ช่วงปลายปีของคนส่วนใหญ่นอกจากจะเป็นช่วงเวลาแห่งเทศกาลส่งความสุขและการเฉลิมฉลองแล้ว สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปีก็เป็นเหมือนสัญญาณของการเริ่มต้น “ฤดูกาลหีบอ้อย” หรือช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวเพื่อนำอ้อยจากไร่ส่งเข้าโรงงาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วฤดูกาลหีบอ้อยจะกินเวลาราว 4-5 เดือน เริ่มตั้งแต่ปลายปีจนถึงต้นปีถัดไปก่อนที่ผลผลิตจะถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างเช่น น้ำตาลทราย เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงฤดูกาลหีบอ้อย สิ่งที่ตามมาพร้อมกันคือการ “เผาไร่อ้อย” เพื่อกำจัดใบ แม้กระบวนการดังกล่าวจะทำให้สามารถเก็บเกี่ยวอ้อยได้สะดวกขึ้น แต่สิ่งที่ต้องแลกมาจากกระบวนการนี้คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเผาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุฝุ่นควัน ไม่เพียงเท่านั้นการเผาจะส่งผลเสียต่อคุณภาพดินจนอาจกระทบถึงคุณภาพของผลผลิตอ้อยในระยะยาวได้เมื่อเปรียบเทียบกับอ้อยตัดสดที่นอกจากจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า ใบอ้อยที่เหลือหลังตัด ยังสามารถนำมาขาย เพื่อเพิ่มรายได้ และใบอ้อยนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล พลังงานทดแทนที่สร้างได้จากภาคเกษตรไทย อีกทั้งใบอ้อยบางส่วนยังแบ่งไว้ใช้คลุมดินเพื่อเป็นปุ๋ยอินทรีย์และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินตามธรรมชาติได้อีกด้วย
เหตุนี้เอง ในช่วงหลายปีหลังเราจึงได้เห็นการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งของหลายภาคส่วนเพื่อที่จะรณรงค์ให้เกษตรกรหันมา “ตัดอ้อยสด” กันมากขึ้น ไม่เพียงเพื่อลดมลภาวะ แต่ยังจะช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ซึ่งหนึ่งในภาคส่วนที่อาจกล่าวได้ว่าให้ความสำคัญกับการสร้างแรงกระเพื่อมทางบวกเพื่อปลุกพลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำไร่อ้อยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเสมอมาก็คือ “กลุ่มมิตรผล” ผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลกในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร และผู้ผลิตน้ำตาลอันดับหนึ่งของไทย โดยล่าสุดได้มีการส่งแคมเปญสนุก ๆ ที่เพียงได้ฟังชื่อก็ชวนให้อยากจะท่องตาม นั่นคือแคมเปญ “นะโม ตัดสด” คาถารักษ์โลกที่มุ่งเชิญชวนชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดกันมากขึ้น ผ่านการสื่อสารที่เป็นมิตร สนุกสนาน ชวนให้จดจำ
“นะโม ตัดสด” นับเป็นอีกหนึ่งแคมเปญที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มมิตรผลที่จะส่งต่อแนวคิดเกษตรสมัยใหม่ที่บริษัทเชื่อมั่นเสมอมาให้กว้างขวางไปอีกขั้น โดยแคมเปญนี้เป็นการสื่อสารกับกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เปรียบเหมือนหัวใจในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มมิตรผลเลยก็ว่าได้
กลุ่มมิตรผลตระหนักเป็นอย่างดีว่าสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความเชื่อคือการส่งต่อความรู้ความเข้าใจ และชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับหากหันมาตัดอ้อยสดแทนการส่งขายอ้อยไฟไหม้ เหตุนี้แคมเปญ “นะโม ตัดสด” จึงไม่ได้เป็นเพียงคำโปรยเก๋ ๆ เท่านั้น แต่กลุ่มมิตรผลยังลงไปทำงานเชิงรุก เข้าไปสื่อสารกับเกษตรกรในพื้นที่เพื่อให้พี่น้องผู้ปลูกอ้อยได้มองเห็นถึงสิ่งดี ๆ ที่จะตามมามากมายหากปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บเกี่ยวอ้อย ทั้งประโยชน์ในแง่รายได้ สิ่งแวดล้อม และโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อปรับตัวสู่วิถีการทำเกษตรอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ นอกจากการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ กลุ่มมิตรผลยังเป็นผู้ริเริ่มการรับซื้อใบอ้อยมานานกว่า 7 ปี โดยนับเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึงสามตัว นั่นคือ เกษตรกรได้สร้างรายได้เพิ่มจากการขายใบอ้อย, ได้มีส่วนช่วยลดการเผาในภาคเกษตร และยังได้นำเอาใบอ้อยไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงไฟฟ้าชีวมวล พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งในฤดูกาลหีบอ้อย 2567/2568 กลุ่มมิตรผลตั้งเป้ารับซื้อใบอ้อยกว่า 700,000 ตัน ในราคาตันละ 900 บาท หวังลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ ควบคู่กับการสร้างชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมที่ดี ผ่านการตัดอ้อยสดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องไปกับพันธกิจด้านความยั่งยืนของบริษัทอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากจะเข้าไปทำกิจกรรมกับพี่น้องเกษตรแล้ว กลุ่มมิตรผลยังเดินหน้ากลยุทธ์อย่างครอบคลุมด้วยการสื่อสารที่หลากหลาย เข้าใจง่าย อาทิ การสื่อสารผ่านป้ายประชาสัมพันธ์สีสันสดใสรอบโรงงานและจุดสำคัญ, มีการออกแบบสติ๊กเกอร์และแบนเนอร์ เชิญชวนพี่ ๆ สิงห์รถบรรทุกนำเอาไปติดท้ายรถเพื่อสร้างการจดจำระหว่างการเดินทางในพื้นที่, มีการแจกจ่ายเสื้อสวย ๆ พิมพ์ลาย “นะโม ตัดสด” มอบให้เกษตรกรในเครือข่าย เพื่อสร้างความผูกพันกับการตัดอ้อยสด รวมไปถึงการทำคอนเทนต์นำเสนอทั้งในสื่อหลักและโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้าง
จากการดำเนินงานทั้งหมดนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “นะโม ตัดสด” เป็นหนึ่งในแคมเปญสุดน่าสนใจที่สามารถหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาได้อย่างดี ในฐานะกิจกรรมที่คิดมาอย่างเข้าใจในทุก ๆ ด้าน ทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ตลอดจนโลกทั้งใบที่เราอยู่อาศัย โดยกลุ่มมิตรผลมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “นะโม ตัดสด” จะเป็นคาถาแห่งการเริ่มต้นฤดูกาลหีบอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนับจากวันนี้เป็นต้นไป ขอเพียงพี่น้องชาวไร่อ้อยทุกคนท่องก่อนตัด จำให้ขึ้นใจ เพื่อเรา เพื่อไร่ เพื่อโลก