครงการนี้ควรอยู่ภายใต้ การดูแลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอันจักได้ผนวกรวมงานขยายโอกาสทางการศึกษาเข้าด้วยกัน “ก่อเกิดประสิทธิภาพ” ในการบริหารจัดการงบประมาณ และทรัพยากร

สาเหตุจากไทยมีปัญหายากจนข้ามรุ่น และมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ต้องถูกแก้ไขจึงจะหลุดพ้นประเทศรายได้ปานกลาง “รัฐบาล” ต้องเพิ่มงบประมาณให้กองทุนฯ “ช่วยครอบครัวรายได้น้อยเข้าถึงทางการศึกษา” ทำให้มีทักษะการทำงานมีรายได้ยั่งยืนสามารถยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจให้หลุดพ้นความยากจน

ฉะนั้นการเพิ่มโอกาสการศึกษา และการพัฒนาทักษะแรงงานจึงเป็นการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ดีกว่ามาตรการประชานิยมแจกเงินทั้งหลาย หากทำได้จะเป็นเรื่องดีต่อประเทศ

ย้ำต่อว่า “คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำมานาน” ทั้งที่ทุ่มเทงบประมาณมากมาย “แต่ใช้ไปกับงบประจำ และงบบริหารจัดการ” ทั้งมีโครงสร้างองค์กรแบบรวมศูนย์เข้าสู่ “กระทรวง” แทนที่จะกระจายสู่สถานศึกษา

...

กลายเป็นการใช้งบประมาณไม่ได้มุ่งตรงไปที่สถานศึกษาหรือมุ่งเป้าไปที่แรงงานในการพัฒนาทักษะผ่านกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้นระบบการศึกษา และการจัดการงบประมาณด้านศึกษาวิจัยต้องปฏิรูปใหญ่

ถ้ามาดู “กองทุน กยศ.” ก็มีปัญหาสภาพคล่องอาจสนับสนุนให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้ไม่เต็มที่ เพราะปี 2561-2567 “รัฐบาลไม่ได้สนับสนุน” จนปี 2568 ต้องของบมาเสริมในการจ่ายเงินกู้ยืมภาระผูกพันจ่ายเงินกู้ยืม 5.9 หมื่นล้านบาท ส่วนรายรับจากการชำระหนี้มีเพียง 2.7 หมื่นล้านบาท เช่นนี้ทำให้เงินสดสะสมอาจติดลบเร็วๆนี้

“ผู้กู้ยืม กยศ.กว่า 7.1 ล้านราย อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.6 ล้านราย และชำระหนี้แล้ว 1.9 ล้านราย หาก กยศ.ขาดสภาพคล่องรุนแรงอาจกระทบนักศึกษาผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ขาดโอกาสทางการศึกษานำไปสู่การขาดโอกาสทางสังคม และเศรษฐกิจได้ รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณปี 2568 เพิ่มอย่างน้อย 1.5 หมื่นล้านบาท” รศ.ดร.อนุสรณ์ว่า

ตอกย้ำงานวิจัยบ่งชี้ว่า “การลงทุนการศึกษาคุ้มค่าที่สุด” ในช่วงปฐมวัยเมื่อพิจารณาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม แต่โควิดทำให้เด็กอ่านเขียนไม่ได้ ทักษะคณิตศาสตร์ ด้านสังคมอ่อนแอ เพราะหยุดเรียนนาน

...

ดังนั้นเด็กนักเรียน-นักศึกษาในช่วงนี้ “ต้องได้รับการเสริมสร้างทักษะองค์ความรู้ชดเชยที่ขาดไป” เพราะจะมีปัญหาทางการศึกษาเรียนรู้ขั้นสูง “ระดับอุดมศึกษา” มีความอ่อนแอในวิชาพื้นฐานจนไม่สามารถเรียนต่อในขั้นสูงได้เลย “ประเทศไทย” ก็จะขาดกำลังทั้งที่มีความรู้พื้นฐาน ความรู้ขั้นสูง และการวิจัยด้านต่างๆตามมา

ฉะนั้น “ภาครัฐ” ต้องพัฒนาคุณภาพระบบการศึกษาอย่างทั่วถึง และสนับสนุนการลงทุนด้านการวิจัย พัฒนาให้เกิดเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ อันจะนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพแรงงานคุณภาพในอนาคต.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม