การพนันออนไลน์ยังคงแพร่หลาย ในสังคมไทยไปสู่ “ทุกกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย” ที่เติบโตจนนำมาสู่การเสพติดการพนันมีแนวโน้มขยายตัวส่งผลกระทบร้ายแรงต่อครอบครัว ชุมชน สังคมเพิ่มมากขึ้น
สำหรับพฤติกรรมเสพติดการพนันลักษณะคล้าย “ติดสารเสพติด” วินิจฉัยได้จากอาการหมกมุ่นการพนันเพื่อเอาชนะ เพิ่มเงินเดิมพันให้สนุกจนรู้สึกว่า “หยุดเล่นไม่ได้” เพราะโรคติดการพนันเกิดจากสมองเปลี่ยนแปลงของโดปามีน สารที่มีบทบาทในอารมณ์ความสุขเรียกว่า “สารรู้สึกดี” ที่ปล่อยออกมาตอบสนองต่อความพึงพอใจ
ทำให้เกิดปัญหาควบคุมตัวเอง “กระสับกระส่ายเวลาไม่ได้เล่น”จนพึ่งการเงินคนอื่น หรือทำผิดกฎหมายเพื่อเอาเงินมาเล่นอย่าง ฐิติกานต์ (สงวนนามสกุล) นักศึกษา ม.เชียงใหม่ ถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านเวทีประชุมวิชาการถกปัญหาพนันกับสังคมไทย 2567 จัดโดยสสส.-ศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน-มูลนิธิรณรงค์หยุดพนันว่า
การติดการพนันเป็นปัญหาใหญ่ “เคยมีเพื่อนติดพนันออนไลน์ 2 คน” โดยคนแรกเป็นเพื่อนสมัยเรียนมัธยมติดพนันบอลค่อนข้างหนัก “เล่นจนหมดตัวแล้วอยากได้เงินคืน” ก็เลยตัดสินใจไปกู้เงินนอกระบบมาเล่นพนันต่อ “เพื่อหวังเอาทุนคืน” แต่ปรากฏว่ายิ่งเล่นยิ่งเสียเช่นเคยทำให้พวกหนี้นอกระบบต้องมาทวงหนี้โหด
ปรากฏว่า “ตัดสินใจไปขายยาเสพติดโดนตำรวจจับ ปัจจุบันต้องโทษติดคุกตลอดชีวิต” แล้วถัดมาเพื่อนคนที่สอง “เป็นเพื่อนเรียนมหาวิทยาลัย” สมัยตอนปี 1 เขามักขาดเรียนบ่อย และขาดส่งงานตลอด เพราะทำงานส่งตัวเองเรียน แต่เพื่อนในห้องหลายคนก็พยายามช่วยประคับประคองมาจนปี 2 เริ่มมีพฤติกรรมยืมเงินคนอื่น
กระทั่งขึ้นปีที่ 3 เริ่มใช้หนี้ไม่ไหวคิดหาเงินจาก “การเล่นบาคาร่ากับพนันบอลออนไลน์” ในช่วงแรกเล่นพนันได้เงินค่อนข้างเยอะมีเงินมาใช้หนี้ “แต่หลังๆเล่นเสียตลอด” ทำให้หมดหนทางหาเงินมาใช้หนี้ “บวกกับมีปัญหาความรัก” ก็พยายามตีตัวออกห่างจากเพื่อน เพราะไม่อยากให้ใครเห็นภาพในมุมมองไม่ดี
...
สุดท้ายเพื่อนคนนี้ก็ตัดสินใจ “ลาจากโลก 13 ต.ค.2567” ทำให้เห็นเรื่องราวของคนใกล้ชิดว่าการพนันเป็นปัญหาใหญ่ “อย่าคิดจะลองเล่น” เพราะอาจเสียอนาคตไปตลอดชีวิต โดยพฤติกรรมเหล่านี้เป็นตัวอย่างของปัญหาการเสพติดการพนันยืนยันจาก รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า
เรื่องนี้ก็มีการศึกษาออกมาเป็น “โมเดลโรคการติดการพนัน” อันเกิดจากความอ่อนแอ ความเปราะบางของบุคคลเป็นปัญหาอย่างเช่นสมองอาจแตกต่างจากคนอื่นทั่วไป ทำให้เบี่ยงเบนหันหาการเล่นพนัน หรือการติดการพนันเกิดจากคุณลักษณะของเกม “สร้างให้เกิดความจูงใจ” เพื่อให้คนอยากเข้าไปเล่นจนติดการพนัน
นอกจากนี้ “บางคนเป็นซึมเศร้า และวิตกกังวล” จึงใช้การพนันเป็นวิธีหนีปัญหาทางอารมณ์ให้ผ่อนคลายแล้วประมาณ 10% คนติดการพนันไม่ได้แสวงหาการรักษา เพราะรู้สึกอับอาย รู้สึกผิด โดยผู้หญิงมีตัวเร่งรีบเสพติดง่ายกว่าผู้ชายจากการทดลองเพื่อพักผ่อนหย่อนใจกลายเป็นการเล่นตามโอกาสนำไปสู่การเล่นเป็นประจำ
ปัญหามีต่อว่า “คนติดการพนันมักมีโรคร่วม” ไม่ว่าจะเป็นโรคทางสุขภาพจิต การติดสารเสพติดรวมถึงด้านสุขภาพกาย ระบบประสาท และด้านนิติจิตเวช ทำให้มีโอกาสเสพติดการพนันเพิ่มมากขึ้นอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แย่ลง ดังนั้นการคัดกรองระบุความผิดปกติ “การพนัน” จึงมีความสำคัญโดยเฉพาะในบริบททางคลินิก
แล้วโรคติดการพนัน “ยังไม่มียาใดได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา” สำหรับการรักษาภาวะเสพติดพฤติกรรมเพียงแต่ “โรคติดพนัน” มีความเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมทางพันธุกรรมร่วมกันระหว่างการติดพนัน และการติดแอลกอฮอล์จาก “การถ่ายภาพสมองผู้ป่วย” ปรากฏพบฟังก์ชันสมองผิดปกติคล้ายกันมาก
ดังนั้น ยาได้รับอนุมัติจาก อย.สำหรับการติดแอลกอฮอล์ใช้กับโรคการติดพนันได้ “แต่ไม่มียารักษาติดพนัน” ทั้งกระตุ้นระบบประสาทด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองส่วนหน้าให้ทำงานมากขึ้น เช่นนี้การทำความเข้าใจปัญหาการพนัน การรักษา การวิจัยเพิ่มเติมจะช่วยแก้ช่องว่างที่มีอยู่พัฒนาเชิงนโยบาย ป้องกัน และการรักษาให้ดีขึ้น
ขณะที่ ไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการพนัน 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 แก้ไขล่าสุดฉบับที่ 8 พ.ศ.2505 แล้วมาปี 2565 กระทรวงมหาดไทยพยายามเสนอแก้กฎหมายเพิ่มเติม แต่ถูกคัดค้านต้านการพิจารณาออกไป
กระทั่งมีการปรับแผนใหม่ส่งไม้ให้ กระทรวงการคลัง นำเสนอกฎหมายการพนันหลบซ่อนไว้ในร่าง พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ “อันเป็นกฎหมายฉบับใหม่” เพราะการแก้ พ.ร.บ.การพนันฯค่อนข้างทำได้ยาก
...
ต่อมา “พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517” แก้ไขล่าสุดฉบับที่ 2 พ.ศ.2562 เพื่อให้มีรูปแบบวิธีเล่นเพิ่มขึ้นอย่าง “หวย N3” ดังนั้น พ.ร.บ.2 ฉบับนี้เป็นกฎหมายครอบคลุมการพนันในไทยเกือบทุกประเภท
หากเจาะจงดู “เนื้อหาใน 2 ฉบับกลับไม่มีแนวทางการป้องกัน” เพียงแต่ว่า พ.ร.บ.สลากกินแบ่งฯ จะมีเงินสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์ปีละประมาณ 149 ล้านบาท แบ่งเป็นสนับสนุนการศึกษา 14 ล้านบาท ด้านสาธารณสุข 85 ล้านบาท ด้านสังคมสงเคราะห์ 45 ล้านบาท ด้านกีฬา 4.7 ล้านบาท ด้านการศึกษา 7.9 แสนบาท
ส่วนเนื้อหาแผนรณรงค์เกี่ยวกับการพนัน “ไม่ชัดเจน” มีเพียงกำหนดผู้เข้าร่วมกิจกรรม 600 คน ตั้งเป้าผลลัพธ์เยาวชนเข้าร่วมมีความรับรู้ 83% ส่งผลให้มีผลกระทบ “การพนัน” ล่าสุดตำรวจเมืองเลยขอศาลหมายจับอดีตพระลูกวัดแห่งหนึ่งหลังนำเงินสร้างตึกอุบัติเหตุโรงพยาบาล และเงินทำบุญไปเล่นการพนันเสียหายกว่า 100 ล้านบาท
หากดูสภาพผลกระทบ “ด้านลบ” เกิดจากรัฐบาลไม่มีนโยบายมาตรการควบคุมปัญหาการพนันชัดเจนเป็นรูปธรรมทั้งแบบถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย ทั้งไม่มีหน่วยงานรัฐมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายรับผิดชอบควบคุมผลกระทบจากการพนัน และกฎหมายเกี่ยวกับการพนันก็ไม่มีมาตรการป้องกัน หรือลดผลกระทบด้านลบชัดเจน
...
สิ่งนี้กลายเป็นความท้าทายต่อ “รัฐบาล” เพื่อเปลี่ยนแปลงให้เป็นความหวัง โอกาสทางเศรษฐกิจ และสังคม แต่กลับนำความท้าทายนั้นเป็นนโยบายผลักดันการพนันอยู่ภายใต้เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ทั้งที่ยังไม่มีแผนรองรับอย่างสิงคโปร์ที่มีกฎหมายการป้องกัน และการแก้ปัญหาจากการพนันค่อนข้างชัดเจน
ฉะนั้นตอนนี้ “สังคมไทยขาดโอกาสเรียนรู้รับมือ” โดยเฉพาะเกมการพนันเป็นเกมของเจ้ามือ “ประชาชนกลับหลงผิดเป็นช่องทางหารายได้” ดังนั้น การรู้เท่าทันการพนันยังจำเป็นสำหรับสังคมไทยอีกมาก.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม